PAVA Architects สถาปนิกที่ถนัดปรับอาคารเก่า เพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ที่คงคุณค่าประวัติศาสตร์
โครงการ เก๊าไม้ เอสเตท 1955 ในจังหวัดเชียงใหม่ที่บูรณะโรงบ่มใบยาสูบอายุกว่า 60 ปี บนพื้นที่เกือบ 40 ไร่ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และธรรมชาติ เป็นหนึ่งในโครงการที่เชื่อมประวัติศาสตร์ของพื้นที่เข้ากับบริบทสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืนและยั่งยืน จนได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ประจำปี 2561 สาขา New Design in Heritage Context จากองค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้กับสิ่งปลูกสร้างที่เกิดขึ้นใหม่ และยังคงรักษาคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม โดยหนึ่งในองค์ประกอบเบื้องหลังความสำเร็จของโครงการ คือสถาปนิกหนุ่มสาว ตริส-พชรพรรณ รัตนานคร และ วา-วารัตน์ ลิ่มวิบูลย์ แห่ง PAVA Architects ซึ่งออกแบบมาสเตอร์แพลนและพิพิธภัณฑ์ของโครงการที่ยังคงดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งคู่กล่าวว่าความท้าทายในการออกแบบคือการคำนึงถึงองค์รวมและความสัมพันธ์ของพื้นที่กับบริบทโดยรอบในหลากหลายมิติ
“จุดเด่นของที่นี่คืออาคารเก่าที่อยู่คู่กับธรรมชาติและประวัติศาสตร์โรงบ่มใบยาสูบ ในการดีไซน์จึงไม่ได้คิดแค่เรื่องรูปฟอร์มทางกายภาพเท่านั้น แต่ต้องดูถึงความสัมพันธ์ของทุกอย่างว่าจะตอบรับกันอย่างไรทั้งธรรมชาติ อาคาร พื้นดิน ความทรงจำของคนในชุมชน เราแตะน้อยมากเพื่อรักษาความดั้งเดิมให้มากที่สุด เพราะการออกแบบที่ดีไม่ต้องสร้างใหม่ก็ได้ ไม่ต้องใหญ่โตถึงจะดี แต่คือการสร้างสรรค์เพื่อให้ที่นั้นๆ กลับมามีความสำคัญอีกครั้งในบทบาทใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการร่วมสมัย” ตริสกับวา กล่าวถึงคอนเซปต์หลักในการออกแบบ
เก๊าไม้ เอสเตท 1955 เป็นโครงการแรกจากประเทศไทยที่ได้รับรางวัลจากยูเนสโกในสาขา New Design in Heritage Context ทั้งยังเป็นตัวอย่างของการบูรณะและอนุรักษ์พื้นที่และอาคารเก่าเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้สอยและไม่ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมนั้นด้อยค่าลงไป ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด Adaptive Reuse ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันกับการรีโนเวทอาคารเก่าเพื่อตอบโจทย์การใช้งานใหม่ เช่น เปลี่ยนเป็นแกลลอรีร่วมสมัย โรงแรม คาเฟ่ ออฟฟิศ หรือครีเอทีฟ สเปซ
“ในการออกแบบ Adaptive Reuse บางครั้งเราก็ต้องเพิ่มสิ่งใหม่เข้ามาเพื่อรองรับกับกิจกรรมใหม่ๆ โจทย์ที่ท้าทายคือ การหาความพอดีในการดีไซน์ที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป และควรศึกษาสิ่งนั้นให้ชัดเจนว่าเราควรเก็บอะไรบ้าง ของเก่ามีเมมโมรีกับเจ้าของ หรืออย่างโครงการเก๊าไม้นี่เป็นเมมโมรีของคนในชุมชนเลย เราต้องคิดและประเมินกันอย่างจริงจังว่าอะไรที่จำเป็นต้องเก็บ การเรียนรู้อดีตที่ดีที่สุดคือการส่งต่อประจักษ์พยานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นต่อไปเพราะรูปถ่ายหรือการบอกเล่าไม่เหมือนกับการได้เห็นเอง เราจึงไม่ Over Design” ตริสกล่าวถึงหัวใจหลักของการออกแบบ
