รู้สาเหตุของ “อาการเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า” จากคุณหมอญี่ปุ่น
มีคนจำนวนไม่น้อยที่ตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้าแล้วรู้สึกเวียนหัว หน้ามืด บ้านหมุนและอาจถึงขั้นอาเจียน แม้อาการดังกล่าวจะมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความผิดปกติของอวัยวะภายในหูชั้นในที่ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของร่างกาย แต่ก็มีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่นกัน มารู้สาเหตุ วิธีการป้องกันและบรรเทาอาการเวียนหัวบ้านหมุนจากคุณหมอญี่ปุ่นกันค่ะ ทั้งนี้ด้วยเนื้อหาที่ค่อนข้างยาวผู้เขียนขออนุญาตเขียนเล่าถึงวิธีป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าวในบทความถัดไปนะคะ
สาเหตุของการเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนและอาเจียนเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า
1. ร่างกายขาดน้ำ
หากร่างกายขาดน้ำอาจทำให้เกิดอาการคล้ายโลหิตจาง เช่น มึนหัวและคลื่นไส้อาเจียน สาเหตุของการขาดน้ำเกิดจากร่างกายคนเราสูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อและทางการหายใจในระหว่างการนอนหลับ เพื่อป้องกันอาการเวียนหัวบ้านหมุนจากร่างกายขาดน้ำจึงควรหมั่นดื่มน้ำให้เพียงพอ
2. โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน (Benign paroxysmal positional vertigo: BPPV)
โรคนี้ทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนบ่อยที่สุด โดยมีสาเหตุมาจากการที่ตะกอนหินปูนหรือแคลเซียมในหูชั้นในซึ่งเกี่ยวข้องกับการทรงตัวของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลุดออกมาเมื่ออายุมากขึ้นและจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะก็จะทำให้มีการเคลื่อนที่ของเศษตะกอนแคลเซียมไปพร้อมกับของเหลวในหูชั้นใน และมีผลไปกระทบอวัยวะการทรงตัว ทำให้รู้สึกเวียนหัว โดยทั่วไปอาการเวียนหัวจากโรคนี้จะไม่รุนแรงและจะหายไปภายในไม่กี่วินาทีจนถึงสองนาที แต่หากยังรู้สึกเวียนหัวนานกว่านั้นก็ควรไปพบแพทย์หูคอจมูก
3. ความผิดปกติเมื่อมีการเปลี่ยนท่า
การเปลี่ยนท่า เช่น ลุกยืนนั่ง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เวียนหัวตอนตื่นนอน สาเหตุของอาการเวียนหัวนี้มาจากการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และมีการรบกวนการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติทำให้ความดันเลือดลดลงต่ำ อาการดังกล่าวนี้เกิดมากในเด็กตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมปลายที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ โดยในหลายกรณีพบว่าอาการเวียนหัวจะหายไปในตอนบ่าย
4. ความดันโลหิตต่ำ
คนที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำคือบุคคลที่มีค่าหัวใจในขณะที่หัวใจบีบตัวต่ำกว่า 100 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) และค่าหัวใจในขณะที่หัวใจคลายตัวน้อยกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท แม้ว่ามีค่าความดันโลหิตต่ำแต่ไม่จำเป็นต้องป่วยเสมอไป อย่างไรก็ตาม หากมีอาการ เช่น วิงเวียน ใจสั่น ปวดหัว รู้สึกไม่สบายตัวจนทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันไม่ถนัด อาการเหล่านี้จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตต่ำ หากมีอาการรุนแรงควรพบแพทย์โรคหัวใจและรับประทานยาที่มีฤทธิ์ในควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติและยาเพิ่มความดันโลหิต เป็นต้น
5. โรคน้ำในหูไม่เท่ากันหรือโรคมีเนียร์ (Meniere’s disease)
โรคน้ำในหูไม่เท่ากันเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีการคั่งของของเหลวในหูชั้นในเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนอย่างรุนแรงและจะเกิดขึ้นซ้ำๆ โรคนี้จัดว่าเป็นโรคที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยมีอาการอื่นร่วม ได้แก่ หูอื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ไมเกรน ความดันในหูชั้นในเพิ่มขึ้น และสูญเสียการได้ยิน สำหรับสาเหตุของของเหลวที่เพิ่มขึ้นในหูชั้นในนั้นยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะมีสาเหตุมาจากความเครียดและความเหนื่อยล้าที่สะสม และการนอนหลับไม่เพียงพอ วิธีการรักษาทำได้โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและทานยา
6. โรคหลอดเลือดสมอง (Stoke)
นอกจากอาการเวียนหัวแล้วก็จะมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง มีความผิดปกติทางการพูด และหมดสติ หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคหลอดเลือดสมอง ให้รีบไปหาหมอโดยทันที
อาการเวียนหัวบ้านหมุนที่มีสาเหตุมาจากโรคต่างๆ ล้วนเป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นก็หมั่นสังเกตตัวเองและหากเป็นซ้ำและรุนแรงขึ้นก็ขอแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้โปรดติดตามวิธีบรรเทาและป้องกันอาการเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าจากบทความต่อไปกันค่ะ
หากเกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนเมื่อตื่นนอนในตอนเช้าสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นและมีวิธีป้องกันอย่างไร? สามารถหาคำตอบได้ในบทความ “รู้วิธีบรรเทาและป้องกันอาการ “เวียนหัวบ้านหมุนเมื่อตื่นนอนในตอนเช้า” จากคุณหมอญี่ปุ่น”