ข้อปฏิบัติ Home Isolation ติดโควิด รอเตียง แยกรักษาตัวอยู่บ้านต้องรู้
- สำหรับประเทศไทย การแยกกักตัว หรือ Home Isolation เพิ่งนำร่องทดลองโมเดล โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือ ไม่มีอาการ และอายุน้อยกว่า 60 ปี รวมทั้งผู้ป่วยที่รักษาแล้วและอยู่ระหว่างรอครบกำหนด 14 วัน หรือหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้ก่อนกำหนด
- คู่มือการกักตัวอยู่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 รวมวิธีการแยกตัวออกห่างจากคนอื่นเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19
ปลายเดือนมิถุนายนเรื่อยมาถึงต้นกรกฎาคม 2564 หลายโรงพยาบาลเริ่มออกมายอมรับว่าเข้าสู่วิกฤติเตียงเต็ม และ ICU ไม่พอ อีกทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ เองก็มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องนอนรอเตียงอยู่บ้านนานนับสัปดาห์โดยที่ยังไม่ได้รับการตรวจ และคัดแยกประเภทของผู้ป่วยเพื่อรับเข้าระบบการรักษาในโรงพยาบาล ปัญหาที่ตามมาคือ ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้อยู่บ้านเพียงลำพัง แต่อยู่รวมกับสมาชิกในบ้าน อยู่คอนโด หอพัก หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่อยู่ตัวคนเดียวก็อาจจะไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างรอเตียง หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสามารถ แยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation ได้เลยไหม ซึ่งความไม่แน่ใจว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรระหว่างรอเตียงที่บ้านอาจจะทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดสู่สมาชิกในครอบครัวและคนในชุมชนได้
Sarakadee Lite จึงขอส่งต่อกฎการปฏิบัติตัวพร้อมเปลี่ยนบ้านให้เป็น Home Isolation หรือ แยกกักตัวที่บ้าน ที่ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อสู่สมาชิกในบ้าน คนในคอนโด รวมทั้งผู้ที่อยู่ร่วมชุมชนเดียวกัน
ใครบ้างที่ต้องกักตัวแบบ Home Isolation
- ผู้ป่วยรอเตียง รอแอดมิดเข้าโรงพยาบาล และแพทย์ลงความเห็นว่าสามารถดูแลรักษาตัวที่บ้านได้
- ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้นแล้วและหมอให้กลับบ้านได้ ซึ่งในกลุ่มนี้อาจจะยังมีเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นอยู่ เป็นผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้แล้วอย่างน้อย 10 วัน และถูกส่งกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธี Home Isolation
ทั้งนี้ตามประกาศของกรมการแพทย์ซึ่งได้ออกมาให้คำแนะนำผู้ป่วย และให้คำแนะนำการจัดบริการผู้ป่วยโควิด – 19 แบบ Home Isolation ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ระบุว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าเกณฑ์ Home Isolation มีดังนี้
- ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือ ไม่มีอาการ (Asymptomatic cases , Mild symtomatic)
- มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- ไม่มีภาวะอ้วน
- ไม่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD stage 3, 4) โรคหัวใจและ หลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
- อยู่คนเดียว หรือ ที่พักอาศัยสามารถมีห้องแยกเพื่ออยู่คนเดียวได้
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
Home Isolation ต้องใช้เวลากี่วัน
ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จำเป็นต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นขณะอยู่ที่บ้านเป็นเวลาอย่างน้อย 14 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มป่วย แต่หากครบ 14 วัน แล้วยังมีอาการควรแยกตัวจนกว่าอาการจะหาย โดยควรแยกตัวไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้ป่วย แยกกักตัวที่บ้าน ได้เข้าสู่ระบบการ Home Isolation ตามระเบียบของกรมการแพทย์ซึ่งมีแพทย์ติดตามอาการก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการกำหนดวันแยกกักตัวอีกครั้ง
กฎเหล็กต้องปฏิบัติระหว่าง Home Isolation
1. ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต้องอยู่ในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ออกจากที่พักอย่างเด็ดขาด และห้ามบุคคลอื่นเยี่ยม
2. ถ้าต้องอยู่ในบ้านที่มีสมาชิกคนอื่นๆ อยู่ด้วย ผู้ป่วยควรแยกตัวอยู่ในห้องส่วนตัว เน้นจัดพื้นที่ให้อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่นในที่พักอาศัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ
