ผู้หญิงเล่นกล้าม ความงดงามที่ยังต้องต่อสู้
วงการ "เพาะกาย" แม้แต่การชนะยังไม่สามารถช่วยให้ได้รับการยอมรับเช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่น โดยเฉพาะนักกีฬาเพาะกายหญิงที่ทั่วประเทศมีไม่เกิน 15 คน
เพราะรู้กันอยู่ว่า เพาะกายนั้นไม่ได้เป็นเพียงการออกกำลังกายเพื่อให้หุ่นกระชับ ปราดเปรียว แต่เป็นการเพาะกายให้ร่างกายมีกล้ามเนื้อที่นูนเด่น เฉกเช่นเดียวกับผู้ชายที่มักชอบออกกำลังกายให้มีกล้ามโตๆ นอกจากรูปร่างที่ต้องเปลี่ยนไป และสายตาของหลายคนที่มองด้วยความ "แปลก" ในเรื่องรูปร่าง "ความอดทน" และ "การยอมรับ" จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของเพาะกายหญิงที่จะต้อง "ฝ่า" สิ่งเหล่านี้เพื่อทะยานตัวเองให้เป็นนักเพาะกายหญิงที่สามารถเอาชนะบน "เวที" และ "สายตา" คนอื่นให้ได้
"เล่นเพาะกายไม่ง่ายอย่างที่คิด" "ซิงค์" รุ้งตะวัน จินดาซิงห์ อายุ 31 ปีนักกีฬาเพาะกายรุ่นแรกของสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย บอกหลังจากเพิ่งซ้อมเสร็จ
ซิงค์บอกต่อว่า หากนับในสมาคมกีฬาเพาะกายแห่งประเทศไทย มีผู้หญิงที่เล่นเพาะกายเพียง 6 คนเท่านั้น หรือเฉลี่ยปีละ 1 คน เพราะว่าพอผู้หญิงที่สนใจเข้ามาเล่น สักพักก็จะออกไป ก็จะมีอีกคนเข้ามา สลับไปเรื่อยๆ ไม่เหมือนกับการเล่นฟิตเนสที่มีผู้หญิงสนใจเล่นเพิ่มมากขึ้น
ส่วนที่ซิงค์สนใจเล่นเพาะกายนั้น เพราะอดีตเคยเป็นนักกีฬาทีมชาติด้วยการแข่งยูโดตั้งแต่อายุ 19 ปี จนอายุ 28 ปี จึงเลิกแล้วมาเป็นโค้ชสอนยูโดจนไปอบรมโค้ชที่การกีฬ่าแห่งประเทศไทย ด้วยรูปร่างที่ฉายแววทำให้มีคนชวนเป็นนักกีฬาเพาะกาย บวกกับที่เป็นคนชอบออกกำลังกายด้วย จึงใช้เวลาตัดสินใจ 2 เดือนเท่านั้น ที่ตกลงเล่นเพาะกาย
"เพาะกายเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความรับผิดชอบสูงมากๆ ต้องมีวินัย และฝึกอย่างหนักเพื่อให้ร่างกายได้เน้นกล้ามเนื้อที่เติบโตอย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เนื่องจากต้องกินอาหารเฉพาะที่มีโปรตีนเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อที่แข็งแรง และต้องมีเวลาในการฝึกซ้อม หากไม่อดทน หรือสนใจจริงๆ อาจทำให้เลิกเล่นได้"
ซิงค์บอกว่า เมื่อก่อนผู้หญิงแทบไม่สนใจกีฬาเพาะกายเลย หรือแทบจะไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้เลยด้วยซ้ำ แต่พอมีการแข่งขันที่ส่งผู้หญิงเข้าประกวด คนถึงเริ่มรู้จักเพิ่มมากขึ้น และส่วนใหญ่ที่เข้ามาเล่นเพื่อที่จะประกวดและหาทุนเลี้ยงชีพตัวเอง หรือต้องการมีสุขภาพดี ดังนั้น คนที่จะเล่นต้องเป็นคนที่สนใจจริงๆ
"ผู้หญิงไทยยังไม่นิยมเล่นเพาะกายมากนัก เพราะเป็นกีฬาที่เปลี่ยนรูปลักษณ์ของผู้หญิงไปจากเดิม ทำให้คนที่เข้ามาวงการนี้จึงมีแต่นักกีฬาเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญค่านิยมของผู้ชายที่มองผู้หญิงว่าต้องมีรูปร่างที่ผอมเพรียว หุ่นดี ไม่ชอบผู้หญิงตัวใหญ่ ยิ่งทำให้เมินกีฬาชนิดนี้ไป และผู้หญิงก็รับไม่ได้ที่ตัวเองมีกล้ามและรูปร่างที่ใหญ่ขึ้น"
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับเมื่อเข้าสู่วงการเพาะกาย คือรูปร่างที่เปลี่ยนไป
