ทำแปลงปลูกผักกินเอง พื้นที่ทดลองใหม่ในสวนหลังบ้าน

ทำแปลงปลูกผักกินเอง พื้นที่ทดลองใหม่ในสวนหลังบ้าน

ทำแปลงปลูกผักกินเอง พื้นที่ทดลองใหม่ในสวนหลังบ้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครั้งนี้เราจะพาไปบุกแปลงปลูกผักของ คุณจิ๊บ-พัชมณ ปานะโปย ผู้หญิงธรรมดาคนนึงที่ไม่ได้เป็นชาวสวน ไม่มีความรู้เรื่องพืชผักสวนครัว และมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับตัวเธอมาก แต่เพราะเหตุผลอะไรจึงทำให้เธอสนุกกับการปลูกผักกินเองในสวนหลังบ้าน และยังได้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ออร์แกนิกไทยแลนด์เป็นเครื่องการันตีว่าผักทุกต้นนั้นปลอดสารเคมี เป็นผักออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์

คลุกคลีอยู่กับคนป่วย
เริ่มต้นจากเมื่อ 8 ปีที่แล้ว แฟนจิ๊บเป็นหมอ เราช่วยงานเขาที่คลินิก เห็นคนป่วยเยอะอยากดูแลตัวเอง จึงหาทางป้องกันที่ไม่ใช่การรักษา บวกกับไม่ชอบกินยา แล้วมีอยู่ช่วงหนึ่งคนไทยนิยมดื่มน้ำผักปั่น เราอยากดูแลตัวเอง แค่เอาผักหลายอย่างมาปั่นรวมกันแล้วดื่ม คิดว่าอยากดูแลตัวเองแบบนี้ มันง่ายดีแต่ก็รู้ว่าผักมีสารเคมีปนเปื้อนเยอะ ซึ่งพิษณุโลกหาแหล่งซื้อผักที่ไม่มีเคมียาก เลยซื้อผักจากโครงการหลวงแต่ก็ไม่หลากหลายมีขายไม่กี่ชนิด

ไม่เคยคิดว่าจะปลูกผักกินเอง
ตอนนั้นยังอยู่อาคารพาณิชย์ ไม่มีความรู้เรื่องปลูกผัก ไม่คิดด้วยซ้ำว่าเราจะนั่งปลูกผักกินเอง จะหาแหล่งที่เป็นผักไม่มีเคมีก็ยากมาก ชอบไปเดินตามตลาดสดแต่ก็ไม่มีใครคอนเฟิร์มว่าเป็นผักไม่มีเคมี ชาวบ้านปลูกเองแต่ก็ยังรู้สึกระแวง เลยนึกถึงผักโครงการหลวงแต่ในพิษณุโลกก็หาซื้อผักโครงการหลวงยาก มีขายน้อยชนิดด้วย เป็นแบบนี้อยู่ 2 ปี เรามีกฏของตัวเองคือ ถ้าเลือกผักมา 10 ชนิดแล้วเอามาปั่นรวมกับผักที่มีสารเคมี กลายเป็นว่าอีก 9 ชนิดก็ปนเปื้อนไปด้วย ต้องกินผักซ้ำๆ จนไม่มีทางออกอะไรเลย จะสั่งผักทางออนไลน์ตอนนั้นก็ยังไม่ได้รับความนิยม ราคาสูง

2 ปีกับบทพิสูจน์ในการกินผัก
คิดว่าเราคงชอบกินแบบนี้แหละ เพราะมันก็เหมือนเราได้พิสูจน์ตัวเอง กินอาหารหลักก็ปกติส่วนน้ำผักหรืออะไรแบบนี้เราก็ต้องรับสภาพไป แต่อย่างน้อยมื้อนี้เราเอาผักมาปั่นก็ควรจะปลอดภัยและเราสามารถทำได้ดีที่สุด ประกอบกับเราอยู่อาคารพาณิชย์ จริตเราคงไม่ได้โดนแดด ปลูกต้นไม้ เพราะโตมาในเมือง เป็นแม่บ้านช่วยแฟนที่คลินิก แล้วสถานที่ก็ไม่อำนวยกับการปลูก ถามจากคนไข้ที่มารับการรักษากับเราก็ทำให้รู้ว่าไม่มีใครปลูกผักปลอดสารกินเองเลย สงสัยว่าเราจะต้องลงมือปลูกเองแล้ว

ตัดสินใจไปเรียน
แฟนมีที่ดินซึ่งเป็นสวนที่เราทำอยู่ปัจจุบัน เลยคุยกันว่าน่าจะย้ายมาอยู่บ้าน จะอยู่อาคารพาณิชย์ไปจนถึงอายุเยอะๆ ก็คงไม่ไหว อยากเข้าหาธรรมชาติด้วย เลยใช้พื้นที่แห่งนี้แหละ โดยระหว่างที่เราวางแผนจะย้ายมาก็หาความรู้ตัดสินใจไปเรียนที่กรุงเทพฯแบบเช้าไปเย็นกลับที่บ้านเจ้าชายผัก 1 วันก็ได้วิธีการเพาะต้นอ่อนทานตะวันกลับมา ซึ่งตอนนั้นบ้านยังไม่เสร็จเราก็เริ่มจากการปลูกต้นอ่อนทานตะวันแล้วใช้วิธีวิ่งหาแสงเอา ตอนเราไปเรียนยังไม่มีแปลนสร้างบ้านด้วยซ้ำ ก็ยังอยู่เรื่อยๆ จากนั้นปลูกบ้านคุยกับแฟนว่าเราจะไม่ทำสวนทั่วไป

แบ่งพื้นที่ทำแปลงปลูกผัก
พื้นที่บ้านเกือบไร่ครึ่งแบ่งพื้นที่ปลูกผักประมาณ 90 ตารางวา แต่อย่างที่บอกว่าไม่ได้เป็นชาวสวนมาก่อน อยู่ๆ จะไปเอาจอบขุดสวนยกร่องเราไม่ถนัดแน่นอน คิดดูแล้วว่าเราต้องทำเองให้ได้ เพราะจะเน้นแบบพึ่งพาตัวเอง ถ้าเราจ้างก็เป็นลูปเดิมต้องพึ่งพาคนอื่น ตัดสินใจปลูกเอง ลงมือเอง แต่ถามตัวเองตลอดว่าเราไม่ได้เป็นคนใจรักในการปลูกต้นไม้แต่แรก

แรงจูงใจในการทำสวน
เราชอบสิ่งสวยงาม ไม่อยากโดนดิน โดนแดด เห็นแปลงผักของต่างประเทศรู้สึกว่าสวย อย่างน้อยก็เป็นแรงจูงใจให้เราอยากปลูกผัก ไม่ใช่เป็นร่องดินเลอะๆ เราจะทำแบบยั่งยืน และคิดว่าต้องทำอย่างในต่างประเทศให้ได้ ตัดสินใจคุยกับคนรับจัดสวนทั่วไป แต่ให้เค้ามาทำแปลงปลูกผัด พูดสิ่งที่เป็นความฝันในหัวเรา เปิดยูทูปให้ดูว่าอยากได้แบบนี้ๆ นะ

จ้างคนทำสวนมาทำแปลงผัก
ใช้อิฐประสานยกร่องเป็นแปลงๆ เอาดินลงแปลง ส่วนปลูกผักเราทำเอง เริ่มจากถมดินใหม่เลย ไม่มีต้นไม้เลยสักต้น เป็นที่โล่งแห้งแล้ง แล้วช่างก็ปรับดินให้เรา จ้างมืออาชีพทำให้เรา จากนั้นก็เป็นเรื่องของเราแล้ว ตั้งแต่การปรุงดิน เพาะเมล็ด ตั้งแต่ต้นไม้เป็นเมล็ดจนเก็บเกี่ยวคือหน้าที่ของเรา

เริ่มจากการปลูกผักสลัด
คนนิยมกินผักสลัดแล้วเราเองไม่มีความรู้เรื่องผัก ทำกับข้าวก็ไม่เก่ง แต่เป็นคนกินผักเก่ง ผักแต่ละชนิดมีอะไรบ้างเราก็ไม่ค่อยรู้ พอปลูกผักเองเริ่มจากจากปลูกผักสลัดก่อนเลย ผลผลิตโตง่าย กินง่าย กินสดได้ ปลูกเสร็จก็เด็ดกินเลย จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มชนิดของผักไปเรื่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ จนตอนนี้มีกว่า 50 ชนิดแล้ว เป็นออร์แกนิกทั้งหมด

ได้ตรารับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ออร์แกนิกไทยแลนด์
จริงๆ ขั้นตอนในการขอไม่ได้ยุ่งยาก แต่ทำไมหลายคนบอกว่าได้ตรานี้ยาก สาเหตุที่ได้ยากก็เพราะว่าเราต้องอธิบายว่า การได้ยากคือ กรรมวิธีระหว่างนั้น ไมว่าเราจะทำอะไรต้องจดบันทึกทุกอย่างลงเหมือนในสมุดรายรับรายจ่าย สมัยก่อนคนที่จะขอออร์แกนิกไทยแลนด์จะเป็นเกษตรกรไม่ใช่คนเมืองอย่างเรา ต่อให้เป็นคนเมืองปลูกผักกินเองก็ไม่มีใคร พอจะต้องลงบันทึกประจำวันเค้าก็จะสงสัยแล้วว่าต้องทำยังไง ต้องเก็บรูปเป็นหลักฐานด้วย

จริงๆ หลักเกณฑ์ของออร์แกนิกไทยแลนด์ไม่มีอะไรเลยแต่ว่าคุณต้องพิสูจน์ตัวเองยังไงก็ได้ เพื่อให้หน่วยงานรัฐทราบว่าคุณไม่ได้ใช้สารเคมี วิธีเดียวของภาครัฐก็คือ คุณต้องลงบันทึกประจำวัน รดน้ำ วันไหนที่เพาะเมล็ดก็ต้องลงบันทึกเอาไว้ทุกวัน เป็นระยะเวลาตั้งแต่คุณเริ่มขอแล้วก็ต้องทำแบบนี้ไปตลอด ไม่ใช่ว่าได้แล้วหยุดทำ เค้ามีอายุบอกว่าภายใน 2 ปี แล้วในระหว่าง 2 ปีก็ต้องทำต่อเนื่อง

สุ่มตรวจผัก
เค้าจะเอาผักของเราไปตรวจเรื่อยๆ และมีการสุ่มตรวจด้วย เด็ดผักจากแปลงไป สมมติว่าจิ๊บปลูกผัก ข้างบ้านมีการทำนา พ่นยาฆ่าแมลงแค่ละอองตรงนั้นมาสัมผัสกับผักเราเวลาเค้ามาตรวจส่งเข้าแล็บ ผักเราก็มีสารปนเปื้อนแล้ว ที่นี่จึงมีกฏเหล็กอยู่ข้อหนึ่งว่าต้องมีกันชน แนวกันชนธรรมชาติ ต้องเป็นต้นไม้สูงประมาณ 2-3 เมตร รอบพื้นที่ปลูกของเราเอง หรือเราปลูกลงดิน ที่เราต่ำกว่า เค้าใช้สารเคมีแล้วน้ำไหลซึมลงดิน ที่เราต่ำกว่าไปรับน้ำเค้าก็เจอสารปนเปื้อนแล้ว

ทำอะไรต้องทำให้สุด
เรารู้อยู่แล้วว่าผักของเราไม่ได้ใช้สารเคมี แต่ด้วยความเป็นคนที่ช่างสงสัย อยากรู้ อยากจะส่งตรวจ ไหนๆ จะส่งตรวจแล้วก็ขอเป็นออร์แกนิกเลยแล้วกัน เริ่มจากแค่ความอยากรู้ของเราเอง เข้าไปถามกับเจ้าหน้าที่ของวิชาการเกษตรพิษณุโลกโดยตรงเลยว่าต้องทำแบบไหน เราอยากพูดได้เต็มปากจริงๆ ว่าผักเราเป็นออร์แกนิก เรียกความเชื่อมั่นด้วย

อยากเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน
อยากบอกว่าการปลูกผักไม่ได้ยาก เราทำกันแค่สองคนกับแฟน ซึ่งพอทำแล้วคนเห็นก็มีคนปลูกตามกันเยอะมาก เหมือนเราเป็นผู้ช่วยที่ลดขั้นตอนให้กับเค้า ด้วยความที่เรามีประสบการณ์มาก่อน ลองผิดลองถูก

ปลูกผักกว่า 50 ชนิด
เช่น กระเพรา โหระพา แมงลัก ตะไคร้ อยากกินอะไรก็ปลูกอันนั้น หลังๆ เริ่มทำอาหารกินเอง ตอนเช้าเราก็เดินลงสวนพร้อมตะกร้า 1 ใบ แล้วดูว่ามีผักอะไรที่นำมาทำอาหารได้บ้าง แต่ถ้าวันไหนอยากกินต้มยำ แต่ยังไม่มีตะไคร้เราก็ยังไม่ทำจะปลูกตะไคร้ก่อน อย่างหัวหอมปลูกไม่เป็นก็ซื้อเอา พยายามจะซื้อให้น้อยที่สุด

ส่วนผักที่ปลูกเราจะแบ่งตามฤดูกาล เช่น ผักหัว แครอท หรืออย่างผักหัวส่วนใหญ่ไม่ว่าจะปลูกผักหัวหรือผักใบก็ต้องปลูกช่วยปลายๆ ตุลา ซึ่งสวนของจิ๊บไม่ได้ทำหลังคา โดนแดดร้อยฝนร้อย ที่เห็นว่ากางมุ้งก็คือเป็นมุ้งโปร่งๆ ไม่ใช่สวนระบบปิด ยังไงแมลงก็เข้าไปได้อยู่ดี แต่จากหนักก็เป็นเบาได้

ปลูกข้าวในแปลงด้วย ได้กินข้าวของเราเอง อย่างที่บอกว่าเราทำจนสุดแล้ว เราแนะนำได้ หลายคนสงสัยว่าปลูกข้าวในแปลงได้ด้วยหรอ จริงๆ ก็คือปลูกเหมือนผัก พองอกในถาดหลุมก็ย้ายต้นกล้าลงแปลง ไม่ต้องขังน้ำก็ได้ ที่ขังเพราะว่าหญ้าอย่างเดียวเลย ข้าวกับหญ้าคือพืชตระกูลเดียวกันแต่ชาวนาเอาน้ำเข้านา เพราะว่าข้าวเป็นพืชทนน้ำ ขังได้มากกว่าหญ้า จะขังในช่วงแรกที่ก้ำกึ่งขังเพื่อให้หญ้ามันตาย พอหญ้าไม่ขึ้นท่วมข้าว พอข้าวโตไม่มีแสงลงแล้วปล่อยน้ำออกจนดินไม่มีแสงลงหญ้าก็ไม่ขึ้น จากนั้นก็เอาน้ำออก ถ้าขังนานข้าวก็ตาย

คิดไม่ผิดที่ปลูกผักกินเอง
เราตัดสินใจไม่ผิดและคิดว่าน่าจะปลูกมาตั้งนานแล้ว เวลาได้ผลผลิตเราก็จะแบ่งขายนิดหน่อย ใช้หลักการของในหลวงรัชกาลที่ 9 เริ่มจากปลูกกินเองก่อน ถ้ามีมากก็จะแจกจ่ายในซอย แต่ถ้าให้บ่อยๆ เค้าจะเกรงใจเลยขอซื้อ ถ้าเหลือจากที่เราต้องการก็จะแบ่งขายในกรุ๊ปไลน์เล็กๆ วันนี้มีผักชนิดนี้พอแบ่งได้เค้าก็จะมาซื้อที่บ้าน หากใครสนใจหรือสอบถามเกี่ยวกับการปลูกผักคุณจิ๊บยินดีให้คำปรึกษาในกลุ่ม #สวนผักที่บ้านฉัน https://www.facebook.com/groups/393332368834527/

ขอขอบคุณภาพประกอบ
คุณจิ๊บ-พัชมณ ปานะโปย

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ

อัลบั้มภาพ 21 ภาพ ของ ทำแปลงปลูกผักกินเอง พื้นที่ทดลองใหม่ในสวนหลังบ้าน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook