จะเป็น “ผู้กู้ร่วม” ซื้อคอนโดหรือบ้าน ควรรู้อะไรก่อนบ้าง

จะเป็น “ผู้กู้ร่วม” ซื้อคอนโดหรือบ้าน ควรรู้อะไรก่อนบ้าง

จะเป็น “ผู้กู้ร่วม” ซื้อคอนโดหรือบ้าน ควรรู้อะไรก่อนบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าทุกคนฝันอยากมีคอนโดหรือบ้านเป็นของตัวเอง และด้วยฐานเงินเดือนในปัจจุบันความฝันที่ว่าอาจไม่ไกลเกินเอื้อม แต่หากคุณมีฐานเงินเดือนไม่สูงมาก หรือมีภาระค่าใช้จ่าย ภาระหนี้สินอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ย่อมส่งผลให้ความสามารถในการผ่อนชำระกับสถาบันการเงินลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การหา “ผู้กู้ร่วม” ซึ่งก่อนหาผู้กู้ร่วมลองไปดูกันว่า คุณควรรู้อะไรบ้าง

กู้ร่วม คืออะไร?

เป็นการเพิ่มผู้กู้เข้าในสัญญาซื้อขายคอนโดหรือบ้าน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือเรื่องการชำระหนี้ของผู้กู้หลัก โดยกรณีที่จำเป็นต้องมี “ผู้กู้ร่วม” มักเกิดจากผู้กู้หลักมีฐานรายได้ไม่สูงมาก ประกอบกับมีภาระหนี้สินอื่น ๆ จำต้องมีบุคคลอื่นเข้ามาร่วมเป็นลูกหนี้ด้วย เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถอนุมัติวงเงินได้ตามที่ผู้กู้ต้องการ ทั้งนี้ ผู้กู้ร่วมสามารถมีได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน

ผู้กู้ร่วม สามารถเป็นใครได้บ้าง

(1) บิดามารดา

(2) พี่น้องผู้ร่วมสายโลหิตเดียวกัน แม้คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมได้ เพียงแสดงเอกสารที่ระบุว่ามีบิดามารดาคนเดียวกัน อาทิ สูติบัตร หรือทะเบียนบ้าน

(3) สามีภรรยา หากมิได้มีการจดทะเบียนสมรสก็สามารถเป็นผู้กู้ร่วมได้ เพียงต้องมีหลักฐานมายืนยันว่าเป็นสามีภรรยาจริง อาทิ ภาพหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดงานแต่งงาน เป็นต้น

(4) เครือญาติที่มีนามสกุลเดียวกัน

(5) ชาวต่างชาติที่จดทะเบียนสมรสกับคนไทย สามารถกู้ร่วมได้เฉพาะอาคารชุดหรือคอนโดเท่านั้น ซึ่งนอกจากกู้ร่วมได้แล้ว ชาวต่างชาติสามารถมีกรรมสิทธิ์ได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งระบุให้ คอนโดมิเนียมโครงการหนึ่งมีการถือครองโดยชาวต่างชาติได้ในสัดส่วนที่ไม่เกินร้อยละ 49 ของยูนิตทั้งหมดเท่านั้น

คู่รักเพศเดียวกัน สามารถกู้ร่วมกันได้หรือไม่

สถาบันการเงินหลายแห่งยังไม่อนุมัติให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถ “กู้ร่วม” ได้ โดยให้เหตุผลว่า คู่รักเพศเดียวกัน ไม่เข้าตามกฎเกณฑ์ของธนาคารที่กำหนดให้ผู้กู้ร่วมจะต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ แต่ปัจจุบันมีสถาบันการเงิน 5 แห่งที่ไม่ปฏิเสธการกู้บ้านร่วมกันของคู่รักเพศเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกันไป คือ ธนาคารยูโอบี ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย

ความรับผิดชอบของผู้กู้ร่วม

  • ต่อผู้กู้ร่วมด้วยกันเอง

ผู้กู้แต่ละคนต้องแบ่งความรับผิดชอบกันคนละครึ่ง คือ ตามจำนวนเงินที่กู้มาจากสถาบันการเงิน อาทิ เข้าทำสัญญากู้เงินจากสถาบันการเงินร่วมกัน 3 คน เป็นจำนวน 1.8 ล้านบาท ย่อมเท่ากับว่า ระหว่างผู้กู้ร่วมต้องรับผิดชอบคนละ 6 แสนบาท ถ้าผู้กู้คนได้คนหนึ่งชำระหนี้ให้สถาบันการเงินเต็มจำนวน 1.8 ล้านบาท ผู้กู้คนดังกล่าวก็สามารถไปเรียกเงินคืนจากผู้กู้อีก 2 คนที่เหลือได้ (คนละ 6 แสนบาท)

  • ต่อธนาคาร

การที่คุณลงชื่อเป็น “ผู้กู้ร่วม” หมายถึง คุณยอมรับการเป็นหนี้กันคนละครึ่งกับผู้กู้อีกคน อาทิ กู้เงินมา 1.5 ล้านบาท เท่ากับเป็นหนี้คนละ 7.5 แสนบาท ฉะนั้น ความรับผิดชอบของผู้กู้ต่อธนาคารคือการชำระหนี้ให้ตรงและไม่ให้ขาด แต่หากวันใดผู้กู้อีกคนไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงินจะเรียกให้หนึ่งในผู้กู้ชำระหนี้แทน อาทิ กู้เงินมา 1.5 ล้านบาท แต่ผู้กู้อีกคนไม่เคยชำระหนี้เลย สถาบันการเงินอาจเรียกให้ผู้กู้ชำระคนละครึ่ง หรือเรียกเต็มจำนวน 1.5 ล้านบาท จากผู้กู้คนใดคนหนึ่ง และถ้าผู้กู้คนใดชำระหนี้ให้สถาบันการเงินทั้งสิ้น 1.5 ล้านบาท ก็สามารถไปเรียกเงินจำนวน 7.5 แสนบาท คืนจากผู้กู้อีกคนได้ในภายหลัง

สามารถถอนชื่อจากการเป็นผู้กู้ร่วมได้หรือไม่

สามารถทำได้ เพียงแต่ยังไม่มีสิทธิ์ถอนชื่อจนกว่าสถาบันการเงินจะพิจารณาแล้วเห็นว่าความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้ที่เหลือเพียงพอในการชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่หากมีการผ่อนชำระมาหลายปีหรือใกล้หมด สถาบันการเงินมักอนุญาตให้ถอนชื่อ

แต่ถ้าเพิ่งเริ่มผ่อนไม่กี่ปี และวงเงินเหลือค่อนข้างสูง ประกอบกับรายได้ผู้กู้ที่เหลือไม่เพียงพอกับเกณฑ์สถาบันการเงิน จำเป็นต้องหาบุคคลอื่นเข้ามาเป็นผู้กู้ร่วมแทน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของสถาบันการเงินว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ทั้งนี้ หากคุณสมบัติไม่ผ่าน สถาบันการเงินอาจใช้สิทธิ์ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนชื่อได้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่มีการถอนชื่อออกจากการเป็นผู้กู้ร่วม ผู้กู้ทั้งหมดต้องตกลงกันก่อนว่าสุดท้ายแล้วกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวจะตกเป็นของผู้ใดกันแน่

กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน

สำหรับเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน เมื่อมีการกู้ร่วมนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

(1) ใส่ชื่อผู้กู้คนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

(2) ใส่ชื่อผู้กู้ทุกคนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน

โดยกรรมสิทธิ์แบบที่ 2 นั้น หากในเวลาต่อมา ผู้กู้คนหนึ่งมีความประสงค์จะขายคอนโดหรือบ้าน จำต้องได้รับความยินยอมจากผู้กู้หรือผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมทุกคนเสียก่อน

เมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิต ต้องทำอย่างไร?

สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรกเมื่อผู้กู้ร่วมเสียชีวิต คือ แจ้งให้สถาบันการเงินรับทราบ เพื่อให้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงสัญญาใหม่ โดยมีแนวทางดำเนินการต่อดังนี้

  • เรียกให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตเข้ามาลงชื่อ เพื่อแสดงเจตนารับสภาพหนี้ภายใน 1 ปี

แม้ทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะได้แสดงเจตนารับสภาพหนี้แล้ว แต่ขั้นตอนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องรอสถาบันการเงินประเมินก่อนว่า ทายาทมีความสามารถในการชำระหนี้ในฐานะผู้กู้ร่วมหรือไม่ ส่วนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น เมื่อทายาทเข้ามารับสภาพหนี้ด้วย กรรมสิทธิ์ย่อมตกทอดไปสู่ทายาทด้วยเช่นกัน

  • กรณีทายาทของผู้เสียชีวิต ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

ผู้กู้ที่เหลือสามารถหาผู้กู้ร่วมคนใหม่มาช่วยผ่อนชำระหนี้ต่อได้ทันที แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติเท่านั้น โดยเมื่อแจ้งความประสงค์ต่อสถาบันการเงิน ก็เป็นขั้นตอนประเมินความสามารถการผ่อนชำระ

  • กรณีไม่ดึงทายาทของผู้เสียชีวิต เข้ามาร่วมรับสภาพหนี้

เป็นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ร่วมที่เหลือได้ตกลงกันว่ายินยอมที่จะผ่อนชำระหนี้สินในส่วนของตนและส่วนของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิต แม้จะทำเช่นนี้ แต่กรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งก็ยังคงเป็นของทายาทของผู้เสียชีวิตอยู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook