หนุ่มรีวิว “ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี” ยุ่งยากหน่อย แต่ลองศึกษา อาจได้บ้านดี ราคาถูกมาก

หนุ่มรีวิว “ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี” ยุ่งยากหน่อย แต่ลองศึกษา อาจได้บ้านดี ราคาถูกมาก

หนุ่มรีวิว “ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี” ยุ่งยากหน่อย แต่ลองศึกษา อาจได้บ้านดี ราคาถูกมาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังหนึ่งมีวิธีการซื้อหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเองทั้งหมด การซื้อบ้านจากโครงการโดยตรง หรือซื้อบ้านมือสอง ซึ่งก็เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม

แต่ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่หลายคนยังไม่ทราบมาก่อน นั่นคือ "การซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี" ซึ่งมีบ้านหลากหลายประเภทให้เลือกซื้อในราคาที่แตกต่างกันไป วันนี้ เราจึงจะพามาชมรีวิวการซื้อบ้านจากกรมบังคับคดีกันครับ

โดยสมาชิกเว็บไซต์พันทิป meechang ได้เล่าว่าตนและภรรยาอยากได้บ้านมาก จึงได้ดูบ้านผ่านแอพฯ Led Property ของกรมบังคับคดี แล้วจึงพบว่ามีบ้านให้เลือกเยอะมาก

แล้วเจ้าตัวก็ไปสนใจทาวน์เฮาส์หลังมุม แถวลาดพร้าววังหินราคา 1.9 ล้านบาท พอวันรุ่งขึ้นพบว่ามีสถานะขายได้แล้ว มารู้ทีหลังว่าทาวน์เฮาส์หลังนี้ขายไป 4.2 ล้าน

จากนั้นเลยเริ่มศึกษาเกี่ยวกับบ้านบังคับคดีให้มากขึ้น ก็เข้าเว็บไซต์กรมบังคับคดีไปเลย

แนะนำว่ามือใหม่ เข้าไปที่หมายเลข 1 ก่อนครับ

จะเจอหน้าแบบนี้ แนะนำว่าให้ใส่จังหวัด และตำบล หรือแขวงก็พอ จากนั้นเลือกประเภททรัพย์ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กรอกรหัส แล้วค้นหา

จะได้ตารางแบบนี้มา

ซึ่งข้อเสียของกรมบังคับคดีคือ เราจะไม่รู้เลยว่ารายการไหนขายได้แล้ว หรือยังขายไม่ได้

เช่นรายการนี้ รายละเอียดตามภาพ

ถ้านัดที่ 1 ขายได้เลย ราคาขายจะเริ่มต้นที่ 2.2 ล้านบาท

ถ้านัดที่ 1 ขายไม่ได้ ราคาขายจะลดไปอีก 10% ราคาจะอยู่ที่ 1.971 ล้าน แต่ประกาศขายจริง จะเริ่มที่ 2.0 ล้าน

นัดที่ 2 ราคาจะเริ่มต้นที่ 2.0 ล้าน

นัดที่ 2 ถ้ายังขายไม่ได้ราคาจะลดไปอีก 20 % ของราคาเริ่มต้น หรือประมาณ 1.8 ล้าน

นัดที่ 3 ถ้ายังขายไม่ได้ราคาจะลดไปอีก 30% ของราคาเริ่มต้น หรือประมาณ 1.55 ล้านบาท (มีเศษปัดขึ้น)

ครั้งที่ 4-6 ราคาจะไม่ลดไปกว่านี้

ถ้าให้แน่ใจ แนะนำว่าต้องไปดูบ้านด้วยตัวเอง ถ้าหมู่บ้านมีนิติบุคคล ก็บอก รปภ.เลยว่ามาดูบ้านบังคับคดี ขอพบนิติบุคคล ถ้านิติไม่อยู่ก็บอกเลยว่าจะมาซื้อบ้านบังคับคดี บ้านเลขที่…นี้