3. ไม่ใช้พื้นที่ส่วนรวม เช่น ครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ร่วมกับผู้อื่นในบ้าน
4. หากไม่สามารถแยกการใช้พื้นที่ส่วนรวมได้ ควรรักษาระยะห่างจากคนอื่นในครอบครัวอย่างน้อย 1 เมตร หรือประมาณหนึ่งช่วงแขน หากไอจามไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่น หรือควรอยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร และให้หันหน้าไปยังทิศทางตรงข้ามกับตำแหน่งที่มีผู้อื่นอยู่ด้วย
5. ข้อที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ที่บ้าน ยิ่งหากยังมีอาการไอจามก็ยิ่งต้องสวมหน้ากากอนามัยแม้ขณะที่อยู่ในห้องส่วนตัวก็ตาม โดยแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง ไม่ให้ใช้หน้ากากผ้าที่ซักและนำกลับมาใช้ซ้ำ ที่สำคัญหากไอจามขณะที่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเอามือปิดปากและห้ามถอดหน้ากากอนามัยออกอย่างเด็ดขาด เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน และยิ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ แต่หากฉุกเฉินเกิดการไอจามขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้ต้นแขนด้านในปิดปาก และจมูก
6. ถ้าไม่มีห้องนอนส่วนตัว หรือห้องแยกสำหรับกักตัวเพียงลำพังได้ ควรมองหาห้องที่มีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นได้ และต้องเปิดประตู หน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี หรือพูดง่ายๆ คือไม่ควรอยู่รวมกันในห้องแอร์
7. ทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่เป็นประจำ หากมือเปรอะเปื้อนแนะนำว่าให้ล้างด้วยสบู่และน้ำจะลดการแพร่เชื้อได้ดีกว่า โดยเฉพาะภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ และที่ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติคือ ก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น อย่าลืมทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนสัมผัส
8. ต้องมีผู้จัดหาอาหารและของใช้จำเป็นให้ตลอดการกักตัว ห้ามผู้ป่วยออกไปจัดหาอาหารหรือของใช้จำเป็นนอกบ้านด้วยตนเอง ส่วนในกรณีที่อยู่คอนโด หอพัก หมู่บ้าน ให้ประสานกับทางส่วนกลางเพื่อช่วยเหลือในการจัดหาอาหารหรือของใช้ส่วนตัว และสำหรับผู้ที่อยู่ในระบบ Home Isolation ของกรมการแพทย์ซึ่งนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถี ปัจจุบันมีบริการส่งอาหารและน้ำถึงที่บ้าน 3 มื้อ
9. กรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 เป็นคุณแม่ที่ยังต้องให้นมบุตร สามารถให้นมบุตรได้ตามปกติ เนื่องจากยังไม่มีรายงานพบเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผ่านน้ำนม แต่ผู้เป็นแม่ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่อย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสตัว หรือให้นมบุตร
10. ในกรณีที่ไม่สามารถแยกใช้ห้องน้ำจากผู้อื่นได้ ต้องปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำเพื่อกันเชื้อกระเซ็น ถ้าเลือกได้ให้เลือกอาบน้ำเป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดห้องน้ำทันที สำหรับห้องน้ำบางแห่งที่ใช้การตักน้ำอาบจากถังรวม ควรแยกถังน้ำขนาดเล็กสำหรับใส่น้ำอาบสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ ย้ำว่าต้องไม่ใช้ขันน้ำร่วมกัน ที่สำคัญห้ามใช้ขันน้ำสำหรับตักน้ำบ้วนปากลงไปตักน้ำในถังรวมอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เชื้อโรคกระจายสู่ถังน้ำที่ทุกคนในบ้านใช้ร่วมกัน และควรแยกอุปกรณ์อาบน้ำของผู้ติดเชื้อต่างหาก
11. ในส่วนของห้องน้ำ ถ้าใช้รวมกันต้องทำความสะอาดทุกวัน โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ หรือใช่น้ำผสมน้ำยาฟอกผ้าขาว โดยใช้น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน
12. แยกสิ่งของส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะจาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ซึ่งนั่นแปลว่าผู้ป่วยควรมีชุดทำความสะอาดล้างจานชามแยกของตัวเองและจัดการด้วยตัวเอง หรือถ้าไม่สะดวกก็เลือกใช้ภาชนะแบบครั้งเดียวทิ้ง
13. ผู้ป่วยต้องไม่กินอาหารร่วมโต๊ะ หรือสำรับเดียวกับผู้อื่น ควรให้ผู้อื่นจัดหาอาหารมาให้ แล้วแยกกินคนเดียวในห้อง หรือพื้นที่ที่แยกจากคนอื่นในบ้านซึ่งถ้าทำได้ควรห่างจากผู้อื่นประมาณ 2 เมตร ส่วนถ้าเป็นอาหารที่สั่งมา และผู้ป่วยต้องเป็นผู้ไปรับอาหารเอง ควรจัดหาโต๊ะไว้หน้าห้อง หรือหน้าบ้าน ให้ผู้ส่งอาหารวางอาหารไว้ ณ จุดรับ โดยไม่สัมผัสตัว อยู่ห่างๆ หลีกเลี่ยงการเจอกัน และไม่รับอาหารโดยตรงจากผู้ส่งอาหาร
14. สำหรับการซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัวของผู้ป่วยยังสามารถซักด้วยสบู่ หรือผงซักฟอกได้ตามปกติ หรือหากใช้เครื่องซักผ้า ก็สามารถใช้ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มได้ตามปกติ แต่ต้องแยกซักเฉพาะของผู้ป่วยเท่านั้น ห้ามซักรวมพร้อมกับคนอื่นในบ้าน
15. เมื่อจัดการสภาวะแวดล้อมที่เอื้อสำหรับการแยกกักตัวที่บ้านแบบ Home Isolation ได้แล้ว ข้อที่จะขาดไม่ได้คือ การจัดการขยะติดเชื้อ ทั้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วและขยะที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งทุกชนิด วิธีการคือแยกขยะเหล่านี้ทิ้งใส่ถุงพลาสติก และปิดปากถุงให้สนิทก่อน (ถ้าเขียนที่ถุงได้ว่าขยะติดเชื้อจะดีมาก) จากนั้นทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และทำความสะอาดมือ ด้วยแอลกอฮอล์ หรือสบู่ทันที ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่แยกกักตัวอยู่ในคอนโด หอพัก ซึ่งจะต้องออกจากห้องนำขยะเหล่านี้ไปทิ้งที่ห้องขยะส่วนกลาง อาจจะต้องคุยประสานกับทางส่วนกลางเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เช่น เวลาในการออกมาทิ้งขยะเพื่อไม่ให้ใกล้ชิด เดินสวนกับผู้อยู่อาศัยคนอื่นๆ หรือบางแห่งอาจจะส่งเจ้าหน้าที่มารับถุงขยะที่หน้าประตูห้องเองตามเวลาที่กำหนด
อย่าลืมเช็คอาการตัวเองระหว่าง แยกกักตัวที่บ้าน
- ผู้ป่วยที่รักษาตัวแบบแยกกักตัวที่บ้านให้สังเกตอาการตนเอง ทั้งวัดอุณหภูมิ (ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) และวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว oxygen saturation (ไม่ควรต่ำกว่า 96%) รวมทั้งขอคำแนะนำเรื่องการสังเกตอาการเพิ่มเติมจากแพทย์ ซึ่งตอนนี้ 7 มิถุนายน 2564 ในบางโรงพยาบาลที่เข้าร่วมนำร่องการรักษาคนไข้โควิด-19 แบบแยกกักตัวที่บ้าน มีการส่งปรอทวัดไข้และอุปกรณ์วัดค่าออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้วให้กับผู้ป่วย รวมทั้งมีระบบการติดตามอาการตลอด 24 ชั่วโมง
- หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูง ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่รักษาตัวอยู่ทันที
- ในกรณีฉุกเฉินหากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว หรือเรียกรถโรงพยาบาลมารับ ไม่ใช้รถสาธารณะ ให้ทุกคนในรถใส่หน้ากากอนามัย (ไม่ใช้หน้ากากผ้า) ตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ
- นอกจากสภาพร่างกายแล้ว หากรู้สึกว่ากำลังวิตกกังวล เครียด นอนไม่หลับ ในขณะการแยกกักตัวอย่างลำพัง ตอนนี้ทาง เอไอเอส ร่วมกับ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ทีมอาจารย์พยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสายด่วน Are U OK ? สายด่วนรามาธิบดีปรึกษาสุขภาพจิต ปรึกษาทุกปัญหาความวิตกกังวล เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. โทร. 02-078-9088 ซึ่งสภาพจิตใจ ความวิตกกังวล มีผลโดยตรงต่อภูมิคุ้มกันของร่างกายเช่นกัน
อ้างอิง
- คู่มือเอาตัวรอดจาก COVID-19 เขียนโดย นายแพทย์จางเหวินหง แปลโดย รำพรรณ รักศรีอักษร สำนักพิมพ์ AMARIN Health
- คำแนะนำผู้ป่วย และให้คำแนะนำการจัดบริการผู้ป่วยโควิด – 19 แบบ Home Isolation โดยกรมการแพทย์ (ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)
Fact File
- ในต่างประเทศได้มีการนำวิธีการแยกกักตัวที่บ้าน มาใช้เพื่อแก้ปัญหาเตียงขาดแคลนให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวเองที่บ้านมาตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา แต่สำหรับประเทศไทยแม้ปัจจุบันยังไม่ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศใช้วิธีการแยกกักตัวที่บ้าน แต่ก็เริ่มมีการทดลองใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย (ไอ จาม มีไข้)
- ล่าสุด ทางกรมการแพทย์ได้ออกมาให้คำแนะนำผู้ป่วย และให้คำแนะนำการจัดบริการผู้ป่วยโควิด – 19 แบบHome Isolation (ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) สำหรับผู้ป่วย 2 ประเภท ในเขตกรุงเทพฯ คือ ผู้ป่วยอยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอครบกำหนด 14 วัน หรือหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้ก่อนกำหนด
- สำหรับการพิจารณาผู้ป่วยเข้าเกณฑ์Home Isolation ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนนี้ เป็นการส่งต่อมาจากสายด่วน 1668