สถาปัตย์คือการเชื่อมโยงองค์รวมไม่ใช่การหั่นชิ้นส่วน
วาและตริสเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนระดับปริญญาตรีในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตริสเรียนสาขาสถาปัตยกรรมภายใน ส่วนวาเรียนสาขาสถาปัตยกรรมหลัก ทั้งคู่เชื่อว่าการทำงานด้านสถาปัตยกรรมคือการเชื่อมโยงงานทุกส่วนไปพร้อมกันมากกว่าการใช้ฟอร์มเป็นตัวนำ
“เรารู้สึกว่าการดีไซน์แบบใช้สถาปัตย์เป็นตัวนำเพื่อให้ได้พื้นที่เยอะที่สุดและให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ในขณะที่มีพื้นที่ Landscape น้อยเป็นเรื่องน่าเสียดาย เราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้” วากล่าวถึงประสบการณ์จากการทำงาน
ตริสเสริมว่า “การทำงาน Interior ในหลายๆ ครั้งมักเป็นปลายทางของการดีไซน์มากๆ เจอปัญหาว่าพอมาถึงเราก็งบแทบไม่มีแล้ว การดีไซน์ถูกแบ่งและถูกหั่นเป็นช่วงๆ เราคิดว่าน่าจะมีวิธีคิดและการทำงานที่ทุกสเกลเดินไปพร้อมๆกัน เราทั้งคู่จึงตัดสินใจไปเรียนต่อเพื่อให้รู้อะไรกว้างขึ้นและในสเกลที่ใหญ่ขึ้น”
วาศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขา Landscape Architecture ที่ Graduate School of Design, Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนตริสศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้าน Urban Design ที่ ETH Zurich ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากสำเร็จการศึกษาทั้งคู่จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัท PAVA Architects ในปีพ.ศ.2561 และโครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 ตรงกับความสนใจของคนทั้งคู่และเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับบริษัทเล็กๆของสถาปนิกรุ่นใหม่
“โครงการเก๊าไม้มีต้นไม้ใหญ่ที่สมบูรณ์มาก เจ้าของ (ธวัช เชิดสถิรกุล) แทบไม่เคยตัดต้นไม้ในพื้นที่ออกเลยและยังปลูกใหม่เพิ่มขึ้นด้วย จนมาถึงยุคที่การท่องเที่ยวบูมได้มีการปรับโรงบ่มใบยาสูบบางหลังให้เป็นรีสอร์ต (โดดเด่นด้วยไม้เลื้อยสีเขียวปกคลุมตัวอาคาร) และเมื่อทายาทรุ่นที่ 2 (จักร์ เชิดสถิรกุล) ริเริ่มโครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 เพื่อเพิ่มเติมให้มีมิวเซียม คาเฟ่ และพื้นที่กิจกรรมต่างๆ เราจึงได้มีโอกาสเข้าไปทำตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วโดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ ทั้งนักพฤกษศาสตร์ ทีมรุกขกร นักอนุรักษ์ ทีมวิศวกร ทีมภูมิสถาปัตย์ (จากบริษัท Shma) เราถือว่าทั้งไซต์เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ เสมือนเป็น Open-air Museum” ตริสอธิบายถึงโครงการที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ปรับเปลี่ยนการใช้สอยแต่คงไว้ซึ่งSense of Place
โครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพันธุ์ธรรมชาติเพราะเต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่มากกว่า 100 สายพันธุ์และนกอีกจำนวนมาก ต้นไม้แต่ละต้นได้รับการดูแลจากรุกขกร และมีป้ายชื่อระบุสายพันธุ์รวมทั้งแหล่งที่มา ส่วนตัวอาคารหลายหลังบอกเล่าประวัติศาสตร์ของธุรกิจยาสูบจากการก่อตั้งโรงบ่มใบยาสูบใน พ.ศ. 2498