ซึ่งประสบการณ์ส่วนตัว รปภ.ให้เข้านะ แต่แนะนำว่า ให้ขับรถยนต์ไป ขับมอเตอร์ไซค์ไปจะโดนมองแรงได้ (โดนมาแล้ว) รปภ.บางทีก็บอกว่าบ้านเลขที่นี้…มีคนอยู่หรือไม่มีคนอยู่ บางทีก็ไม่บอก บางที่ก็รู้ประวัติหมู่บ้านดี อย่าลืมถามค่าส่วนกลางกับนิติด้วยล่ะ

จากนั้นเราก็คลิกเข้าร่วม ลงทะเบียนสู้ราคา แนะนำว่าให้ลงทะเบียนนะ เพราะจะเร็วมากตอนยื่นหลักประกัน ถ้าไปกรอกแบบฟอร์มหน้างาน เจ้าหน้าที่เรื่องมากพอสมควร

หลักประกัน ถ้าบ้าน 1-3 ล้าน ต้องมีเงิน 150,000 บาท ซื้อเช็คชื่อสำนักงานบังคับคดี… ตามประกาศ แนะนำว่าซื้อเช็ค เร็วสุดวันที่ไปลงทะเบียนประมูล แต่ถ้าเช็คเงินสดค่าธรรมเนียม 20 บาท

จะเปลี่ยนไปใบ้บัตรเดบิตกรุงไทยก็ได้ แต่ต้องไปติดต่อธนาคารขอขยายวงเงินการกดเงินเป็นวันละ 2 แสน ค่าธรรมเนียมการรูด 10 บาท แต่จะใช้บัตรเครดิตก็ได้ ค่าธรรมเนียม ประมาณ 1 %

วันนัด แนะนำว่าให้ไปถึงสถานที่ประมูล ส่วนตัวไปที่อาคารสีติพรรณ กรมบังคับคดี แขวงบางขุนนนท์ เพราะการประมูลแต่ละรายการถ้าไม่มีผู้สู้ราคาจะผ่านไปเร็วมาก ของผม 9.30 รายการที่ 40 กว่าแล้ว และจะมีการแจ้งด้วยว่า วันนี้จะไม่มีการประมูลรายการอะไรบ้าง ไปเก้อ มารอบหนึงแล้ว

เลยแนะนำว่าภาพที่ 2 ให้กดดูที่ หมายเลข 3 ก่อน จะได้ดูประวัติบ้าน ว่าบ้านหลังนี้ ผ่านการขายมากี่รอบ โจทก์ กับจำเลย เล่นแง่อะไรกัน

ส่วนตัว ผมเจอบ้านที่หลักสี่ 2.5 ล้าน เป็นนัดที่ 6 ราคาจะเหลือ 1.7 ล้าน พอวันประมูล เจ้าหน้าที่ประกาศว่าโจทก์งดขาย…แล้วมาดูประวัติการประกาศขายพบกว่าโชกโชนมาก ตั้งแต่ปี 60

อีกหลังหนึ่งแถวลาดปลาเค้า ดึงเรื่องตั้งแต่ปี 54  งดขายด้วยหลายเหตุผล แล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นถึงผู้บริหารหน่วยงานรัฐชื่อดังอีก

เลยรู้ว่าไม่ต้องไปหวังมันละ แล้วในสถานะก็บอกว่า (หมายเลข 3 ภาพที่ 2) โจทก์งดขายทุกนัด แต่ในสถานะในเว็บกรมบังคับคดีบอกว่าคลิกเข้าร่วมประมูลได้ ย้อนแย้งปะล่ะ

สุดท้ายโทรไปถามสำนักงานบังคับคดีแพ่ง กทม.3 เลยพบว่า โจทก์งดขายทุกนัดจริงๆ  ตามภาพ

