พาไปรู้จักห้องน้ำแบบญี่ปุ่น ความเป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนหลงใหล
เชื่อว่าใครที่มีโอกาสได้ไปเที่ยวหรืออาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น คงจะสังเกตเห็นแน่ ๆ ว่าห้องน้ำของชาวญี่ปุ่นนั้นมีลักษณะแตกต่างจากห้องน้ำบ้านเราเป็นอย่างมาก ด้วยลักษณะของห้องที่ค่อนข้างเล็กและแคบแต่มากด้วยฟังก์ชั่นอันครบครันภายในห้องเดียว นอกจากนี้บางที่ยังแยกห้องสุขา ห้องอาบน้ำ และบริเวณสำหรับล้างหน้าออกจากกันเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านอีกด้วย น่าสนใจมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับห้องน้ำของคนญี่ปุ่นกันค่ะ
ต้นกำเนิดห้องน้ำแบบญี่ปุ่น
โดยส่วนใหญ่แล้ว ที่พักอาศัยของชาวญี่ปุ่นจะใช้ห้องน้ำแบบสำเร็จรูปที่เรียกว่า Unit Bathroom (ユニットバス) ค่ะ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากห้องน้ำแบบดั้งเดิมที่ต้องอาศัยการฉาบปูน ปูกระเบื้อง และเดินท่อที่หน้างาน มาเป็นแบบสำเร็จรูปที่ทำเสร็จจากโรงงานแล้วยกนำมาประกอบพร้อมติดตั้งที่หน้างานได้เลย โดยการก่อสร้างแบบ Unit นี้ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงโอลิมปิกของญี่ปุ่น ในช่วงนั้นญี่ปุ่นจำเป็นต้องเร่งสร้างโรงแรมในระยะเวลาอันจำกัด จึงได้เกิดเทคนิคการสร้างแบบนี้ขึ้น เเละกลายเป็นที่มาของการสร้าง Unit Bathroom หรือห้องน้ำสำเร็จรูปนั่นเองค่ะ
ตัวห้องน้ำสำเร็จรูปนี้จะทำจากวัสดุที่แตกต่างกันออกไปตามการออกแบบ แต่ส่วนมากมักจะนิยมใช้วัสดุจาก FRP หรือ Fiber Reinforced Plastic โดยจะผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ตามมาตรฐานโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นผนังห้องน้ำ พื้น เพดาน อ่างอาบน้ำ และอื่นๆ จากนั้นก็จะยกนำมาประกอบและติดตั้งที่หน้าไซต์งาน
ประเภทห้องน้ำสไตล์ญี่ปุ่น
แบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
1.ห้องน้ำสำเร็จรูปแบบมีแค่ส่วนเดียว
เป็นห้องสำหรับอาบน้ำเท่านั้น ไม่มีอ่างล้างหน้าและห้องสุขานะคะ ตัวห้องจะแยกเดี่ยวออกมา ภายในจะมีแค่พื้นที่สำหรับอาบน้ำฝักบัวและมีอ่างสำหรับแช่น้ำ (อ่างโอฟุโระ) เหมาะสำหรับบ้านพักอาศัยที่อยู่กันเป็นครอบครัวค่ะ
2. ห้องน้ำสำเร็จรูปแบบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
เป็นห้องน้ำที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับแบบแรก เพียงแต่เพิ่มอ่างล้างหน้าเข้ามาด้วย ข้อดีก็คือ นอกจากจะล้างหน้าแปรงฟันระหว่างอาบน้ำได้แล้ว เวลาทำความสะอาดก็ง่ายแสนง่าย แถมยังประหยัดเวลาสุด ๆ เพราะสามารถใช้ฝักบัวฉีดน้ำทำความสะอาดอ่างอาบน้ำและอ่างล้างหน้าได้ในเวลาเดียวกันนั่นเอง
3. ห้องน้ำสำเร็จรูปแบบแบ่งออกเป็น 3 ส่วน
รูปแบบห้องน้ำนี้คล้ายกับของบ้านเราที่สุดค่ะ เพียงแต่จะแคบกว่าเท่านั้น ประกอบด้วยบริเวณสำหรับอาบน้ำและอ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า และสุขา เล็กแต่ครบครันมาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะคะ โดยห้องน้ำรูปแบบนี้มักจะนิยมใช้กันมากตามโรงแรมและอพาร์ตเมนท์ให้เช่าค่ะ ข้อดีก็คือ ประหยัดพื้นที่ และทำความสะอาดได้รวดเร็วเพราะทุกอย่างถูกจัดสรรให้อยู่ภายในห้องเดียวกันแล้ว แต่ข้อเสียก็คือ เนื่องจากห้องน้ำอยู่รวมกับห้องอาบน้ำ จึงไม่เหมาะกับที่พักอาศัยที่มีสมาชิกหลาย ๆ คน เพราะอาจเกิดการแย่งกันใช้ได้ รวมถึงห้องน้ำค่อนข้างแคบเเละเล็ก จึงมักจะเกิดความชื้นที่ทำให้ทิชชู่เปียกอยู่บ่อย ๆ ด้วยค่ะ
เป็นยังไงกันบ้างคะทุกคน รู้จักห้องน้ำญี่ปุ่นกันมากขึ้นแล้วใช่มั้ยเอ่ย สมกับเป็นชาวญี่ปุ่นจริง ๆ เลยนะคะ ทั้งแนวความคิดและการออกแบบสุดยอดไปเลย เป็นห้องน้ำที่เล็กแต่ครบครัน เรียบง่ายแต่คุ้มค่ากับการใช้งานจริง ๆ ว่าแต่ห้องน้ำแบบนี้จะมีข้อดีหรือข้อเสีย หรือแตกต่างจากห้องน้ำปกติทั่วไปยังไง รอติดตามอ่านได้ในบทความถัดไปนะคะ