เรื่องราว และราคา "มงกุฎมิสยูนิเวิร์ส" จากอดีตถึงปัจจุบัน ก่อนเปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สใหม่
หลังจาก MISS UNIVERSE ORGANIZATION อยู่ภายใต้การนำของแอน จักรพงษ์ จักรจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นเจ้าของ Miss Universe 100% นั่นจึงทำให้ทุกการเคลื่อนไหวของการประกวดเวทีนี้เป็นที่สนใจ โดยเฉพาะแฟนนางงามชาวไทย
โดยในวันพรุ่งนี้ (19 ธันวาคม 2565) จะมีการแถลงข่าวเปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบใหม่ประจำปี 2022 ที่ชื่อว่ามงกุฎ " Force for Good"ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างแอน จักรพงษ์กับ มร.เฟรด โมอาว็าด ผู้ร่วมบริหารบริษัทฯ MOUAWAD รุ่นที่ 4 เมื่อในวันพรุ่งนี้จะเป็นการเปิดตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สแบบใหม่ จึงน่าสนใจว่าในอดีตที่ผ่านมา มงกุฎมิสยูนิเวิร์สมีแบบใดบ้าง
สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สนั้นมีการประกวดมาแล้ว 70 ปี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 71 แต่ตัวมงกุฎมิสยูนิเวิร์สนั้นมีหลายแบบ โดยแต่ละแบบจะมีความโดดเด่นและมูลค่ามากน้อยเพียงใด ลองมาไล่เลียงกันตั้งแต่มงกุฎแบบแรก
มงกุฎแบบที่ 1 มงกุฎราชวงศ์โรมานอฟ (The Romanov Imperial nuptial crown)
มงกุฎแบบแรกนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์ซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟที่ล่มสลาย และเตรียมมงกุฎไว้ให้กับหญิงสาวที่จะมาแต่งงานกับราชวงศ์ แต่ปี 1952 ซึ่งเป็นปีแรกที่จัดประกวด Miss Universe และ Armi Kuusela คือสาวงามวัย 17 จากฟินแลนด์ที่ได้สวมมงกุฎนี้ ซึ่งถือเป็นมงกุฎสมรสของจักรวรรดิรัสเซีย มงกุฎประดับด้วยเพชรกว่า 1.5 พันเม็ด มีเพชรคุชชั่นคัดอีก 320 เม็ด ซึ่งมีน้ำหนักประมาณ 182 กะรัต
มงกุฎแบบที่ 2 มงกุฎทำจากทองสัมฤทธิ์
สำหรับการดีไซน์มงกุฎในรูปแบบที่ 2 ซึ่งใช้สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สในปี 1953 เป็นการออกแบบมงกุฎที่แสนเรียบง่าย ไม่มีการประดับด้วยจิลเวลรี่อื่นๆ แต่กลับเป็นทองคำสัมฤทธิ์แบบเรียบๆ จึงถือได้ว่าเป็นมงกุฎที่หน้าตาธรรมดาที่สุดในประวัติศาสตร์ โดย Christiane Martel สาวงามจากฝรั่งเศสคือผู้ที่ได้ครองมงกุฎนั้น จนมงกุฎนี้ได้รับฉายาว่า The Christiane Martel Crown
มงกุฎแบบที่ 3 มงกุฎ Star of the Universe
มงกุฎแบบนี้ถูกใช้สำหรับการประกวดมิสยูนิเวิร์สตั้งแต่ปี 1954-1960 การออกแบบคือเป็นมงกุฎออกแบบขึ้นจากทองคำ และแพลตินัม มีไข่มุกประมาณ 1,000 เม็ด มีน้ำหนักประมาณ 1.25 ปอนด์ มีมูลค่าประมาณ 500,000 เหรียญ ประมาณ 17.4 ล้านบาท (18/12/65) และเนื่องจากมีเงื่อนไขในการครองมงกุฎนี้ที่ไม่สามารถครองมงกุฎได้ตลอดเหมือนที่ผ่านมาจึงทำให้มงกุฎแบบนี้มีมิสยูนิเวิร์สได้ครอบครองถึง 7 คนด้วยกัน ส่วนมิสยูนิเวิร์สคนแรกที่ได้ครองมงกุฎนี้ก็คือ Miriam Stevenson จากเซาท์แคโรไลนา