"แรกๆ รู้สึกแปลกที่มีกล้ามและตัวใหญ่ขึ้น อีกทั้งยังมีคนมองด้วยสายตาแปลกๆ แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว เลยไม่สนสายตาคนอื่น ตอนนี้จึงไม่รู้สึกว่าตัวเองมีหุ่นที่แปลก แต่รู้สึกแข็งแรง กระฉับกระเฉง คล่องแคล่วมากกว่าผู้หญิงอื่นเสียอีก ซิงค์ยังสามารถใส่แขนกุด เดินตามถนนได้ตามปกติ เราอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง ผู้หญิงคนอื่นผอมบางแต่เราเป็นผู้หญิงสไตล์สวยแข็งแรง การที่จะสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมาเป็นมัดให้แข็งแรงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้หญิงต้องใช้เวลาปีกว่าถึงจะมีกล้ามขึ้นมา นอกจากกล้ามแล้วก็ต้องมีลายของกล้ามที่สวยงาม จึงต้องซ้อมอย่างหนัก มันทำให้เรารู้จักอดทนมากขึ้น มีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองทำ"
ซิงค์บอกอีกว่า เหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงไม่ชอบเพาะกาย เนื่องจากมักคิดว่าหากเลิกเล่นจะทำให้กล้ามเนื้อที่สร้างขึ้นกลับย้วย แต่ในความเป็นจริงที่ผิวย้วยนั้นเพราะเลือกรับประทานอาหารที่มีแต่ไขมันและไม่ออกกำลังกาย ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าผู้หญิงรู้จักดูแลตัวเองกล้ามเนื้อจะกลับสู่ปกติใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น
อีกหนึ่งสาวที่หลงเสน่ห์เพาะกาย "เจี๊ยบ" น.ส.อภิพรณ์ ชมสมบูรณ์ อายุ 35 ปี เป็นหญิงสาวที่มีรูปร่างที่ฉายแววเช่นกัน เมื่อมีโอกาสเธอจึงรีบคว้าที่จะเข้าสู่วงการนี้ บวกกับต้องการหาทุนเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัว บอกว่า ไม่สนใจที่ใครจะมองว่าเป็นผู้หญิงแต่มีกล้าม เพราะเชื่อว่าเพาะกายเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง แถมยังเป็นการพิสูจน์ว่าสามารถเล่นกีฬาชนิดนี้ได้เหมือนผู้ชาย
"ยอมรับว่าช่วงแรกอาจดูแปลกๆ กับสายตาคนอื่น แต่ถ้าใครได้เข้าสู่วงการเพาะกายจะรู้เลยว่าเป็นคนที่มีความอดทนสูง มีความรับผิดชอบ เพราะกว่าจะมีกล้ามเนื้อที่สมส่วนต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปีเต็ม ต้องเน้นเล่นเวตและออกกำลังกายเฉพาะส่วนเพื่อให้กล้ามเนื้อโตเป็นกล้ามขึ้นมา"
แต่อย่างไรนั้นเพาะกายก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยม และยังไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในการแข่งขันซีเกมส์ ทำให้การแข่งขันของเพาะกายหญิงเป็นเพียงในประเทศ และระดับประเทศใกล้เคียง
"บางทีท้อนะ เมื่อได้ลงแข่งก็อยากก้าวไปสู่ระดับเอเชีย หรือระดับโลก เพราะกว่าจะได้รูปร่างที่มีกล้ามเป็นสมส่วนไม่ใช่เรื่องง่าย และรูปร่างผู้หญิงไม่เหมือนผู้ชายที่จะเติบโตได้เร็ว แถมในช่วงแรกต้องทนกับสายตาหลายคนมองที่รูปร่างเราแปลกๆ ดังนั้น การที่ได้รับชัยชนะจากเวทีต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่าผู้หญิงก็ทำได้ แต่หากได้ก้าวไปไกลๆ จะยิ่งเพิ่มความน่าภูมิใจมากกว่านี้"
เอาชนะบนเวทีไม่สำคัญเท่าชนะที่ "จิตใจ" เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ของผู้หญิงเพาะกาย