มาถึงบ้านของผมบ้าง

จากที่พลาดจาก หลักสี่ และ ลาดปลาเค้าแล้ว ก็เปลี่ยนไปดูแถวสายไหม ซึ่งได้มา 4 หลัง ถนนวัชรพล 1 หลัง กับ ถนนสายไหม 3 หลัง

หลังที่ 1 แถววัชรพลเป็นบ้านร้างหนักมาก ถือว่าโชคดีนะ เพราะส่วนใหญ่ที่ไปดูมามีคนอยู่ ไม่ต้องมาปวดหัวเรื่องไปไล่ที่เค้าหรือฟ้องขับไล่

หลังที่ 2 กับ 3 อยู่หมู่บ้านเดียวกัน คนละซอย บ้านสวยแต่ดันมีคนอยู่

หลังที่ 4 เป็นบ้านร้าง สภาพใหม่กริบ แต่บ้านทรุดหนักมาก แถมไกลสุด

แต่นัดของหลังที่ 1 ดันมาก่อนคือวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ตอนแรกอ่านไม่ดีนึกว่าจัดที่โรงแรมมิราเคิล แต่ก็ใช่นัดแรกที่โรงแรม แต่นัดต่อไปจัดที่กรมบังคับคดี บางขุนนนท์ แล้วต้องรีบขับรถไปบางขุนนนท์

พอไปถึงเนื่องจากไม่ได้ลงทะเบียนล่วงหน้าไว้ ต้องมากรอกเอกสารใหม่ เจ้าหน้าที่ก็เรื่องมาก ว่าต้องเขียนที่อยู่ตามบัตรประชาชนเท่านั้น

พอไปจ่ายเงินประกัน 150,000 บาท ใช้เครื่องรูดบัตร EDC ครั้งแรกรูดไม่ผ่าน ครั้งที่ 2 รูดผ่าน ลำดับทรัพย์ตอนนั้นก็ 39 แล้ว ทรัพย์ของผม 44 โคตรรีบวิ่งขึ้นไปห้องประมูล

นั่งรถไปสักพักทรัพย์ก็ประกาศขาย 1.5 ล้าน

ตัวแทนโจทก์………ไม่มานะคะ

ตัวแทนจำเลย………ไม่มานะคะ

เริ่มต้นที่ 1.5 ล้าน ขึ้นราคายกละ 50,000 บาท

มีใครสนใจยกป้ายค่ะ (มีคนยกกัน 5 คน)

ราคาก็ขึ้นไปจนถึง 1.65 ล้าน

มีคนหนึ่งยกเบอร์บอกเจ้าหน้าที่ว่า ขอ 1.85 ล้านครับ เจ้าหน้าที่บอกว่าใครสนใจบ้าง แฟนบอกให้ผมยกสู้ ผมก็เถียงแฟนว่าเราตั้งงบไว้ 1.8 ล้านไม่ใช่เหรอ แฟนบอกจะสู้ ยกเลย ผมก็เลยยก

เจ้าหน้าที่บอกว่า 1.9 ล้านมีใครสู้ไหมคะ

ไม่มีนะคะ ครั้งที่  1  2   3

เคาะไม้ ผมนี่หน้าชาไปเลย ไม่คิดว่าจะได้บ้าน แล้ว

จากนั้นก็เดินลงไปด้านล่าง ไปกรอกแบบฟอร์มขอขยายระยะเวลาชำระเงิน กรมบังคับคดีขยายให้ 3 เดือน ให้ชำระประมาณปลายเดือนตุลาคม รับใบเสร็จเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย แผนที่สัญญา สำเนาโฉนด แผนที่ ฯลฯ  ในเอกสารจะระบุว่าค่าส่วนกลาง(ถ้ามี) จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่เคาะไม้ ก็คือวันที่ไปประมูล

จากนั้นก็เลยไปดูบ้านอีกรอบ คราวนี้เข้าไปในบ้านเพราะไม่ได้ล็อกไว้ บ้านถือว่าสภาพดีมาก แค่ขยะเยอะไปหน่อย

แล้วก็เอาชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ ไปค้นใน google ดันเจอ เบอร์โทร เลยโทรไปคุย เลยรู้มาว่าเค้าตกงาน ตอนนี้อยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ทรัพย์สินอะไรภายในบ้านยกให้หมดเลย

จากนั้นก็ไปคุยกับนิติบุคคล ก็แจ้งมาว่าให้เจ้าของบ้านเดิมส่งจดหมายระบุว่า อนุญาตให้ผม เข้าทำการปรับปรุงบ้าน นำของในบ้านไปทิ้ง พร้อมสำเนาบัตรประชาชน

ผมก็โทรไปบอกเจ้าของเดิมเค้าก็ทำให้นะ แล้วก็ส่งมาให้ วันหยุดยาวที่ผ่านมา ก็เลยถือโอกาสไปทำความสะอาดบ้าน ฉีดปลวก พาผู้รับเหมาไปประเมินราคา ค่ารีโนเวท ผู้รับเหมาก็ถามว่าซื้อมากี่บาท ก็บอกไปตรงๆ ว่า 1.9 ล้าน ผู้รับเหมาทำหน้า งง ว่าจริงดิ ราคานี้หาไม่ได้นะแถวนี้ เริ่มต้นก็ 2.5 ล้านแล้ว

สรุป การซื้อบ้านบังคับคดี

1. เลือกแขวง ตำบลที่ต้องการจริงๆ เพราะมันก็มีให้เราเลือกจริงๆ นั่นแหละ

2. หาตัวเลือกไว้เยอะๆ เพราะโอกาสผิดหวังสูงมาก

3. เช็คประวัติบ้านดีๆ ถ้าประวัติโชกโชน รายการยาวไป ทำใจว่าอาจจะไม่ได้

4. ถ้ามีคนอยู่ในบ้าน สมมติว่าประมูลได้แล้ว ก็ลองไปคุยกับเค้าดีๆ ครับ ถ้าไม่เป็นมิตรก็เตรียมแจ้งบังคับคดีให้มาขับไล่

5. ต้องมีเงินก้อน 150,000 บาท หรืออื่นๆ เป็นค่ามัดจำให้กับกรมบังคับคดี

6. ลงทะเบียนก่อนประมูลดีสุด ถ้าซื้อเช็คด้วยจะเร็วมาก แต่ถ้าอยากประหยัด รูดบัตรเดบิตก็ได้ ค่าธรรมเนียม 10 บาท เช็ค 20 บาท

7. ต้องไปดูบ้านก่อนจะซื้อทุกครั้ง ในรูปมันหลอกมาก บางบ้านถ่ายรูปแย่ แต่บ้านดีมากก็มี

8. ถ้าได้เข้าไปในบ้านแล้วรู้สึกแปลกๆ ร้อนๆ อย่าซื้อ(ความเชื่อส่วนตัว)

9. ไม่ได้มีเราที่จะซื้อ มันมีคนแข่งจริงๆ ยังไงก็เตรียมงบไว้ในใจด้วย

10. ให้คิดซะว่า ถ้ามันเป็นของเรา มันจะได้มาโดยง่าย ไม่ต้องไปเครียดมาก

11. คู่มือซื้อทรัพย์บังคับคดี มี e-book ให้อ่านในเว็บกรมบังคับคดี

12. คอนโดเยอะมาก ถ้าสนใจไปเลือกดูกันได้ครับ

และนี่ก็เป็นรีวิวที่น่าสนใจมากเลยนะครับ หากใครที่สนใจก็สามารถลองมาศึกษากันไว้ได้ เผื่ออาจจะโชคดีได้บ้านที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดแบบเจ้าของเรื่องรายนี้ก็ได้นะครับ…

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ หนุ่มรีวิว “ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี” ยุ่งยากหน่อย แต่ลองศึกษา อาจได้บ้านดี ราคาถูกมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook