เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์ เทศกาลไหมไทย 2565
กว่า 7 ทศวรรษที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริม ตลอดจนเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี 2565 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย กำหนดจัดงาน เทศกาลไหมไทย 2565 (Thai Silk Festival 2022) การแสดงแบบผ้าไทยร่วมสมัย และผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค ระหว่างวันที่ 15 - 18 ธันวาคม 2565 ณ บริเวณหน้าเพลนารีฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โอกาสนี้ ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชทานเหรียญรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ, ผู้ชนะในกิจกรรม “มหาดไทย ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และโล่รางวัลต้นกล้านารีรัตน ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล รวมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเผยพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ผ้าไทย พร้อมกับพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เผยแพร่ความงดงามของหัตศิลป์ไทย ตลอดจนนิทรรศการหม่อนไหม และนิทรรศการผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค
จากนั้นทอดพระเนตร โซนออกบูทร้านค้า OTOP Luxury ทั้ง 4 ภาค เหนือ กลาง อีสาน ใต้ จำนวน 100 บูท ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ผ้าลายขิดนารีรรัตนราชกัญญา ซึ่งได้รับเหรียญพระราชทานต่างๆ รวมทั้งร้านค้าของศิลปินโอทอปที่มีชื่อเสียง อาทิ “อาจารย์เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา” ศิลปินแห่งชาติจากบ้านคำปุน จังหวัดอุบลราชธานี, “อภิชาติ พลบัวไข” หรือ “ผู้ใหญ่ต้น” แห่งบ้านโนนอก จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ และทอดพระเนตรแฟชั่นโชว์ผลงาน 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชื่อดัง ซึ่งรังสรรค์ผลงานสุดประณีตที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยนำผ้าไทย มาตัดเย็บเป็นชุดดีไซน์ทันสมัย ณ ห้องเพลนารีฮอลล์ 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2565
สำหรับ 10 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ร่วมออกแบบครั้งนี้ ได้แก่ SIRIVANNAVARI Couture, KAI, TIRAPAN, PICHITA, PISIT, THEATRE, ASAVA, ISSUE, VATIT ITTHI และ WISHARAWISH โดยนำผ้าไทยลายอัตลักษณ์ 4 ภาค มาตัดเย็บเป็นชุดที่มีดีไซน์ทันสมัย อาทิ ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมยกดอก ผ้าปักชาวเขา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าบาติก ผ้าฝ้ายย้อมคราม ผ้าขาวม้า ผ้าหางกระรอก สะท้อนมุมมองของผ้าไทยในอีกมิติหนึ่ง และเห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาลายผ้าทอให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์และเสน่ห์ของความเป็นไทยไว้อย่างสมบูรณ์
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงที่มาและแนวคิดการจัดงานเทศกาลไหมไทย 2565 ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับพระปฐมบรมราชโองการจากพระบรมชนกนาถ ด้วยการน้อมเกล้าฯ สืบสาน รักษา และต่อยอด งานด้านผ้าไทยของสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อให้พี่น้องคนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งของสมเด็จพระพันปีหลวง ในเรื่องของการส่งเสริมศิลปาชีพ ภูมิปัญญาผ้าไทย งานหัตถศิลป์หัตถรรม พระองค์ท่านเป็นผู้ทำให้เกิดอาชีพเสริมมีรายได้ขึ้นมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงน้อมนำสิ่งต่างๆ เหล่านั้น มาถ่ายทอดให้กับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปีนี้เป็นปีที่ 3
