พาไปส่องข้อดี ข้อเสียของห้องน้ำสำเร็จรูปแบบญี่ปุ่น
ห้องน้ำสำเร็จรูปแบบญี่ปุ่นเป็นห้องน้ำที่นิยมผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น ชิ้นส่วนผนังห้องน้ำ พื้น เพดาน และอ่างอาบน้ำเตรียมเอาไว้ล่วงหน้า จากนั้นจึงนำไปประกอบที่หน้าไซต์งานโดยตรง หรือก็คือ เป็นห้องน้ำที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนสำเร็จรูปทั้งหมดนั่นเองค่ะ จากครั้งที่แล้ว เราได้พูดถึงประวัติความเป็นมารวมถึงลักษณะของห้องน้ำสำเร็จรูปแบบญี่ปุ่นกันไป วันนี้เราจะพาไปส่องข้อดีและข้อเสียของห้องน้ำแบบนี้กันดูบ้าง ว่าแตกต่างและดีกว่าห้องน้ำที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปอย่างไร
ข้อดีของห้องน้ำสำเร็จรูป
1. ทำความสะอาดง่าย
เนื่องจากโครงสร้างของตัวห้องน้ำเป็นชิ้นเดียวกันเกือบทั้งหมด รอยต่อจึงน้อยมาก ทำให้โอกาสที่คราบสิ่งสกปรกจะไปสะสมตามซอกต่าง ๆ น้อยลงตามไปด้วย การทำความสะอาดจึงง่ายและรวดเร็ว ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ทำจากวัสดุที่ระบายน้ำได้ดีด้วยแล้วก็ยิ่งทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นไปอีก
2. ช่วยย่นระยะเวลาก่อสร้าง
ด้วยการก่อสร้างที่อาศัยการประกอบชิ้นส่วนสำเร็จรูปแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน การก่อสร้างห้องน้ำด้วยวิธีนี้จึงใช้เวลาน้อยกว่าการก่อสร้างห้องน้ำแบบปกติ โดยใช้เวลาเพียง 3-5 วันเท่านั้น จึงเหมาะกับบ้านที่มีห้องน้ำเพียงห้องเดียวหรือบ้านที่จำเป็นต้องรีบใช้ห้องน้ำนั่นเอง
3. ออกแบบมาเพื่อเด็กและผู้สูงอายุ
เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ภายในห้องน้ำสำเร็จรูปมีลักษณะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งหมด จึงแทบจะไม่มีพื้นที่ต่างระดับเลย ทำให้ปลอดภัยต่อเด็กและผู้สูงวัยภายในบ้าน นอกจากนี้การออกแบบของพื้นที่ทำมาจากวัสดุพิเศษที่ทำให้น้ำไม่ขังบนตัวพื้น ยังช่วยกันลื่นและสร้างแรงยึดเกาะให้กับเท้าอีกด้วย และในส่วนของอ่างอาบน้ำก็มีขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถก้าวขาเข้าไปนั่งได้โดยง่ายและยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการลื่นล้มได้เป็นอย่างดี
ข้อเสียของห้องน้ำสำเร็จรูป
1. มีขนาดตายตัว
ห้องน้ำสำเร็จรูปเป็นห้องน้ำที่มีการกำหนดขนาดและรูปแบบที่ตายตัวตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในโรงงาน จึงเหมาะกับบ้านที่สร้างใหม่หรือยังอยู่ในขั้นตอนออกแบบมากกว่าบ้านที่ต้องการรีโนเวท เพราะหากห้องน้ำเดิมมีขนาดไม่พอดีกับไซซ์ของห้องน้ำสำเร็จรูปนี้ เช่น เพดานต่ำเกินไปหรือติดเสาของโครงสร้างหลักก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการติดตั้งได้ ทำให้อาจจะต้องเปลี่ยนไปใช้ห้องน้ำแบบฉาบปูนปูกระเบื้องแบบเดิมหรือสั่งออกแบบและผลิตห้องน้ำสำเร็จรูปในกรณีพิเศษ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาที่อาจจะสูงขึ้นตามไปด้วย
2. ต่อเติมได้ยาก
เนื่องจากตัวห้องน้ำมีลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์แบบสำเร็จรูป รูปแบบตายตัวมาตั้งแต่โรงงานเลย ดังนั้นภายหลังที่ติดตั้งเสร็จแล้วจึงต่อเติมได้ยาก เพราะหากต้องการเพิ่มเติมอุปกรณ์หรือเสริมแต่งตัวห้องน้ำนี้ก็อาจจำเป็นต้องถอดประกอบหรือทำลายผนังและเพดานซึ่งเป็นการก่อสร้างที่ค่อนข้างใหญ่ ทำให้เมื่อมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนต่าง ๆ ของห้องน้ำทางผู้ผลิตก็อาจไม่รับประกันสินค้าให้กับทางเรานั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าห้องน้ำสำเร็จรูปแบบญี่ปุ่นมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันออกไป หากทุกคนสนใจก็ลองเปรียบเทียบข้อดีกับข้อเสียกันดูนะคะ ว่าห้องน้ำแบบไหนที่ตอบโจทย์การใช้งานและทุนทรัพย์ของทุกคนมากว่ากัน ระหว่างห้องน้ำแบบฉาบปูนปูกระเบื้องหรือห้องน้ำสำเร็จรูปแบบญี่ปุ่น
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