รู้จัก “โกฐจุฬาลัมพา” พืชสมุนไพรมากสรรพคุณ
เพจ BIOTHAI ได้มีการโพสต์เกี่ยวกับโกศจุฬาลัมพา ซึ่งคณะวิจัยในสหรัฐอเมริกา Columbia University และ University of Washington ตีพิมพ์ผลการวิจัยในห้องปฏิบัติการเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยพบว่าสารสกัดโดยน้ำร้อนของสมุนไพรนี้มีฤทธิ์ยับยั้งโควิดได้ สอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ของนักวิจัยในจีน และการส่งเสริมโดยประธานาธิบดีแห่งมาดากัสการ์ ดังนั้นมาทำความรู้จักกับสมุนไพรชนิดนี้กันให้มากขึ้น
สำหรับโกศจุฬาลัมพานั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua L. นอกจากนี้ยังมีชื่อจีนว่า ชิงฮาว, แชเฮา และ Sweet Wormwood Herb ลักษณะทางพฤษศาสตร์เป็นไม้ล้มสุกอายุปีเดียว สูง 0.7-1.6 เมตร แตกกิ่งมากๆ ทั้งต้นมีกลิ่นแรง มีขนประปราย หลุดร่วงง่าย ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียน มีต่อมโปร่งแสง ใบบริเวณโคนต้นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่กว้าง 2-6 เซนติเมตร ยาว 3-7 เซนติเมตร ขอบใบหยักลึกแบบขนนก 3 หรือ 4 ชั้น เป็น 5-8 คู่ แฉกใบจักฟันเลื่อยลึกรูปสามเหลี่ยม เส้นกลางใบเด่นชัดทางด้านบนแกนกลางใบมีปีกแคบ อาจจักฟันเลื่อยเล็กน้อยหรือเรียบ ใบบริเวณกลางต้นหยักลึกแบบขนนก 2 หรือ 3 ชั้น ใบใกล้ยอดรวมทั้งใบประดับหยักลึกแบบขนนก 1 หรือ 2 ชั้น ก้านใบสั้นมาก
ช่อดอก แบบช่อแยกแขนง รูปพีระมิดกว้าง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น รูปกลม มีจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2.5 มิลลิเมตร สีเหลืองถึงสีเหลืองเข้ม ก้านช่อย่อยสั้น วงนอกเป็นดอกเพศเมียมี 10-18 ดอก โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายจักซี่ฟัน 5 ซี่ เกสรเพศผู้มี 5 อัน อับเรณูเชื่อมติดกัน แต่ละอันมีรยางค์ (ส่วนที่ยื่นออกมาจากส่วนหลักของอวัยวะสิ่งมีชีวิต) ด้านบน 1 อันรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม และมีรยางค์ปลายมนที่โคน 2 อัน
ผล แบบผลแห้งเมล็ดล่อนรูปไข่แกมรี ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร
สำหรับส่วนที่ใช้ทำยาคือ ลำต้นแห้ง
สรรพคุณของแต่ละส่วนที่ใช้ทำยา ตำราสรรพุณยาไทยว่าโกฐจุฬาลัมพามีสรรพคุณแก้ไข้เจลียง (ไข้จับวันเว้นวัน-เป็นไข้จับสั่นประเภทหนึ่ง) แก้ไข้ ลดเสมหะ แก้หืด แก้ไอ ใช้เป็นยาขับเหงื่อโกฐจุฬาลัมพาจัดเป็นโกฐชนิดหนึ่งในพิกัดโกฐทั้ง 5 (เบญจโกฐ) โกฐทั้ง 7 (สัตตโกฐ) และโกฐทั้ง 9(เนาวโกฐ) ตำรายาของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีมอโนกราฟโกฐจุฬาลัมพา โดยระบุข้อบ่งใช้ว่าใช้แก้ไข้อันเกิดจากความร้อนในฤดูร้อน แก้ไข้ต่ำ ๆ ที่ไม่มีเหงื่อ แก้ไข้อันเนื่องจากวัณโรค และแก้ไข้จับสั่น
รายงานการวิจัยในปัจจุบัน
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่าสารชิงฮาวซู (อาร์เทแอนนูอินหรืออาร์เทมิซินิน) แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิดฟัลซิพารุม (Plasmodium falciparum) และชนิดไวแวกซ์ (Plasmodium vivax) โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ดื้อยา ปัจจุบันสารชนิดนี้กับอนุพันธุ์กึ่งเคมีสังเคราะห์ของสารชนิดนี้ถูกนำมาใช้เป็นยาแก้ไข้จับสั่นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
สารสำคัญ
โกฐจุฬาลัมพามีสารอนุพันธ์เซสควิเทอร์พีนแลกโทน (sesquiterpene lactones) หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ ชิงฮาวซู (qinghaosu) หรือ อาร์เทแอนนูอิน (arteannuin) หรืออาร์เทมิซินิน (artemisinin) และพบสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) อีกหลายชนิด เช่น คาสทิซิน (casticin) เซอร์ซิลินีออล (cirsilineol) คริโซพลีนอลดี (chrysoplenol-D) คริโซพลีเนทิน (chrysoplenetin)
แหล่งกำเนิด และการกระจายพันธุ์
พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ภาคเหนือของทวีปแอฟริกา และในทวีปเอเชียในจีนมักพบขึ้นทั่วไปตามเนินเขา ข้างทาง ที่รกร้าง หรือตามชายป่า ที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 200-3,650 เมตร มีผู้นำมาทดลองปลูกในประเทศไทยและพบว่าขึ้นได้ดี ออกดอกและเป็นผลได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน โกฐจุฬาลัมพาที่มีขายในท้องตลาดได้จากพืชปลูกในมณฑลเหอเป่ย์ ชานตง เจียงซู หูเป่ย์ และฝูเจี้ยน ของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
พื้นที่เหมาะสมในการปลูกในประเทศไทย
- ลักษณะพื้นที่ พื้นที่ดอน
- ภาค ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
- จังหวัด ทั่วทุกจังหวัดของประเทศไทย
การคัดเลือกพันธุ์ (พันธ์ุที่นิยมปลูกในประเทศไทย)
- พันธุ์ที่ใช้เป็นยา พันธุ์พื้นบ้านทั่วไป (ใบฝอย)
- พันธุ์ที่ใช้เป็นอาหาร พันธุ์พื้นบ้านทั่วไป (ใบฝอย)
การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ โกฐจุฬาลัมพาจะปักชำโดยการตัดต้นยาว 8 – 10 นิ้ว แล้วปักในถุงเพาะชำที่ผสมดินกับขี้เถ้าแกลบ เอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอประมาณ 10 – 20 วัน จะงอกรากเป็นต้นใหม่ต่อไป
การปลูก/สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูก
- ฤดูกาลเพาะปลูก ปลูกได้ทุกฤดู นิยมปลูกฤดูหนาว และต้องรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- การเตรียมดิน จะต้องขุดเป็นแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ความยาวแล้วแต่ละพื้นที่ เว้นทางเดิน 50 เซนติเมตรเป็นร่องระบายน้ำผสมคลุกเคล้าด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก
- วิธีการปลูก เมื่อเตรียมแปลงปลูกแล้ว นำต้นกล้าอายุ 3 – 4 เดือน ลงปลูกห่างกันประมาณ 30 เซนติเมตร
ระหว่างต้น 30 เซนติเมตร กลบดินแล้วนำไปผูกเชือก รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
การปฏิบัติดูแลรักษา
- การให้ปุ๋ย เมื่อปลูกได้ 30 วัน ก็ควรพรวนดินและใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อ 1 ต้น พร้อมกำจัดวัชพืช ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์สลับกันไป เดือนละ 1 – 2 ครั้ง
- การให้น้ำ ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ แต่ถ้ามีฝนก็ควรงดบ้าง
- การกำจัดวัชพืช ควรทำพร้อมกับการพรวนดินและใส่ปุ๋ย
-การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู โกฐจุฬาลัมพาไม่ค่อยมีแมลงศัตรูเท่าไหร่ ควรฉีดพ่นด้วยสารสะเดา หรือสารชีวภาพก็ได้
การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว
- ฤดูกาลการเก็บเกี่ยว เมื่อโกฐจุฬาลัมพาออกดอก เริ่มบานได้เกินครึ่งของช่อดอก ก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้ และจะเก็บเกี่ยวได้ทุกฤดูกาล
- วิธีการเก็บเกี่ยว จะต้องให้ต้นสูงจากดินประมาณ 10 เซนติเมตร จะใช้มีด หรือเคียวเกี่ยวก็ได้ และส่งแปรรูปต่อไป
- การแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยว เมื่อได้ต้นโกฐจุฬาลัมพามาแล้ว ก็นำมาล้างน้ำให้สะอาดและตากแดดให้แห้ง หรือจะตัดเป็นท่อน ๆ ก็ได้ ตากแดดประมาณ 4 – 5 วัน ก็จะแห้ง แล้วนำไปอบอีกครั้งจนแห้งสนิท
- การบรรจุและการเก็บรักษา เมื่อได้โกฐจุฬาลัมพาแห้งมาแล้ว ก็บรรจุถุงพลาสติกมัดปากให้แน่น นำส่งจำหน่ายต่อไป
หรือจะเก็บก็ควรเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดปากให้แน่นไม่ให้โดนน้ำ แล้วเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิปกติ
การจำหน่าย
ต้นแห้งราคากิโลกรัมละ 100-200 บาท
แตุ่ถึงอย่างไรกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ก็ออกมาแจ้งเตือนประชาชนว่าอย่าแห่ซื้อ สมุนไพร "โกฐจุฬาลัมพา" เพื่อรับประทานต้านโควิด เพียงตัวเดียวเพราะอาจมีผลข้างเคียงอื่นๆ หากจะทานยาในลักษณะนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน