ประเพณีแต่งบ้านรับปีใหม่ของญี่ปุ่นเริ่มวันไหน มีสิ่งมงคลอะไรบ้างที่จะนำมาแต่งบ้าน
ใครที่เคยเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจจะเคยเห็นกระถางที่ตกแต่งด้วยกิ่งสนและไม้ไผ่สีเขียวสดวางอยู่ตามประตูหน้าบ้าน หน้าร้านค้า หรืออาคารสำนักงานต่าง ๆ แม้แต่ในประเทศไทยเองที่ร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้าสไตล์ญี่ปุ่นก็มีให้เห็นอยู่บ้างใช่ไหมคะ? เจ้ากระถางกิ่งสนและไม้ไผ่ที่เราพูดถึงอยู่นี้เรียกว่า “คาโดะมัทซึ” (門松) เป็นหนึ่งในสามสิ่งมงคลที่ชาวญี่ปุ่นมักจะนำมาตกแต่งบ้านช่วงปีใหม่
เนื่องจากเทศกาลปีใหม่ใกล้เข้ามาทุกที เป็นโอกาสเหมาะที่เราจะพาเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับ “ประเพณีการแต่งบ้านรับปีใหม่ของญี่ปุ่น” กัน ไปดูกันว่ามีสิ่งมลคลอะไรบ้างที่ชาวญี่ปุ่นจะนำมาแต่งบ้าน สิ่งมงคลแต่ละชิ้นมีที่มาและความหมายว่าอย่างไร? ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มนำสิ่งมงคลเหล่านี้มาแต่งบ้านตั้งแต่วันไหน? ไปจนถึงวิธีการทำลายของตกแต่งบ้านวันปีใหม่ที่ถูกต้องด้วย
ที่มาและความหมายของประเพณีแต่งบ้านรับปีใหม่
ชาวญี่ปุ่นจะประดับตกแต่งบ้านในช่วงปีใหม่เพื่อต้อนรับเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ “โทชิงะมิซามะ” (年神様) สิ่งมงคลที่นำมาตกแต่งบ้านนั้นจะเปรียบเสมือนเป็นประทับขององค์เทพหรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “โยริชิโระ” (依り代)
ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า เทพโทชิงะมิซามะจะเดินทางมายังโลกมนุษย์ในช่วงต้นปี พร้อมมอบอายุให้กับมนุษย์คนละหนึ่งปี และมอบโชคลาภความสุขในปีนั้น ๆ มาให้อีกด้วย นอกจากเทพโทชิงะมิซามะยังเป็นเทพเจ้าแห่งธัญพืชอีกด้วย
สำหรับสิ่งมงคลที่ชาวญี่ปุ่นนำมาประดับตกแต่งบ้านนั้นมีมากมายหลายประเภท โดยมีสิ่งมงคล 3 แบบที่เรามักจะพบเห็นได้บ่อย ได้แก่
“คาโดะมัทซึ” (門松)
เป็นสิ่งมงคลที่เราได้พูดถึงไปตอนต้น มีลักษณะกระถางต้นไม้ ด้านล่างเป็นท่อนไม้หรือฟางข้าวพันรอบไม้ไผ่สีเขียวสดที่ตัดเฉียง ตกแต่งรอบ ๆ ด้วยกิ่งสน มักนำไปวางไว้ที่หน้าประตูบ้านหรืออาคาร เพื่อให้เทพเจ้าแห่งวันปีใหม่มองเห็นได้สะดุดตาและนำความสุขเข้ามายังบ้านของเรา
คาโดะมัทซึมีจุดเด่นที่ไม้ไผ่สูง ๆ ที่ตัดเฉียงดูแปลกตา แต่เดิมทีชาวญี่ปุ่นเรียกสิ่งมลคลนี้ว่า “มัทซึ คะซะริ” (松飾り) โดยใช้แค่กิ่งสนเท่านั้นในการตกแต่ง
ต้นสน หรือ “มัทซึ” (松) เป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา เพราะต้นสนจะยังคงยืนต้นมีสีเขียวสดแม้ในฤดูหนาวก็ตาม ส่วนต้นไผ่เป็นสัญลักษณ์ของการเจริญเติบโต การมีอายุยืนยาว ความเจริญรุ่งเรือง เพราะต้นไผ่มีลำต้นสูงและเติบโตได้เร็ว
“ชิเมะ คะซะริ” (しめ飾り)
ชาวญี่ปุ่นจะตกแต่งชิเมะ คะซะริไว้ที่ด้านบนของประตูที่เข้าสู่ตัวบ้าน เพื่อเปิดทางให้เทพเจ้าแห่งวันปีใหม่เดินทางผ่านเข้าไปในบ้านเราได้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยเชือกศักดิ์สิทธิ์ที่ทำจากฟางข้าว ส้มไดไดที่เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังตกแต่งด้วยกิ่งเฟิร์น กุ้งมังกร รวงข้าว และแถบกระดาษสีขาวอีกด้วย
“คะงะมิ โมจิ” (鏡餅)
สิ่งมลคลสำหรับวันปีใหม่ที่เชื่อว่าชาวไทยน่าจะเคยเห็นบ่อยจากหนังสือการ์ตูนหรือซีรีส์ละครต่าง ๆ โดยคะงะมิ โมจิตามความเชื่อของญี่ปุ่นนั้น จะเป็นได้ทั้งสิ่งของเพื่อเซ่นไหว้แด่เทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ และบางความเชื่อก็จะตั้งคะงะมิ โมจิไว้เพื่อเป็นที่ประทับสำหรับเทพเจ้า โดยมักวางไว้บนแท่นบูชาภายในบ้าน
หลังวันปีใหม่ ช่วงวันที่ 11 มกราคม ชาวญี่ปุ่นจะนำคะงะมิ โมจิที่เซ่นไหว้เทพเจ้าแล้วมารับประทานกันในครอบครัว หรือที่เรียกว่า “คะงะมิ บิราคิ” (鏡開き) โดยเชื่อว่าจะได้รับพลังจากเทพเจ้า
ประเพณีแต่งบ้านรับปีใหม่ของญี่ปุ่นเริ่มวันไหน?