“ทั้งเราและทางเจ้าของไปเรียนรู้เรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่ แม้จะดูเหมือนอาคารกับต้นไม้เบียดกันมากแต่จากการสำรวจเราพบว่ารากของต้นไม้ส่วนใหญ่ไม่ได้เบียดตัวอาคาร แต่กลับช่วยป้องกันอาคารจากลม อาคารหลังที่โทรมคืออาคารที่มีต้นไม้น้อย ต้นไม้ได้รับการดูแลและตรวจสุขภาพจากรุกขกร เราพยายามรักษาความเป็น Sense of Place ของที่นี่ที่อาคาร ต้นไม้ และบริบทโดยรอบอยู่ร่วมกัน” ทั้งคู่กล่าว
อาคารโรงบ่ม 2 หลังได้รับการบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์ อาคารหลังที่สมบูรณ์นั้นทางสถาปนิกคงความดั้งเดิมไว้มากที่สุดเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์การบ่มใบยาสูบผ่านองค์ประกอบของอาคาร เช่น ไม้ที่ใช้ตากใบยาสูบ ท่อส่งความร้อน บ่อน้ำด้านข้าง พร้อมป้ายอธิบายกระบวนการผลิตที่สั้น กระชับเข้าใจง่าย ส่วนอีกหลังที่สมบูรณ์น้อยกว่าได้เสริมโครงสร้างเหล็กเพื่อความแข็งแรงและใช้เป็นอาคารที่อธิบายความเป็นมาของโครงการ
“เราเก็บผนังอาคารที่มีการเจาะรูเพื่อสอดไม้ราวยาสำหรับตากใบยาสูบไว้ แสงที่ส่องผ่านรูบนผนังและให้ความสลัวในตัวอาคารเป็นความงามของสถานที่ เราชอบเอกลัษณ์ของ Volume แบบนี้ เราจึงแตะน้อยมากเพื่อรักษาความดั้งเดิมให้มากที่สุดจนบางคนมองว่ามีดีไซเนอร์ด้วยหรือ เราจะไม่เอาตัวตนเข้าไปจน Overshadow” ตริสกับวาอธิบาย
อาคารโรงบ่มแต่ละหลังมีขนาดเท่ากันคือ 6×6 เมตร ทรงหลังคาจั่วและแต่ละหลังตั้งห่างกัน 6 เมตร วัสดุก่อสร้างแสดงไทม์ไลน์ของแต่ละยุคตั้งแต่ยุคแรกที่ใช้โครงสร้างไม้ไผ่สานฉาบด้วยปูนหมัก จนมีการปรับเปลี่ยนเป็นอาคารอิฐมอญและอิฐบล็อกตามลำดับ
“ผมคิดว่านี่เป็นดีไซน์ที่เจ๋งมาก มันซื่อตรง ทรงพลังและสะท้อนมิติต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โครงสร้างและวัสดุ ตอบสนองความต้องการของตลาด เพราะทำได้ไม่ยากจนเกินไป” วากล่าวและเสริมว่าทางโครงการมีแพลนปรับปรุงรีสอร์ตและปรับอาคารโรงบ่มให้เป็นร้านชา ซึ่งน่าจะเปิดให้บริการในปลายปี 2564
ทำเท่าที่จำเป็นและเชื่อมต่อร่องรอยของอดีต
อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่คือการปรับโฉมอาคารเก่าอายุกว่า 40 ปีของโรงพยาบาลธนบุรีให้มีความร่วมสมัยและตอบโจทย์วิถีชีวิตคนยุคใหม่มากขึ้น
“ในขณะที่การรักษาและเทคโนโลยีทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแต่โครงสร้างอาคารยังคงเดิม เราต้องปรับปรุงเพื่อให้อาคารสอดรับกับเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ เมื่อเราเข้าไปศึกษาจริงๆ เราเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการใช้งานให้ดีขึ้นจริงๆ เริ่มจากการวางแผนในภาพรวมและจัดการการสัญจร แค่ปรับปรุงบริเวณทางเข้าก็สร้างอิมแพคแล้ว และเน้นไปที่การจัดการพื้นที่ภายใน โดยจัดการพื้นที่บริการให้มีความยืดหยุ่นที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคต เพิ่มพื้นที่ผ่อนคลายต่างๆ และพื้นที่สีเขียว คนต้องการพื้นที่ที่เป็นมนุษย์มากขึ้น มีพื้นที่ให้ผ่อนคลาย มีที่นั่งให้นั่งสบายและทำงานได้ระหว่างรอ” ทั้งคู่กล่าวถึงอีกหนึ่งโปรเจกต์ใหม่ที่ท้าทาย