มงกุฎแบบที่ 4 มงกุฎ 10th Anniversary Crown
เป็นมงกุฎฉลองครบรอบ 10 ปีของการประกวด Miss Universe และเพื่อให้เกิดการจดจำจึงมีการทำมงกุฎใหม่โดยขึ้นโครงจากทองคำขาวบริสุทธิ์ ประดับไรน์สโตน หรือพลอยเทียม โดยมงกุฎแบบนี้ใช้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 1961-1962 และ Marlene Schmidt สาวงามจากประเทศเยอรมนีคือผู้ที่ได้สวมมงกุฎนี้เป็นคนแรก
มงกุฎแบบที่ 5 มงกุฎ The Sarah Coventry Crown (มาจากชื่อบริษัทเครื่องประดับที่ออกแบบมงกุฎ) หรือ The Lady Crown
อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์ส 1965
ตั้งแต่ปี 1963-1973 มงกุฎแบบนี้ถูกใช้ในการมอบให้กับผู้ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สโดยเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประดับมงกุฎด้วยรูปดวงดาวสู่แนวคิดการยกย่องความเป็นผู้หญิง ดังนั้นบนมงกุฎจึงมีจุดเด่นเป็นรูปหญิงสาวถือคฑาประดับกลางมงกุฎซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวกันกับตราสัญลักษณ์ประกวดมิสยูนิเวิร์ส นอกจากนี้มงกุฎนี้ยังถือเป็นมงกุฎที่มีความคลาสสิกรุ่นหนึ่งตั้งแต่เคยมีการประกวดมิสยูนิเวิร์สมา โดย Ieda Maria Vargas มิสยูนิเวิร์สปี 1963 เป็นคนแรกที่ได้สวมใส่มงกุฎอันล้ำค่านี้ และอาภัสรา หงสกุล ตัวแทนนางงามจากประเทศไทย ก็เป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของไทย ในปี 1965 ที่ได้สวมมงกุฎนี้ด้วย
มงกุฎแบบที่ 6 มงกุฎที่ดัดแปลงมาจาก The Sarah Coventry Crown
ปุ๋ย-ภรทิพย์ ไซมอน มิสยูนิเวิร์ส 1988
ถือเป็นมงกุฎรุ่นในตำนาน เนื่องจากมีความงามคลาสสิก มงกุฎในแบบนี้เป็นแบบที่ถูกดัดแปลงมาจากมงกุฎรุ่นก่อน โดยมีการเปลี่ยนลวดลายรอบมงกุฎ และมีการออกแบบให้สามารถปรับขนาดตามขนาดศรีษะของนางงามได้ จึงเป็นมงกุฎแบบที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1974-2001 ซึ่งมีนางงามถึง 28 คนที่ได้สวมมงกุฎนี้ รวมไปถึงปุ๋ย-ภรทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สคนที่สองของประเทศไทยในปี 1988
มงกุฎแบบที่ 7 มงกุฎ Mikimoto
Riyo Mori มิสยูนิเวิร์ส 2007
จากมงกุฎรุ่นคลาสสิกเปลี่ยนมาเป็นมงกุฎ Mikimoto ซึ่งเป็นแบรนด์ไข่มุกชื่อดังที่ออกแบบโดยโทโมฮิโระ ยามาจิ ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากขนนกฟินิกซ์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังอำนาจ และความงดงาม มงกุฎ Mikimoto ประดับด้วยเพชรรวม 18 กะรัต และไข่มุกจากเกาะในญี่ปุ่นอีก 120 เม็ด น้ำหนักรวมร่วม 30 กะรัต รวมมูลค่าประมาณ 250,000 เหรียญ หรือประมาณ 8.7 ล้านบาท (18/12/65) สำหรับมงกุฎแบบนี้ถูกใช้ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2002-2007 แต่มงกุฎนี้ก็มีเรื่องราวที่ต้องจดจำเพราะ Oxana Fedorova สาวงามจากรัสเซียที่ได้สวมมงกุฎ Mikimoto เป็นคนแรก แต่เธอก็ถูกกองประกวดปลดออกจากตำแหน่ง
