รู้ลึกเรื่อง "บิลค่าไฟฟ้า" พร้อมวิธีทำอย่างไรเมื่อค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง
จากข่าวเจ้าของบ้านเจอบิลค่าไฟฟ้ากว่า 3 แสน ถึงกับช็อกกันเลยทีเดียว หลายๆ ครั้งประเด็นเรื่องของค่าไฟฟ้าราคาสูงเกินจริงเป็นข่าวให้เราต้องตรวจสอบหาความจริงกันอยู่เสมอโดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนที่อาจมีการใช้ไฟฟ้าสูง วันนี้จะพาทุกคนไปดูกันว่าในบิลค่าไฟฟ้าแต่ละเดือนที่เราได้รับมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง และถ้าเราได้บิลค่าไฟที่รู้สึกว่าราคาจะสูงเกินจริงจะต้องทำอย่างไรต่อ
อัตราค่าไฟฟ้าประเภทต่างๆ
บ้านอยู่อาศัย ประเภท 1.1 อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน
บ้านพักอาศัย ประเภท 1.2 อัตราปกติปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินกว่า 150 หน่วยต่อเดือน
หมายเหตุ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ยังคงได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรีถึงค่าไฟฟ้าประจำเดือนธันวาคม 2558 และตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 ที่ได้รับสิทธิค่าไฟฟ้าฟรีจะต้องไม่เป็นนิติบุคคล และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน นับถึงเดือนปัจจุบัน
ข้อกำหนดเกี่ยวกับอัตราค่าไฟฟ้า
- 1 อัตราค่าไฟฟ้าข้างต้น เป็นอัตราที่เรียกเก็บรายเดือน ที่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
- 2 ค่าไฟฟ้า ที่เรียกเก็บ ในแต่ละเดือน ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าตามอัตราค่าไฟฟ้าฐาน และ ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้า โดย อัตโนมัติ (Ft) โดยมีการเรียกเก็บ Ft ทุกเดือน แยกเป็นรายการในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ Ft ที่เรียกเก็บจะปรับเปลี่ยน ทุกๆ 4 เดือน โดยกำหนดให้ Ft เป็นอัตราคงที่ต่อหน่วยการใช้พลังงานไฟฟ้า
อัตราค่าไฟฟ้าใหม่นี้เริ่มใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้า ประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป
มีอะไรบน "บิลค่าไฟฟ้า"
บิลค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 3 ส่วนหลักดังต่อไปนี้
1.ข้อมูลทั่วไป ส่วนนี้เป็นข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า วันและเวลาอ่านหน่วยค่าไฟฟ้าประจำเดือน
2.ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ส่วนนี้จะประกอบด้วย เลขอ่านครั้งก่อน-หลังจำนวนหน่วยที่ใช้และประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง
3.ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ ประกอบไปด้วย
-ค่าพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง สายจำหน่าย และค่าการผลิตไฟฟ้า
-ค่าบริการรายเดือน คือ ค่าใช้จ่ายในการจดหน่วยไฟฟ้า ค่าจัดทำและจัดส่งบิลค่าไฟฟ้า การรับชำระเงินค่าไฟฟ้าและงานบริการลูกค้า ค่าบริการดังกล่าวได้เรียกเก็บมาตั้งแต่ค่าไฟฟ้าเดือนตุลาคม 2543
-ค่า Ft คือค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า (น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์) ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนและค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฐาน ค่า Ft จะมีการปรับทุก 4 เดือน โดยกกพ. เป็นผู้กำกับดูแล
4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % เรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนด
หากประชาชน พบว่าค่าไฟแพงขึ้นผิดปกติ สามารถแจ้งเรื่องไปยังสำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อให้ตรวจสอบได้ แต่ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่าไฟที่เกินมาเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ไฟเปลี่ยนไปหรือไม่ หรือช่วงนี้อยู่ในช่วงหน้าร้อน มีการเปิดแอร์มากเกินไปหรือไม่ แต่ค่าไฟคงไม่เพิ่มขึ้นมา 2-3 เท่าจากปกติ
ถ้าค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง ทำอย่างไรได้บ้าง
หากพบว่าค่าไฟฟ้าแพงกว่าปกติ สามารถร้องเรียนไปยังการไฟฟ้าในพื้นที่ ดังนี้
- กรุงเทพฯ และปริมณฑล แจ้งเรื่องผ่านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เว็บไซต์ http://www.mea.or.th และ Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1130
- จังหวัดอื่น ๆ แจ้งเรื่องผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เว็บไซต์ https://complaint.pea.co.th และ Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1129
เมื่อแจ้งความผิดปกติของค่าไฟฟ้าไปแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหากพบว่ามีการเพิ่มขึ้นมากจนผิดปกติ อาจเกิดไฟฟ้ารั่ว ซึ่งหากเกิดความผิดปกติจากตัวมิเตอร์ไฟฟ้า หรือระบบไฟที่เกิดจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็จะทำการชดเชยส่วนนี้ให้ และยังต้องพิจารณาดูประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลังด้วย
สำหรับมาตรการลดค่าไฟฟ้าช่วงโควิด-19 ในปัจจุบัน
- มาตรการลดค่าไฟฟ้า
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เผยแพร่รายละเอียด มาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็กเป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 ดังนี้
1. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.1.1
- 1.1 ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย ใช้ไฟฟ้าฟรี
- 1.2 ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วย ใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรกและตั้งแต่หน่วยที่ 91 เป็นต้นไป คิดค่าไฟฟ้าตามปกติ
2. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยประเภทที่ 1.1.2 และ 1.2 ได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าโดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2564 เป็นเดือนฐานสำหรับการคิดเงิน
2.1 การใช้ไฟฟ้ารายเดือนน้อยกว่าหรือเท่ากับหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564) ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริงในเดือนนั้น
2.2 การใช้ไฟฟ้ารายเดือนมากกว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564)
– ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย หน่วยที่คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564)
– ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วย แต่ไม่เกิน 1,000 หน่วย หน่วยที่คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564) บวกด้วยร้อยละ 50 ของหน่วยส่วนที่เกินหน่วยเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564)
2.3 ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 1,000 หน่วย หน่วยที่คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564) บวกด้วยร้อยละ 70 ของหน่วยส่วนที่เกินหน่วยเดือนฐาน (กุมภาพันธ์ 2564)
3. ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก ประเภทที่ 2 (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ)
- ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 100 หน่วย ใช้ไฟฟ้าฟรี
- ใช้ไฟฟ้าเกิน 100 หน่วย ใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรกและตั้งแต่หน่วยที่ 101 เป็นต้นไป คิดค่าไฟฟ้าตามปกติ ผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าใกล้บ้าน หรือ 1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง