วิธีเลือกรางน้ำฝน พร้อมการติดตั้งและการดูแลรักษา
ฝนตกถี่ๆ แบบนี้หลายบ้านเริ่มตระเตรียมบ้านให้พร้อมรับหน้าฝน "รางน้ำฝน" ถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของบ้าน เพราะรางน้ำฝนนั้นมีไว้เพื่อรองรับฝนที่ตกลงมา โดยรางน้ำฝนมีหลายแบบใครที่กำลังจะเปลี่ยนรางน้ำฝนใหม่ หรือติดตั้งรางน้ำฝนลองมาดูวิธีเลือกรางน้ำฝนให้เหมาะสมกับความต้องการกันดีกว่า
ประเภทของรางน้ำฝน
โดยทั่วไปเราแบ่งรางน้ำฝนจากวัสดุที่ใช้งาน ซึ่งรางน้ำฝนแต่ละแบบก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังส่งผลต่อราคาที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย
รางน้ำฝนโลหะ
- รางน้ำฝนอะลูมิเนียม
อะลูมิเนียมเป็นอีกวัสดุหนึ่งที่นิยมนำมาทำรางน้ำฝน เพราะไม่่ทำให้เกิดสนิมง่ายทนต่อการกัดกร่อนสูง น้ำหนักเบา มีความสวยงาม และมีหลายสีให้เลือกมากกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังไม่มีปัญหาการรั่วซึม เพราะสามารถขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อได้ แต่ราคาสูง - รางน้ำฝนสังกะสี
เป็นวัสดุที่นิยมนำมาทำรางน้ำฝนมากในอดีต เพราะมีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายราคาถูก แต่อายุการใช้งานค่อนข้างต่ำ เพราะเป็นสนิมได้ง่าย ความสวยงามน้อยกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น และเมื่อฝนตกเสียงตกกระทบยังดังอีก - รางน้ำฝนสแตนเลส
รางน้ำฝนประเภทนี้มีเนื้อวัสดุเป็นสีธรรมชาติ แม้ราคาจะสูงกว่ารางน้ำฝนประเภทสังกะสี แต่สวยกว่า และมีอายุการใช้งานนานกว่า สำหรับใครที่เลือกรางน้ำฝนสแตนเลสควรเลือกเกรด 304 เพื่อป้องกันปัญหาสนิม - รางน้ำฝนเหล็กเคลือบกัลวาไนซ์
เป็นรางน้ำฝนสำเร็จรูป จึงได้มาตรฐานทั้งเรื่องขนาด และรูปทรง มีความแข็งแรงทนต่อการกัดกร่อน และยังมีหลายสีให้เลือก
รางน้ำฝนวัสดุสังเคราะห์
- รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส
เป็นอีกหนึ่งวัสดุที่นิยมใช้ทำรางน้ำฝนตามบ้าน เพราะวัสดุมีความคงทนสูงไม่เกิดสนิม มีความสวยงามเป็นเนื้อเดียวกัน แทบไม่มีรอยต่อ มีทั้งแบบสำเร็จรูปและแบบสั่งผลิตตามต้องการ อายุการใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี แต่ราคาสูงแต่มีหลายสีให้เลือก การติดตั้งยังต้องใช้ช่างเฉพาะทางอีกด้วย - รางน้ำฝนไวนิล
รางน้ำฝนประเภทนี้สวยงาม ผิวเรียบมัน มีหลายสีให้เลือกเข้ากับบ้านได้ง่ายไม่เกิดสนิม เนื้อวัสดุคล้ายพลาสติก แต่มีความเหนียว ทนมากกว่าพลาสติกติดตั้งง่ายกว่ารางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส อายุการใช้งานนานกว่า 10 ปีแต่ต้องเลือกเกรดไวนิลให้ดี เพราะว่าตามตลาดจะมีให้เลือกหลายเกรด ซึ่งความทนแตกต่างกันออกไป
วิธีเลือกรางน้ำฝนให้เหมาะกับบ้าน
สำหรับใครที่กำลังจะติดตั้งรางน้ำฝน อาจต้องใช้หลายๆ ปัจจัยประกอบการเลือกเพื่อให้เหมาะกับงบประมาณ และการใช้งานของบ้าน
1.งบประมาณ
ถือเป็นปัจจัยเบื้องต้นเลยก็ว่าได้ที่ใช้ตัดสินใจ ดังนั้นก่อนเลือกรางน้ำฝนควรสำรวจราคาจากร้านที่รับติดตั้งรางน้ำฝน ทั้งค่าวัสดุ ค่าติดตั้ง การบริการแล้วดูว่าแบบไหนเหมาะกับงบที่ตั้งไว้ รวมไปถึงการใช้งาน
2.ความคุ้มค่า
ถ้าเป็นเรื่องความคุ้มค่าอาจต้องดูเรื่องวัสดุของรางน้ำฝนเป็นที่ตั้ง ซึ่งอย่างที่กล่าวไปว่าปัจจุบันมีรางน้ำฝนมีวัสดุให้เลือกหลากหลาย ถ้าเป็นความคุ้มค่าควรเลือกรางน้ำฝนอะลูมิเนียม ซึ่งมีอายุการใช้งานนานกว่ารางน้ำฝนประเภทอื่น
3.ขนาดพื้นที่หลังคา
ก่อนเลือกรางน้ำฝนควรพิจารณาขนาดพื้นที่หลังคาให้เหมาะสมกัน โดยในปัจจุบันรางน้ำฝนมีให้เลือกตั้งแต่ขนาด 4,5 และ 6 นิ้ว หากหลังคามีขนาดใหญ่ควรเลือกรางน้ำฝนขนาด 5 นิ้วขึ้นไป และหากหลังคามีความยาวมาก ควรเพิ่มรูระบายน้ำหลายๆ จุด เพื่อให้สามารถระบายน้ำฝนได้ทัน
4.การติดตั้ง
โดยปกติเราจะติดตั้งรางน้ำฝนกับเชิงชาย หรือไม้ปีกนกโดยการใช้ตะปูหรือน็อต หรือรางน้ำฝนบางประเภท เช่นรางน้ำฝนสังกะสีจะใช้การแขวนกับจันทัน การติดตั้งรางน้ำฝนนั้นหากเป็นการติดตั้งบริเวณหลังคาโรงจอด
รถหรือหลังคาครัวไทยหลังบ้าน ถ้ามีอุปกรณ์ครบสามารถติดตั้งเองได้ แต่หากเป็นบ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม 2 ชั้นควรใช้บริการช่างที่มีความชำนาญดีกว่าเพราะรางน้ำฝนบางประเภทต้องใช้ช่างเฉพาะทางมาติดตั้ง
5.ความสวยงาม
ถ้าต้องการเลือกรางน้ำฝนให้เข้ากับสีของหลังคาหรือบ้าน ควรเลือกใช้รางน้ำฝนที่มีสีให้เลือกหลากหลาย เช่นรางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส หรือรางน้ำฝนอะลูมิเนียมแทนรางน้ำฝนสังกะสี
วิธีการบำรุงรักษารางน้ำฝน
1.หมั่นเช็กการทำงานของรางน้ำฝนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อฝนตก หรืออาจลองฉีดน้ำบนหลังคา แล้วสังเกตว่ามีการรั่วหรือซึมที่ส่วนใดของรางน้ำฝนหรือเปล่า จะได้ซ่อมแซมก่อนช่วงฝนตกหนักนอกจากนั้นให้สังเกตตะขอแขวนรางว่ายังอยู่หรือไม่ หากฝนตกเยอะจะได้ไม่มีปัญหารางน้ำหล่นลงมาเสียหาย
2.หมั่นทำความสะอาดรางน้ำฝน หลังพ้นหน้าฝนไปแล้ว ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยครั้งคือ การลืมทำความสะอาดรางน้ำฝนทำให้มีเศษใบไม้ ฯลฯ ในรางน้ำฝน ทำให้เกิดการอุดตัน และหากสิ่งตกค้างในรางน้ำฝนมีน้ำหนักมากอาจทำให้รางน้ำฝนพังเสียหายได้
ค่าใช้จ่ายเมื่อต้องติดตั้งรางน้ำฝน
การติดตั้งรางน้ำฝนแต่ละประเภทนั้นมีราคาต่างกันออกไป ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกันตามราคาติดตั้ง หรือเกรดวัสดุ โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังต่อไปนี้
– รางน้ำฝนไวนิล ความยาวมากกว่า 20 เมตร ราคาประมาณ 750 บาทต่อเมตร
– รางน้ำฝนสแตนเลส ขนาด 6 นิ้ว ความยาวมากกว่า 20 เมตร ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อเมตร
– รางน้ำฝนอลูมิเนียม ราคาประมาณ 1,000 บาทต่อเมตร
– รางน้ำฝนแบบสังกะสี ราคาประมาณ 300 บาทต่อเมตร
– รางน้ำฝนไฟเบอร์กลาส ราคาประมาณ 800 บาทต่อเมตร
วิธีติดตั้งรางน้ำฝน
การติดตั้งรางน้ำฝนแต่ละประเภทมีวิธีการติดตั้งแตกต่างกันออกไป ซึ่งการติดตั้งรางน้ำฝนเบื้องต้นมีดังนี้
1.สำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้งรางน้ำฝน ความแข็งแรงของเชิงชาย หรือปีกนกที่จะติดตั้ง หากมีการรื้อรางน้ำเก่าออก ระวังอย่าให้กระทบกับโครงสร้างหลังคา
2.วัดระดับน้ำหัวท้ายของรางน้ำ เพื่อวัดความลาดเอียงของรางน้ำ จากนั้นทำการตีเต๊า หรือเชือกตีแนว เพื่อสร้างแนวเส้นที่จะติดตั้งรางน้ำฝน
3.ติดตั้งตะขอแขวนรางตามระยะที่เหมาะสมกับประเภทรางน้ำ ซึ่งแต่ละประเภทมีระยะที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยทั่วไปจะเว้นระยะห่างประมาณ 60-80 เซนติเมตรหากเป็นรางน้ำฝนไวนิลจะต้องใช้ซิลิโคนในการเชื่อมระหว่างรอยต่อ
4.ติดตั้งรางน้ำฝนกับผนังหรือเสาด้วยตัวยึด
5.เช็กการทำงานของรางน้ำฝนด้วยการทดลองฉีดน้ำบนหลังคา หากน้ำไหลเป็นปกติก็ถือว่าไม่มีปัญหา
ติดตั้งรางน้ำฝนอย่างไรไม่ให้มีปัญหากับเพื่อนบ้าน
การติดตั้งรางน้ำฝนมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงคือการล้ำไปในขอบเขตบ้านของเพื่อนบ้าน เพราะถ้ารางน้ำฝนยื่นเลยออกไปในเขตบ้านเพื่อนบ้าน จะทำให้น้ำล้นไปฝั่งบ้านของเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหล่านั้นด้วยการหาระยะการติดตั้ง
ตามข้อกฎหมายการสร้างบ้านต้องระวังเรื่องการระบายน้ำฝน เพื่อไม่ให้การระบายน้ำกระทบต่อที่ดินข้างเคียง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 44 (พ.ศ. 2538) ข้อ 2 บอกไว้ว่า "อาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงต้องมีการระบายน้ำฝนออกจากอาคารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่นหรือเกิดน้ำไหลนองไปยังที่ดินอื่นที่มีเขตติดต่อกับเขตที่ดินที่เป็นที่ตั้งของอาคารนั้น"
ประกอบกับกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อ 50 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) "กำหนดให้ แนวผนังอาคารต้องร่นจากเขตที่ดินข้างเคียงไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร และเป็นผนังทึบ"
ดังนั้น หากติดตั้งรางน้ำฝนกับหลังคาที่มีการติดตั้งเชิงชายเรียบร้อยแล้ว ระยะยื่นปลายกระเบื้องหลังคารางน้ำฝนจะใช้พื้นที่ประมาณ 15-20 เซนติเมตร ยกเว้นกรณีทำรางให้มีความกว้างพิเศษหรือรางคอนกรีตที่กำหนดขนาดเองรางน้ำฝนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้านของคุณมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และป้องกันปัญหาต่าง ๆ นานาที่อาจเกิดขึ้นกับเม็ดฝนเม็ดเล็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายของต้นไม้ สนามหญ้า หรือปัญหากับเพื่อนบ้าน