มงกุฎแบบที่ 8 มงกุฎจากสปอนเซอร์ CAO Fine Jewelry
Dayana Mendoza มิสยูนิเวิร์ส 2008
สำหรับ CAO Fine Jewelry เป็นบริษัทเกี่ยวกับอัญมณีในประเทศเวียดนาม มงกุฎแบบนี้ทำจากทองคำขาว และทองเหลืองผสมกันทั้งหมด 18 กะรัตมีอัญมณีกว่า 1,000 ชิ้นประดับ รวมมูลค่าประมาณ 120,000 เหรียญ หรือประมาณ 4.1 แสนบาท ซึ่ง Dayana Mendoza จากประเทศเวเนซุเอลา คือผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สปี 2008 เป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎแบบนี้
มงกุฎแบบที่ 9 มงกุฎสันติภาพโดย Diamond Nexus Labs
Gabriela Isler มิสยูนิเวิร์ส 2013
มงกุฎแบบนี้เป็นมงกุฎที่ทางกองประกวดต้องการใช้สื่อว่ามิสยูนิเวิร์สสามารถทำประโยชน์เพื่อสังคมได้ ดังนั้นมงกุฎแบบนี้ซึ่งจัดทำโดย Diamond Nexus Labs ดังนั้นจึงมีการนำเม็ดหินสังเคราะห์ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมาใช้เกือบ 1,400 เม็ดพร้อมประดับด้วยทับทิมสีแดงเพื่อสื่อถึงการรณรงค์ป้องกันการติดเชื้อ HIV โดยมี Stefania Fernandez สาวงามจากเวเนซุเอลามิสยูนิเวิร์ส 2009 เป็นคนแรกที่ได้สวมมงกุฎสันติภาพ
มงกุฎแบบที่ 10 มงกุฎ The DIC Crown
Iris Mittenaere มิสยูนิเวิร์ส 2016
มงกุฎแบบนี้มีดีไซน์เป็นตึกสูงในนครนิวยอร์กซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์กรการประกวดในตอนนั้น มงกุฎนี้ได้รับการออกแบบโดยบริษัท Diamond International Corporation (DIC) ความโดดเด่นของมงกุฎนี้คือดีไซน์เป็นแท่งเหลี่ยมไล่ระดับ ส่วนสีน้ำเงินนั้นประดับด้วยแชฟไฟร์สีน้ำเงินซึ่งแตกต่างจากมงกุฎที่เคยมีมา คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 300,000 เหรียญ หรือประมาณ 10 ล้านบาท (18/12/65) สำหรับสาวงามคนแรกที่ได้สวมมงกุฎ
คือ Paulina Vega จากโคลอมเบีย คือผู้คว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์ส 2014 และมงกุฎแบบนี้ก็มีการใช้จนถึงปี 2016
สำหรับมงกุฎมิสยูนิเวิร์สในปี 2017-2018 เป็นมงกุฎไข่มุก Mikimoto ซึ่งถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งหลังจากเคยใช้ไปเมื่อปี 2002-2007
Demi-Leigh Nel-Peters มิสยูนิเวิร์ส 2017
มงกุฎแบบที่ 11 มงกุฎ Power of Unity
Harnaaz Kaur Sandhu มิสยูนิเวิร์ส 2021
มงกุฎแบบนี้ออกแบบโดยช่างฝีมือแบรนด์ Mouawad (โมอาว็าด) ทำด้วยทองคำ18 กะรัต ประดับด้วยเพชรรอบมงกุฎ 1,770 เม็ด รวมถึงเพชร golden canary อยู่ตรงกลาง สำหรับน้ำหนักมงกุฎนั้นคือ 62.83 กะรัต รวมมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 174 ล้านบาท (18/12/65) ซึ่งเป็นมงกุฎแบบล่าสุดและใช้มาตั้งแต่ปี 2019 -2021
อัลบั้มภาพ 9 ภาพ