ในส่วนของออฟฟิศของบริษัท PAVA Architects เองนั้นมาจากการรีโนเวทอาคารอพาร์ทเมนต์เก่าของครอบครัว ทั้งคู่ปรับปรุงพื้นที่บริเวณชั้นบนของอาคารให้เป็นบริษัทสถาปนิก โดยรื้อฝ้าออกและทุบผนังที่เคยกั้นเป็นห้องๆ ให้เป็นพื้นที่ทำงานแบบเปิดโล่ง แต่ยังคงเหลือร่องรอยของการรื้อถอนผนังบางส่วนเพื่อเชื่อมต่อกับความทรงจำในอดีต พื้นไม้ปาร์เก้ของเดิมยังคงไว้แต่ปรับปรุงระบบน้ำและไฟใหม่หมด งานระบบต่างๆ ถูกจัดเข้าระบบรางเพื่อปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน โต๊ะและตู้ทำจากไม้อัดที่หาได้ง่ายให้เป็นเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวและน้ำหนักเบาโดยเปลือยให้เห็นเนื้อวัสดุที่แท้จริง
“ทำเท่าที่จำเป็น บางครั้งแค่เอาออกก็คือการดีไซน์แล้ว คือเป็น Design by Removing ในการทำงานเราต้องถามว่าเราทำเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร ประโยชน์อะไร และดีไซน์ไหนจะตอบโจทย์ที่สุด” ทั้งคู่ให้ความเห็น
คุณค่าและการออกแบบแนว Adaptive Reuse
ความนิยมในปัจจุบันกับการปรับอาคารเก่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยใหม่ หรือ Adaptive Reuse นั้น ตริสให้ความเห็นว่าส่วนหนึ่งเนื่องจากอาคารต่างๆที่ก่อสร้างมาหลายสิบปีถึงเวลาที่ต้องซ่อมแซมหรือรีโนเวทและคนเริ่มเห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไปทำให้โอกาสเกิดงานดีไชน์แบบ Adaptive Reuse มีมากขึ้น
“ในการทำงานแบบนี้เราต้องศึกษาและวิเคราะห์ว่าสิ่งไหนมีประโยชน์เราก็อาจจะอนุรักษ์ไว้ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์เพื่อเพิ่ม Value ให้กับโครงการ หรืออนุรักษ์เพื่อการศึกษา เล่าเรื่องและต่อยอด แต่เราไม่อยากให้ยึดติดกับคำว่า Adaptive Reuse ปล่อยให้มันไหลไปตามธรรมชาติของการดีไซน์”
วาเสริมว่าการดีไซน์แบบ Adaptive Reuse นั้น อีกสิ่งที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของเวลาและเกณฑ์ในการวัดคุณค่า
“เวลามีผลต่อการทำงานว่าสิ่งนี้จะมีประโยชน์ในวันนี้ ในปีหน้าหรืออีก 10 ปีข้างหน้า ต้องคุยกันให้ชัดเจนถึงเกณฑ์ของ Value ว่าคืออะไร เรื่องความคุ้มค่าของธุรกิจ หรือเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอื่นๆ เช่นโครงการเก๊าไม้ถือเป็นโอเอซิสที่มี Value ทางวัฒนธรรมที่สูงมาก”
สำหรับวิถีชีวิตแบบ New Normal นั้นทั้งคู่มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการออกแบบสเปซของพวกเขา
“วิถีชีวิตคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ใช่เพิ่งมาเปลี่ยนในช่วงโควิด หน้าที่เราคือหาวิธีรับและตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เพราะเราเชื่อว่า สิ่งก่อสร้างวันที่สวยที่สุดไม่ใช่วันที่สร้างเสร็จแต่คือการปรับตัวไปเรื่อยๆมากกว่า”
ส่วนคำถามว่ามีโปรเจกต์อะไรที่พวกเขาอยากลองทำ ทั้งคู่กล่าวว่า “เราอยากทำโปรเจกต์ที่มีความซับซ้อนในหลายบริบท และอยากมีเวลาให้เราทำความเข้าใจความซับซ้อนนั้นในหลายๆมิติเพื่อให้เกิดดีไซน์ที่ตอบโจทย์มากที่สุด”
ภาพ: ภาพโครงการเก๊าไม้ เอสเตท 1955 โดย Pacharapan Ratananakorn และภาพออฟฟิศของบริษัท PAVA Architects โดย Varp Studio
Fact File
- ติดตามผลงานของ PAVA Architects ได้ที่ www.pavaarchitects.com
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