ช่วงที่เริ่มแต่งบ้านรับปีใหม่
ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มประดับตกแต่งบ้านรับปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมเป็นต้นไป แต่จะมีวันต้องห้ามอยู่ 2 วันก็คือ
29 ธันวาคม : วันที่ 29 ในภาษาญี่ปุ่นอ่านออกเสียงว่า “นิจูคุ” ซึ่งพ้องเสียงกับประโยค “นิจูคุ” (二重苦) ที่แปลว่า ความลำบาก, ยุ่งยากซ้ำแล้วซ้ำอีก
31 ธันวาคม : การเริ่มประดับบ้านในวันนี้ ชาวญี่ปุ่นจะเรียกว่า “อิจิยะ คะซะริ” (一夜飾り) การประดับตกแต่งบ้านก่อนวันปีใหม่เพียงหนึ่งถือเป็นเรื่องเสียมารยาทต่อเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ จึงถือว่าเป็นวันไม่มงคลที่จะเริ่มแต่งบ้านนั่นเอง
ปัจจุบัน ชาวญี่ปุ่นมักนิยมตกแต่งบ้านต้อนรับปีใหม่กันในช่วงเทศกาลคริสต์มาส ตั้งแต่วันที่ 26-27 ธันวาคม วันที่ 28 ก็เป็นวันมงคลสำหรับชาวญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพราะเลขแปดในภาษาญี่ปุ่นเขียนด้วยอักษรคันจิ “八” (อ่านว่า ฮาจิ) ซึ่งปลาย (ด้านล่าง) ของคันจิตัวนี้มีลักษณะขยายเปิดกว้างออกไป หมายถึงการเปิดทางไปยังอนาคตนั่นเอง
ช่วงเก็บของแต่งบ้านวันปีใหม่
ประเพณีการประดับต้นสนในวันปีใหม่ของญี่ปุ่น หรือ “มัทซึ โนะ อุจิ” (松の内) จะอยู่ในช่วงวันที่ 1-7 มกราคม โดยมักจะเก็บของประดับบ้านวันปีใหม่กันหลังจากวันที่ 7 แต่บางพื้นที่ก็จะมีระยะเวลาที่แตกต่างกันออกไปตามความเชื่อ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
วันที่ 7 มกราคม : พื้นที่ในเขตคันโต, เขตตะวันออกเฉียงเหนือ, เขตเกาะคิวชู ฯลฯ
วันที่ 15 มกราคม : พื้นที่ในเขตคันไซเป็นหลัก
ในอดีต วันมัทซึ โนะ อุจิจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 มกราคมทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในยุคเอโดะ รัฐบาลโชกุนในยุคนั้นจึงประกาศ “ให้ประชาชนเก็บสิ่งของที่เผาไหม้ได้ง่ายอย่างต้นสนประดับวันปีใหม่ให้โดยเร็ว” โดยสามารถวางประดับไว้ได้ถึงวันที่ 7 มกราคมเท่านั้น
วิธีการทำลายของแต่งบ้านวันปีใหม่ที่ถูกต้อง
หลังพ้นช่วงวันมัทซึ โนะ อุจิไปแล้ว สิ่งของมงคลที่เคยประดับไว้ในบ้านช่วงปีใหม่จะถูกนำไปเผาในงานเทศกาล “ซะงิโจ” (左義長) โดยควันและเปลวไฟจะพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ราวกับส่งเทพเจ้าแห่งวันปีใหม่กลับสู่สวรรค์ โดยชาวญี่ปุ่นจะใช้เปลวไฟนี้ในการย่างคะงะมิ โมจิเพื่อรับประทานกันอีกด้วย เทศกาลซะงิโจถูกเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น บ้างก็เรียกว่า “ดนโดะ ยากิ” (どんど焼き), “ทนโดะ ยากิ” (とんど焼き), หรือ “โอนิ บิ ยากิ” (鬼火焚き) เป็นต้น
ในกรณีที่บางพื้นที่ไม่มีการจัดเทศกาลซะงิโจ ก็สามารถนำของแต่งบ้านวันปีใหม่ไปถวายที่ศาลเจ้าขนาดใหญ่ โดยตรวจสอบด้วยว่า ศาลเจ้าแห่งนั้นมีการจัดเทศกาลซะงิโจหรือทำพิธีกรรมเผาไฟด้วยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เพื่อน ๆ สามารถร่วมประดับตกแต่งบ้านในวันปีใหม่ตามประเพณีของชาวญี่ปุ่นได้แม้จะไม่มีเทศกาลซะงิโจก็ตาม ขอเพียงแค่หลังจากใช้งานของแต่งบ้านวันปีใหม่เสร็จแล้ว ให้คัดแยกขยะและนำไปทิ้งให้ถูกที่และถูกสุขลักษณะ เชื่อว่าเป็นอย่างยิ่งว่า เทพเจ้าแห่งวันปีใหม่ท่านคงจะได้เห็นถึงความตั้งใจอันดีของเราอย่างแน่นอนค่ะ!
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