ลดน้ำหนักทางลัดด้วยอาหารเสริม...จะดีหรือ?

ลดน้ำหนักทางลัดด้วยอาหารเสริม...จะดีหรือ?

ลดน้ำหนักทางลัดด้วยอาหารเสริม...จะดีหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดร.อรอนงค์ กังสดาลอำไพ สังคมในยุคปัจจุบันนิยมชมชอบคนผอม ดังนั้นคนที่อ้วนหรือบางคนก็ไม่อ้วนต่างก็พยายามลดน้ำหนักตัว ซึ่งมีหลักการสำคัญคือจะต้องควบคุมอาหารโดยการลดพลังงานจากอาหารลงควบคู่กับการออกกำลังกาย การลดน้ำหนักที่ดีจะต้องค่อยๆ ลดน้ำหนักลงประมาณสัปดาห์ละ 1/2 1 กิโลกรัม ดังนั้นผู้ลดน้ำหนักจึงต้องควบคุมอาหารเป็นระยะเวลานานเพื่อให้น้ำหนักลดลงตามต้องการ หลายคนจึงมักจะมีคำถามว่าตัวเองจะขาดอาหารหรือไม่ และควรรับประทานอาหารชนิดใดเสริม หากคุณลดน้ำหนักโดยการควบคุมอาหารอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของนักโภชนาการ คุณก็น่าจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามความต้องการของร่างกาย ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารหรือวิตามินเสริมอีก แต่ถ้าการควบคุมอาหารนั้นทำให้ร่างกายได้รับอาหารไม่สมดุลหรือลดพลังงานจากอาหารลงมาก (เพราะต้องการจะให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง) จะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินและแร่ธาตุไม่เพียงพอ หากเป็นเช่นนี้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการผิดปกติในร่างกายได้ เช่น การขาดวิตามินบีหนึ่งจะทำให้เกิดอาการชาปลายมือปลายเท้า (หรือเหน็บชา) หรือการขาดวิตามินบีสองจะทำให้เกิดแผลที่มุมปาก ซึ่งถ้าเป็นๆ หายๆ มุมปากก็จะหนาขึ้น จึงเรียกอาการนี้ว่าโรคปากนกกระจอก เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องได้รับวิตามินและแร่ธาตุเสริม โดยเลือกรับประทานวิตามินรวมซึ่งจะมีวิตามินชนิดต่างๆ เกือบครบถ้วน และบางชนิดมีแร่ธาตุ เช่น เหล็ก สังกะสี ทองแดง หรือแคลเซียม รวมอยู่ด้วย ปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุที่มีในยาเม็ดวิตามินสามารถดูได้จากฉลากที่อยู่ข้างขวด ซึ่งวิตามินบางยี่ห้อนอกจากจะบอกปริมาณวิตามินหรือแร่ธาตุแต่ละชนิดที่มีในยาแต่ละเม็ดแล้ว อาจบอกเป็นเปอร์เซนต์ของปริมาณที่ควรได้รับประจำวัน (% Thai DRI) (Dietary reference intake) ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา เปอร์เซนต์ที่แสดงบนฉลากจะเป็น % US RDA (Recommended Dietary Allowances) ซึ่งค่า US RDA คือปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้ควรได้รับประจำวันสำหรับคนอเมริกัน ค่านี้จะใกล้เคียงกับปริมาณสารอาหารอางอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย วิตามินหรือแร่ธาตุใดที่มีค่าต่ำกว่าปริมาณที่ควรได้รับประจำวันจะมีค่าต่ำกว่า 100% แต่ถ้าวิตามินหรือแร่ธาตุชนิดใดมีค่าสูงกว่า 100% ก็แสดงว่าวิตามินหรือแร่ธาตุชนิดนั้นมีในยาเม็ดนี้เกินกว่าปริมาณที่ควรได้รับประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปถ้าค่าไม่เกิน 150% ยังจัดว่าปลอดภัยสำหรับการรับประทานเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารชนิดนั้น การรับประทานวิตามินและแร่ธาตุเสริม ต้องระวังไม่รับประทานในปริมาณมากเกินไป เพราะวิตามินบางตัวโดยเฉพาะวิตามินที่ละลายในไขมันสามารถสะสมในร่างกายจนเกิดพิษได้ เช่น การได้รับวิตามินเอในปริมาณสูงๆ เป็นเวลานานติดต่อกันทำให้เกิดอาการพิษคือ ความดันในสมองสูง ทำให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเห็นภาพซ้อน เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง และเป็นพิษต่อตับ สำหรับแร่ธาตุ ถ้าได้รับในปริมาณสูงๆ อาจมีผลทำให้การดูดซึมของแร่ธาตุชนิดอื่นลดลง เช่น การรับประทานแคลเซียมพร้อมกับเหล็กจะมีผลทำให้การดูดซึมของแร่ธาตุทั้งสองชนิดลดลง ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานพร้อมกัน หรือในกรณีได้รับสังกะสีมากเกินจะส่งผลให้ร่างกายดูดซึมทองแดงได้น้อยลงอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดทองแดงได้ ได้มีการแนะนำให้รับประทานโครเมียมเพื่อช่วยลดน้ำหนัก โครเมียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย มีบทบาทสำคัญทำให้ฮอร์โมนอินซูลินทำงานได้ดีขึ้น มีความเชื่อกันว่าการเสริมโครเมียมจะทำให้ไขมันลดลง และกระตุ้นการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้น้ำหนักลดลงได้ มีการทดลองให้โครเมียมขนาด 200400 ไมโครกรัมต่อวันในคนอ้วน ซึ่งผลของโครเมียมในการลดน้ำหนักยังไม่ชัดเจน ข้อมูลจากการศึกษาต่าง ๆ ยังไม่สามารถยืนยันถึงประสิทธิภาพของโครเมียมในการลดน้ำหนัก รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยเมื่อใช้เป็นเวลานานก็ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากการลดน้ำหนักจะต้องควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายซึ่งได้ผลค่อนข้างช้า คนที่ลดน้ำหนักมักจะใจร้อน อยากให้น้ำหนักลดลงเร็วๆ โดยลืมไปว่ากว่าจะได้น้ำหนักตัวเองที่ขึ้นมานี้ใช้เวลานานเท่าไร ดังนั้นหลายคนหันไปพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างว่าจะช่วยลดน้ำหนักได้ เช่น มั่วอึ้ง (Mahuang หรือ Ephedra sinic) กัวร์กัม (guar gum) บุก (glucomanman) เทียนเกล็ดหอย (Psyllium) ไคโตแซน (chitosan) เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีผลต่อร่างกายแตกต่างกันในการใช้จึงควรคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพด้วยว่าได้ผลจริงหรือไม่ เช่น มั่วอึ้ง เป็นสมุนไพรที่ช่วยเพิ่มการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย ได้มีการนำมั่วอึ้งมาผสมในผลิตภัณฑ์สำหรับลดน้ำหนักหลายชนิด แต่ปรากฏว่ามีผลทำให้ความดันโลหิตสูง ใจสั่น กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย และบางคนถึงขั้นเสียชีวิต คณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาจึงได้ห้ามการจำหน่ายเมื่อเดือนเมษายน 2547 ส่วนบุก เทียนเกล็ดหอย และกัวร์กัมเป็นเพียงใยอาหารที่พอกตัวในน้ำ ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารพวกนี้จะช่วยให้อิ่มเร็ว รับประทานอาหารได้น้อยลง ไคโตแซนเป็นสารสกัดจากเปลือกกุ้งซึ่งช่วยลดการดูดซึมไขมันโดยการจับกับไขมันในทางเดินอาหาร มีงานวิจัยผลของไคโตแซนต่อการลดน้ำหนักซึ่งผลก็ยังขัดแย้งกัน ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยอื่น เช่น การรับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร และการออกกำลังกายที่มีผลต่อการลดน้ำหนัก ดังนั้นการหวังพึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับการลดน้ำหนัก สิ่งสำคัญในการลดน้ำหนักคือ ทำอย่างไรให้น้ำหนักลดลง เมื่อน้ำหนักลดลงได้แล้วทำอย่างไรให้ยังคงอยู่โดยไม่เพิ่มกลับมาใหม่ ผู้ที่ลดน้ำหนักส่วนใหญ่ถ้าไม่ปรับพฤติกรรมการกินอาหารและการออกกำลังกาย สุดท้ายน้ำหนักก็จะเพิ่มกลับมา ดังนั้นการดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ลดน้ำหนักทางลัดด้วยอาหารเสริม...จะดีหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook