คุยกับนักจัดระเบียบบ้าน "ยิ่งเก็บ ยิ่งแย่" จริงหรือ

คุยกับนักจัดระเบียบบ้าน "ยิ่งเก็บ ยิ่งแย่" จริงหรือ

คุยกับนักจัดระเบียบบ้าน "ยิ่งเก็บ ยิ่งแย่" จริงหรือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เดินผ่านร้านหนังสือ ปกหนังสือประเภท How to จัดระเบียบบ้าน ก็มักจะตั้งชื่อหนังสือชวนให้เคลียร์ โละ ละ ทิ้ง เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยบอกว่าหากทำตามคำดังกล่าวได้ไม่เพียงบ้านจะเป็นระเบียบ แต่ชีวิตจะดีขึ้นด้วย

คุณพล-คธาพล รพีฐิติธรรมคุณพล-คธาพล รพีฐิติธรรม

ถ้าเป็นเช่นนั้นในเรื่องการจัดบ้านการ "ทิ้ง" ดี  "ทิ้ง" แล้วได้ นั่นหมายความว่าการ "เก็บ" ไม่ดี "เก็บ" แล้วยิ่งแย่หรือ? วันนี้คุณพล-คธาพล รพีฐิติธรรม นักจัดระเบียบบ้านผู้ดูแลเพจ Proud จัดระเบียบเปลี่ยนชีวิต มีคำตอบ

เหตุผลที่การทิ้งเป็นแนวทางหลักของการจัดระเบียบบ้าน
เราต้องทำความเข้าใจเรื่องการจัดบ้าน กับการจัดระเบียบบ้านก่อน ถ้าเป็นเรื่องการจัดบ้านอยากให้นึกถึงช่วงวันสงกรานต์ ตรุษจีน คือการหยิบของออกมาทำความสะอาดแล้วนำไปเก็บไว้ที่เดิมนี่คือการจัดบ้านที่สุดท้ายของไม่ได้หายไปไหน ของยังอยู่ที่เดิม

แต่สำหรับการจัดระเบียบบ้านมันคือการดีท็อกซ์บ้าน ทำให้บ้านโล่ง เบา แก้ปัญหาบ้านรก มันไม่ใช่แค่การทำความสะอาด ดังนั้นการทิ้งจึงเป็นวิธีการหลักที่จะแก้ปัญหาบ้านรก ทำให้บ้านโล่ง

ในเมื่อ "ยิ่งทิ้ง ยิ่งดี" "ยิ่งทิ้ง ยิ่งได้" การ "เก็บ" ไม่ดีหรือ
จริงๆ การเก็บไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพราะการเก็บเป็นเรื่องพื้นฐานของคนเราอยู่แล้ว แต่การเก็บมันจะไม่ดีก็ต่อเมื่อเก็บมากเกินไป ของที่เราเก็บมันสำคัญ หรือเราได้ใช้จริงหรือเปล่า 

อะไรคือจุดที่บอกว่ามันคือการเก็บที่มากเกินไป
เรื่องการเก็บเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่อาจใช้เกณฑ์ 3 เรื่องกำหนดได้แก่ "คน" ให้ถามตัวเองว่าของที่เก็บทำให้เรามีความสุขไหม หรือซื้อแล้วมีประโยชน์กับเราหรือเปล่า เพราะบางคนตอนซื้อเสื้อผ้ามีความสุข แต่ตอนเอากลับมาแล้วกลับโทษตัวเองว่าไม่น่าซื้อเลย แบบนี้อาจไม่น่าเก็บ

"พื้นที่" ต้องดูว่าพื้นที่ของเราเพียงพอในการเก็บหรือเปล่า เช่นห้องเราเล็ก แต่มีตู้เสื้อผ้าจนล้นห้องหรือแม้จะบ้านใหญ่ แต่เสียห้อง 2 ห้องไปกับการเก็บเสื้อผ้า แบบนี้ถือว่าเป็นการใช้พื้นที่โดยสิ้นเปลืองหรือเปล่า

"สิ่งของ" ให้ถามตัวเองว่าปริมาณของที่พอดีสำหรับการใช้ 1 ปีต้องมีเท่าไร เช่นเราบอกว่ามีเสื้อผ้าสัก 100 ตัวสำหรับใช้ภายใน 1 ปี แต่เวลาเราเปิดตู้เสื้อผ้าแล้วพบว่ามีเสื้อผ้า 300 ตัว แบบนี้ก็บอกว่าเรากำลังเก็บเกินความพอดี

อะไรบ้างที่เราควรเก็บ และมีหลักการเลือกสิ่งที่จะเก็บอย่างไร
อาจใช้หลักการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้อย่างมาริเอะ คนโดะ เวลาเลือกเก็บของจะใช้วิธีการหยิบของชิ้นนั้นแล้วเช็กกับความรู้สึกตัวเองว่าของชิ้นนั้นทำให้มีความสุข หรือ Spark Joy หรือเปล่า

นอกจากนี้จากแนวคิด Death Cleaning ของมาร์การีตา แมกนิสสัน ที่ใช้ความตายมาเลือกของ เช่นหากทิ้งเสื้อผ้าเหล่านี้ไว้แล้วจะเป็นภาระให้คนรุ่นหลังหรือเปล่า หรืออย่างแนวคิดมินิมอล ซึ่งดูเรื่องความจำเป็น ความสำคัญ เสื้อผ้ามีแค่ใส่ สีไม่จำเป็น

ห้องรก ไม่ได้มีการจัดเก็บ ในมุมนักจัดระเบียบบ้านสะท้อนปัญหาอะไรในตัวเจ้าของห้อง
หากบ้านหรือห้องรกสะท้อนสุขภาวะองค์รวม 4 อย่างคือ สุขภาพกาย บ้านรกอาจมีฝุ่น สกปรกมีแมลง มีสัตว์มีพิษเข้ามาอยู่ หรือบางคนอาจกระทบในส่วนที่ไม่มีพื้นที่ที่สามารถเดินได้เลย

สุขภาพทางใจ บ้านรกสะท้อนว่าเขามีความเครียด ความกังวลใจ จึงต้องตุนของไว้เยอะๆ นอกจากนี้ยังสะท้อนเรื่องความสัมพันธ์ อย่างคุณพ่อ คุณแม่ที่ชอบเก็บขวด กล่อง กระดาษ อาจทำให้ขัดแย้งกับลูกที่ไม่ชอบให้คุณพ่อ คุณแม่ทำแบบนั้น และสุดท้ายการสะท้อนถึงจิตวิญญาณ คนที่บ้านหรือห้องรกมักสะท้อนว่าไม่กล้าตัดสินใจ หรือไม่ยอมปล่อยวาง

แต่ถ้าห้องรกมากอย่างที่เป็นข่าว แบบนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคเก็บสะสมของ โรคบ้าสมบัติ ซึ่งแนะนำให้พบจิตแพทย์ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อเรื่องจิตใจโดยตรง

ของที่มีคุณค่าทางใจ ควรเก็บอย่างไรไม่ให้กระทบการจัดระเบียบบ้าน
ถ้าเป็นของเกี่ยวกับความทรงจำจะใช้หลักของมาริเอะ คนโดะ แต่ต้องเป็นความสุขแท้จริง เช่นตุ๊กตาที่พ่อ-แม่ให้ตั้งแต่สมัยเราเด็กๆ มันอาจจะให้ความสุข แต่ทั้งเก่า ขาดเราอาจไม่ควรเก็บหรือของของแฟนเก่า อันนี้อาจต้องทิ้งไป เพราะถ้ายังเก็บไว้ยิ่งสะท้อนว่าเรายังไม่ปล่อยวางกับรักในอดีต และสะท้อนว่าเราไม่เชื่อมันตัวเอง

มีพฤติกรรมอะไรบ้างที่ทำให้ "บ้านรก"
สำหรับพฤติกรรมที่ทำให้บ้านรกได้นั้นมักเกิดจาก 3 ด้านคือ เก็บมากเกินไป จัดเก็บของไม่เป็นและทิ้งไม่เป็น

คนที่เก็บแล้วจัด กับเก็บแล้วไม่จัด สะท้อนตัวตนของเขาแตกต่างกันไหม
คนเก็บแล้วจัดสะท้อนว่าเป็นคนรักตัวเอง ให้เกียรติตัวเอง คุณรู้ว่าเมื่อมีอะไรดีๆ เข้ามาในชีวิต เหมือนคุณได้ประสบการณ์ดีๆ มาเรื่องหนึ่งแล้วคุณเอาไปเก็บไว้ แล้วคุณเอาไปวางโชว์ไว้ที่ไหนล่ะ หรือคุณได้ประสบการณ์ดีๆ แล้วไปโยนทิ้งไว้ นั่นก็สะท้อนว่าคุณก็ไม่ค่อยใส่ใจประสบการณ์ดีๆ หรือความทรงจำดีๆ

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่เจอเรื่องราวไม่ดีมาเลยในชีวิต แล้วเอาแต่พูด มันก็ไม่ต่างอะไรกับเก็บขยะมาวางบนตู้โชว์ ถ้าคนเก็บเป็น จัดระเบียบเป็น ของอันไหนควรทิ้งของอันไหนควรโชว์ หรือควรเก็บ ก็เหมือนคนที่เขารักตัวเอง แคร์ตัวเอง แต่คนที่เก็บทุกอย่างมันก็เก็บทั้งเรื่องดี และไม่ดี ซ้ำร้ายยังเอาของไม่ดีมาพูดทุกวัน คนนั้นก็เหมือนโทษตัวเอง จมกับความทุกข์

เห็นห้องคนอื่นรกเราเข้าไปจัดระเบียบให้เขา ถือเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่
ไม่แนะนำ ทุกคนพูดเหมือนกันหมด ถ้าเราจัดระเบียบบ้านในส่วนของเราแล้ว แต่คนอื่นในบ้านรก เราอย่าไปยุ่ง ตอนเราก็ไม่เข้าใจ การจัดระเบียบบ้านมันเหมือนการออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ใครทำใครได้ ดังนั้นเราบังคับใครไม่ได้ แต่ถ้าเราอยากให้คนในบ้านดีขึ้น เราก็ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน

นอกจากนั้นเรื่องของประสบการณ์ที่แตกต่างกันของคนแต่ละรุ่นก็ทำให้เข้าใจว่าคนรุ่นเบบี้ บูมเมอร์เขาลำบากมาเยอะ ต้องกักตุน ต้องเก็บ ส่วนคนรุ่นถัดๆ มาก็จะพบกับประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป

วิธีเช็กตัวเองว่าถึงเวลาจัดระเบียบบ้านแล้ว
คงต้องกลับไปที่เรื่องของคน พื้นที่ สิ่งของ ถ้าเป็นเรื่อง "คน" ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าเราพอใจกับของชิ้นไหน เรามีความสุขกับของอะไรบ้าง มองเสื้อผ้าทุกวันนี้แล้วบอกตัวเองไม่ได้ว่าตัวเองชอบแต่งตัวแบบไหน อันนั้นน่าจะแย่แล้ว หรือซื้อหนังสือมาแล้วไม่เคยอ่านเลย อันนี้เป็นปัญหา ลองหยิบเสื้อผ้ามาใส่ดู แล้วถ่ายรูป พอผ่านไป 5 วันเอามาดูใหม่ ถ้าไม่ชอบก็ไม่ใช่สไตล์เรา

สำหรับเรื่องของ "พื้นที่"ที่เราอยู่ทุกวันนี้มันกระทบไหม ถ้าอยู่คอนโด บ้าน ห้องส่วนตัว ถ้าคุณมีพื้นที่บนพื้นที่ยังสามารถเล่นโยคะได้ แสดงว่ายังโอเคอยู่ แต่ถ้าเมื่อไรของเกะกะ ขนาดนอนเล่น พักเฉยๆ ไม่ได้ นั่นแสดงว่าบ้านเริ่มรกแล้ว หรือย่างตู้เสื้อผ้า เปิดตู้มา ดูว่ามีพื้นที่ว่างสัก 3 ส่วนใน 10 ส่วนไหม แต่ถ้าเปิดมาแล้วไม่ว่างเลยนั่นแสดงว่ารกแล้ว

"สิ่งของ" ถามตัวเองว่าตลอด 1 ปี เราต้องใช้ของตัวเองเท่าไรถึงจะพอดีใช้ พอเช็กแล้วถ้าเกินจากที่วางแผนไว้ก็แสดงว่าเกินไปแล้ว แสดงว่าต้องเริ่มทิ้งแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook