4 วิธีใช้ตู้เย็นแบบผิด ๆ ที่ควรเลี่ยง เพื่อยืดอายุการใช้งาน
การรักษาความสดใหม่ของอาหารไว้ได้อย่างยาวนานช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยซึ่งมาจากอาหารที่หมดอายุ ยิ่งประเทศไทยเป็นเมืองร้อนยิ่งเพิ่มโอกาสที่อาหารจะเสียได้ง่าย ดังนั้น "ตู้เย็น" ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยรักษาความสดใหม่ของอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่าที่ผ่านมาเราอาจใช้งานตู้เย็นแบบผิดๆ ซึ่งส่งผลต่อการทำงาน และอาจทำให้อาหารเน่าเสียง่ายขึ้น ดังนั้นเหล่านี้คือ 4 วิธีการใช้งานตู้เย็นแบบผิดๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง พร้อมคำแนะนำเพื่อช่วยดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว และป้องกันไม่ให้ตู้เย็นทำงานหนักโดยไม่จำเป็น
เปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นาน ๆ
การเปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้เป็นเวลานานเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อายุการใช้งานของตู้เย็นสั้นลง เนื่องจากเมื่อความร้อนจากอากาศภายนอกเริ่มเข้าไปในตัวตู้เย็น คอมเพรสเซอร์ก็จะต้องทำงานหนักเพื่อเร่งทำความเย็นให้กลับสู่อุณหภูมิความเย็นเดิมอีกครั้ง ซึ่งยังส่งผลให้เปลืองไฟมากขึ้นอีกด้วย จึงควรเปิดตู้เย็นเมื่อจำเป็นเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันตู้เย็นมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกแบบประตูตู้เย็นโดยเป็นประตูกระจกเล็กบนบานประตูใหญ่ ให้สามารถมองเห็นของด้านในตู้เย็น โดยไม่ต้องเปิดประตูและสูญเสียความเย็นโดยไม่จำเป็น
แช่ของในตู้เย็นแน่นจนเกินไปและจัดเก็บผิดวิธี
แน่นอนว่าการแช่ของในตู้เย็นแน่นจนเกินไปและไม่จัดระเบียบให้ดีส่งผลให้ตู้เย็นต้องทำงานหนักขึ้น และยังกีดขวางลมเย็น ทำให้กระจายตัวไม่ทั่วถึง ซึ่งอาจทำให้อาหารสดบางชนิดไม่ได้รับอุณหภูมิในการจัดเก็บที่เหมาะสม และเกิดการเน่าเสียเร็วกว่าที่ควร ดังนั้น จึงควรหมั่นตรวจสอบวันหมดอายุของวัตถุดิบต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ พร้อมจัดระเบียบอาหารภายในตู้เย็นตามประเภท เช่น แบ่งเนื้อสัตว์ใส่ถุงตามปริมาณที่กินต่อหนึ่งครั้งเพื่อความเป็นระเบียบและสะดวกต่อการนำไปละลายน้ำแข็ง จัดเก็บอาหารทะเลในกล่องแทนการใช้ถุงพลาสติก เพื่อป้องกันน้ำที่อาจไหลออกมาซึ่งอาจก่อให้เกิดคราบภายในตู้เย็น และหลีกเลี่ยงการเก็บผักและผลไม้ต่างชนิดไว้รวมกัน เพราะก๊าซเอทิลีนในผลไม้สุกบางชนิดจะทำให้ผักผลไม้ชนิดอื่น ๆ เน่าเสียเร็วกว่าปกติ จึงควรจัดเก็บผักและผลไม้แยกกันด้วยการใช้กระดาษห่อ ถุงสุญญากาศ และกล่องพลาสติก เป็นต้น
ติดตั้งและตั้งค่าอุณหภูมิตู้เย็นที่ไม่เหมาะสม
การเว้นระยะห่างระหว่างตู้เย็นและผนังหรือสิ่งของอื่น ๆ ในระยะที่น้อยเกินไปอาจทำให้ประสิทธิภาพในการแช่แข็งลดลง และยังต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การติดตั้งตู้เย็นที่เหมาะสมคือ เว้นระยะห่างจากผนังหรือเครื่องใช้อื่น ๆ มากกว่า 50 มิลลิเมตร เพื่อการระบายความร้อนที่ดีและความสะดวกในการเปิด-ปิด นอกจากนี้ ยังควรตั้งค่าอุณหภูมิภายในตู้เย็นและช่องแช่แข็งให้เหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพและการประหยัดพลังงานสูงสุด ซึ่งขั้นตอนนี้จะช่วยให้เก็บรักษาความสดใหม่ของอาหารไว้ได้นานที่สุดโดยไม่ต้องเสียค่าไฟเพิ่ม
ใช้งานตู้เย็นโดยไม่ทำความสะอาดเลย
การรักษาความสะอาดภายในตู้เย็น เพื่อขจัดคราบสกปรก กลิ่นอับ และการก่อตัวของเชื้อโรค เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการคงความสดใหม่ให้กับอาหารสดได้ยาวนานยิ่งขึ้น โดยควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงทั้งภายในและภายนอก ด้วยการใช้ผ้าชุบเบกกิ้งโซดาหรือน้ำส้มสายชูละลายน้ำและนำไปทำความสะอาดจุดสัมผัสที่มีคราบฝังแน่นหรือจุดที่ส่งกลิ่นอับต่าง ๆ หรือเลือกใช้ตู้เย็นที่มีเทคโนโลยีช่วยจัดการกับกลิ่นไม่พึงประสงค์ภายในตู้เย็น นอกจากนี้ในปัจจุบันตู้เย็นมักมีเทคโนโลยีขจัดแบคทีเรีย มีระบบกรองอากาศ ซึ่งจะช่วยให้อากาศภายในตู้เย็นสะอาดและมีกลิ่นสดชื่น และยังคงความสดใหม่ให้กับอาหารที่แช่อยู่อีกด้วย