รูปธรรมที่ชัดเจน ประการที่ 1 คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เองครบทุกภูมิภาค เปิดโอกาสให้พี่น้องที่มีภูมิปัญญาเรื่องของงานหัตศิลป์ งานผ้าไทย งานหัตถกรรม ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ แล้วพระราชทานพระราชวินิจฉัยคำแนะนำในการพัฒนางานที่สมเด็จพระพันปีหลวงทรงริเริ่มและประกอบพระราชกรณียกิจมายาวนานกว่า 70 ปี อีกอันที่เป็นเครื่องมือปลุกเร้าคือ “การจัดประกวด” โดยปีนี้จำลองลานคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ที่สมเด็จพระพันปีหลวงใช้เป็นพื้นที่ทอดพระเนตรชิ้นงานของพสกนิกร คนที่ผลงานดีเยี่ยมจะได้รับพระราชทานเหรียญทองคำและสร้อยคอทองคำ ปัจจุบันทุกคนยังคงหวงแหนและเก็บรักษาไว้ นอกจากทรงสืบสานงานการประกวดผ้าไทย ยังทรงต่อยอดฝ่าทะลวงปัญหาของผ้าไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว
ปลัดกระทรวงมหาดไทย เผยถึงประการถัดมาว่า "ได้พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่ากับดักของผ้าไทยอย่างหนึ่งคือคนรุ่นใหม่คิดว่าผ้าไทยเหมาะสมกับคนสูงอายุ ทว่าพระองค์ท่านพระราชทานโครงการฯ รูปแบบแนวทาง และทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า มาแสดงโชว์ให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถตัดได้หลายรูปแบบ สามารถใช้ได้ทุกวัย ทุกโอกาส ทุกวาระ เพียงแต่รู้จักนำเอามาออกแบบตัดเย็บให้ถูกใจตัวเอง ก็จะฝ่าทางตันของผ้าไทย ประการที่ 3 พระองค์ท่านมาพร้อมวิทยากรสมัยใหม่ตามที่ทรงศึกษาเล่าเรียนด้านแฟชั่น เช่น การผลิตชิ้นงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีธรรมชาติ รู้จักการตลาดว่าอนาคตจะนิยมสีอะไร (Pantone) เป็นต้น ทำให้ชาวบ้านสามารถมีรายได้จากการทอผ้าเพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัว สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม จากพระปณิธานแน่วแน่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จย่าของพระองค์ท่าน นับเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นที่มาที่พวกเราทุกคนจะช่วยกันเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ชุบชีวิตเส้นไหม เส้นฝ้าย ให้กลับมาโลดแล่นมีชีวิตรับใช้พี่น้องคนไทยให้มีรายได้เสริม มีคุณภาพชีวิตที่ดี” นายสุทธิพงษ์กล่าว
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทยต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นเรื่องผ้าไทยที่หายไปจากสังคมไทยกว่า 70 ปีที่ผ่านมา ต้องบอกว่าตัวเองเป็นคนยุคใหม่ ประกอบอาชีพนักธุรกิจ ไม่ค่อยมีโอกาสได้สัมผัสเรื่องผ้าไทยกว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้ศึกษาจริงจังและเดินสายไปทุกจังหวัดยังพื้นที่ทรงงาน ยังความซาบซึ้งในการทุ่มเทพระวรกาย พระวิริยะอุตสาหะ ให้พี่น้องประชาชนได้กลับมาทอผ้าอีกครั้งหนึ่ง ถ้ามีโอกาสได้ฟังคนที่เป็นคนปฐมบทที่อำเภอนาหว้าเล่า ซึ่งกว่าจะทอผ้าได้สมเด็จพระพันปีหลวงได้ส่งคุณข้าหลวง ทั้งร้องขอและชักชวน ให้ชาวบ้านทอผ้าไทย ทอได้ปริมาณเท่าใด พระองค์ท่านก็รับซื้อไว้ทั้งหมด จากนั้นเป็นต้นมา จะเห็นฉลองพระองค์ที่งดงามมากมาย ซึ่งในวันนี้สามารถชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ
สายน้ำพระบารมีก็ไม่สิ้นสุด ในวันนี้ประชาชนทั้งประเทศดีใจเป็นอย่างมากที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานแน่วแน่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด งานด้านผ้าไทยของสมเด็จพระพันปีหลวง นอกเหนือจะเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบรมชนกนาถแล้ว พระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระพันปีหลวง เราจะเห็นงานผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยกล่าว
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้สนองงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 ทุกปีมีการส่งประกวดผ้าและหัตถกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมากขึ้น โดยปี 2565 มีผู้ชาวบ้านส่งผลงานผ้าทอมาถึง 2,946 ผืน จากทั่วประเทศ ผลงานหัตถกรรม 298 ชิ้น คณะกรรมการทำการตัดสินมาจนถึงรอบชิงชนะเลิศ ที่หอประชุมกองทัพเรือ คัดเลือกผลงานผ้าทอเหลือ 61 ชิ้น ผลงานหัตถกรรม 10 ชิ้น โดยเฉพาะวันตัดสินผลงานชนะเลิศ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จมาเป็นประธานด้วยพระองค์เอง และในวันที่ 17 ธันวาคม 2565 งานเทศกาลไหมไทย 2565 จะเสด็จฯ มาพระราชทานรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศในทุกประเภท นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
สำหรับผู้ชนะรางวัลพิเศษ 4 รางวัล ในการประกวด “ผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” และงานหัตถกรรมระดับประเทศ ประกอบด้วย รางวัล Best of The Best ได้แก่ นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ประเภทผ้ายก ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น), รางวัลสีธรรมชาติยอดเยี่ยม ได้แก่ นายวิทวัส โสภารักษ์ กลุ่มแพรวาโสภารักษ์ ประเภทแพรวา, รางวัลลวดลายตามแบบพระราชทานยอดเยี่ยม ได้แก่ นายวันเฉลิม ศรีภุยเดช เฮือนไหมมนัสวรรณ ไหมแท้ที่แม่ทอ จังหวัดอุดรธานี ประเภทผ้าขิด และ รางวัล Young OTOP ได้แก่ นายศุภกิจ บุญมีเลี้ยง กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ผ้าไหมปูมโบราณบ้านโนนสง่า จังหวัดสุรินทร์ ประเภทผ้าไหมมัดหมี่ 3 ตะกอ และผู้ชนะเลิศรางวัลประเภทต่างๆ รวม 13 ประเภท
นายวีรธรรม ตระกูลเงินไทย กลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ประเภทผ้ายก ยกเล็ก (ไหมยกดิ้น)ได้รับรางวัล Best of The Best เปิดเผยว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณอยากหาที่สุดมิได้ โดยแนวคิดหลัก คือ การนำลวดลายผ้าพระราชทาน “ขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบและพระราชทานไว้ มาเป็นโจทย์หลักเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ในการสร้างผลงานชิ้นนี้ โดยการนำลวดลายผ้าขิดพระราชทานนั้นมาสร้างจินตนาการเพิ่มเติม ผสมผสานกับรูปแบบลายไทยที่ปรากฎในผ้ายกแบบราชสำนัก เพื่อสื่อถึงสายสัมพันธ์และสายใยพระเมตตา ความห่วงหาอาทรของราชสำนักที่หลั่งไหลสู่พสกนิกรไทย มาแต่อดีตจวบจนปัจจุบันมิได้ขาด ซึ่งการทอผ้าผืนนี้มีความพิเศษคือการใช้สีธรรมชาติ และไหมพื้นบ้าน ได้ผสมผสานเทคนิคการทอผ้าเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งยกทอง (ขิด) ยกไหมลายขึ้นด้านเดียว และจกไหมทอง(จุ่มดอก) ทำให้ได้ผ้าที่สวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ พร้อมร่วมสนับสนุนอนุรักษ์ผ้าไทย และงานหัตถศิลป์ไทยได้ในงาน Thai Silk Festival 2022 ระหว่างวันที่ 15, 16 และ 18 ธันวาคม 2565 ณ บริเวณหน้าเพลนารีฮอลล์ 1-3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
อัลบั้มภาพ 23 ภาพ