บ้านมือหนึ่งหรือบ้านมือสอง ผู้บริโภคยุคนี้เลือกอะไร
แม้ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 จะชะลอตัว จากวิกฤติโควิด-19 การหดตัวของเศรษฐกิจ และผลของมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ส่งผลให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง แต่เมื่อเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่มกลับมามีสัญญาณดีขึ้น ทั้งในส่วนของโครงการใหม่ที่ผู้ประกอบการเร่งอัดโปรโมชั่นควบคู่สงครามราคา กระตุ้นกำลังซื้อเพื่อระบายสต็อกคงค้าง และบ้านมือสองที่เห็นสัญญาณผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้น
ภาพรวมบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสองหลังวิกฤติโควิด
จากที่คนส่วนใหญ่ต้อง Work from Home หรือใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงเริ่มรู้สึกว่าต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับการทำงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ้านได้มากขึ้น แทนที่จะอยู่ในคอนโดฯ หรือพื้นที่เล็ก ๆ เหมือนเดิม จึงทำให้โครงการใหม่ ๆ อย่างโครงการแนวราบได้รับความนิยมมากขึ้น สอดคล้องกับการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเน้นตลาดแนวราบ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในทำเลรอบนอกกรุงเทพฯ หรือชานเมือง
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ REIC คาดว่าทั้งปี 2563 ตลาดแนวราบจะมีอัตราการเปิดตัวใหม่เติบโต 12.6% อยู่ที่ 48,965 หน่วย สูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าปี 2564 ตลาดแนวราบยังมีแนวโน้มการเปิดตัวใหม่ต่อเนื่อง เติบโต 6.3% อยู่ที่ 52,044 หน่วย ซึ่งจะขยายตัวทุกไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 ถึงไตรมาส 4 ปี 2564
ในส่วนของตลาดบ้านมือสองก็มีแนวโน้มเติบโตด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือสอง คอนโดมือสอง ทั้งที่เจ้าของขายเอง หรือประมูลผ่านกรมบังคับคดีที่นำมาขายทอดตลาด หรือทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จากธนาคารและสถาบันการเงิน ต่างก็ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงนี้
เนื่องจากราคาบ้านมือสองที่ถูกกว่าบ้านใหม่ 20-60% ทำให้ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยที่มีกำลังซื้อจำกัด มีโอกาสเข้าถึงบ้านมือสองในราคาเอื้อมถึงได้ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ และยังเป็นโอกาสให้กลุ่มนักลงทุน มาลงทุนซื้อบ้านมือสองที่ได้ผลตอบแทนดี จากราคาบ้านที่สูงขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
จากรายงานของ REIC พบว่า 10 จังหวัดที่มีจำนวนที่อยู่อาศัยมือสองมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ระยอง และสมุทรสาคร มีจำนวนถึง 137,632 หน่วย คิดเป็น 90.18% ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ผลสำรวจชี้คนไทยถึง 75% วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต
จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อสภาพตลาดที่อยู่อาศัย Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า คนไทย 3 ใน 4 หรือ 75% ยังคงวางแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต
โดย 5 อันดับเหตุผลที่ทำให้คนตัดสินใจซื้อบ้าน คือ
- ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น 51%
- ต้องการพื้นที่ที่มากขึ้นให้ลูกหรือพ่อแม่ 30%
- ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ย้ายไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน ใกล้โรงเรียนลูก 26%
- เพื่อการลงทุน 22%
- อยากย้ายไปอยู่ทำเลใหม่ 19%
ทั้งนี้ เหตุผลที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น 51% เพิ่มขึ้นจากการสำรวจฯ รอบก่อนหน้าที่อยู่ที่ 44% สอดรับกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่อยู่บ้านกันมากขึ้น ขณะที่ต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ย้ายไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน ใกล้โรงเรียนลูก 26% ลดลงจากรอบก่อนหน้าที่อยู่ที่ 33% เนื่องจากโครงข่ายคมนาคมกระจายครอบคลุม ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับเพื่อลงทุน 22% ที่มีลดลงจากรอบก่อนหน้าอยู่ที่ 27% เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจ
เมื่อพิจารณาถึงอุปสรรคหรือปัจจัยที่ทำให้ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป พบว่า อันดับแรกมาจากราคาบ้านหรือคอนโดที่สูง รองลงมาคือ จำนวนเงินดาวน์ที่ต้องวาง, การกู้สินเชื่อบ้านได้ไม่เต็ม 100%, การสูญเสียรายได้ในช่วงโควิด-19, อัตราดอกเบี้ยเงินกู้, ความไม่แน่นอนทางการเมือง และการที่ไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมโครงการได้ด้วยตัวเองในช่วงก่อนหน้า
มุมมองคนไทยต่อการซื้อบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง
ผลสำรวจฯ ยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคเกือบครึ่งหรือ 48% กำลังมองหาโครงการบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสองควบคู่กัน ส่วนอีก 4% มองหาบ้านมือสองเพียงอย่างเดียว ทั้งจากการซื้อต่อจากเจ้าของเดิมและจากการประมูล
โดยคนไทยสนใจซื้อที่อยู่อาศัยผ่านการประมูลถึง 63% หากพิจารณาตามช่วงอายุพบว่า
- ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจมากที่สุดถึง 68% เนื่องจากจ่ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการซื้อบ้านใหม่ สามารถนำเงินส่วนที่เหลือไว้ใช้ยามเกษียณ อีกทั้งยังเลือกเพื่อนบ้าน ทำเลและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยรอบได้ก่อนตัดสินใจ และซื้อแล้วเข้าอยู่ได้ทันที
- รองลงมาคือช่วงอายุ 40-49 ปี อยู่ที่ 67%
- ช่วงอายุ 30-39 ปี อยู่ที่ 65%
- ช่วงอายุ 50-59 ปี อยู่ที่ 64%
- ช่วงอายุ 22-29 ปี อยู่ที่ 58%
จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อจากเรียลดีมานด์ยังมีอยู่ และคนส่วนใหญ่ถึง 75% วางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจบ้านมือสองมากขึ้น เนื่องจากราคาที่คุ้มค่าและต่ำกว่าราคาตลาด และเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงถึงความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยและกำลังซื้อที่เริ่มกลับมา