5 อาหารที่คุณหมอญี่ปุ่นแนะนำว่าช่วยลดความดันโลหิตสูงได้

5 อาหารที่คุณหมอญี่ปุ่นแนะนำว่าช่วยลดความดันโลหิตสูงได้

5 อาหารที่คุณหมอญี่ปุ่นแนะนำว่าช่วยลดความดันโลหิตสูงได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งสำคัญที่คนเป็นความดันโลหิตสูงมักจะระวังเป็นพิเศษคือ อาหารที่มีเกลือมาก เพราะเกลือจะส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นรับประทานเกลือในปริมาณที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยผู้ชายญี่ปุ่นรับประทานเกลือวันละ 10.9 กรัม และผู้หญิงญี่ปุ่นรับประทานวันละ 9.3 กรัม ล้วนแล้วแต่สูงกว่า 6 กรัมซึ่งเป็นปริมาณที่สมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศญี่ปุ่นกำหนดไว้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาความดันโลหิตสูงคือ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและเส้นใยอาหาร มารู้จักอาหารที่คุณหมอญี่ปุ่นแนะนำว่าช่วยลดความดันโลหิตสูงได้กันค่ะ

1. ผักต่างๆ

ในผักสดไม่มีเกลืออยู่เลย อีกทั้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ ได้แก่ โพแทสเซียมซึ่งช่วยขับเกลือส่วนเกินออกจากร่างกาย  แมกนีเซียมและแคลเซียมซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดตีบตัน นอกจากนี้ผักยังอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารที่ช่วยขับของเสียและขจัดไขมันส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยผักที่คุณหมอแนะนำให้รับประทานบ่อยๆ ได้แก่ ถั่วแระญี่ปุ่น ฟักทอง รากโกโบ ผักกาดกวางตุ้ง ผักปวยเล้ง ต้นหอมญี่ปุ่น บรอกโคลี และเห็ดหอยนางรม เป็นต้น วิธีการรับประทานนั้นควรหลีกเลี่ยงการปรุงรสด้วยเกลือหรือโชยุที่มีรสชาติเค็ม แต่ให้เติมเกลือเพียงเล็กน้อย หรือบีบน้ำมะนาวใส่เพื่อให้ได้รสชาติอร่อยแม้ไม่เติมเกลือลงไปเยอะ


2. ผลไม้


ผลไม้เป็นอาหารที่ปราศจากเกลือและอุดมไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ ได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียมซึ่งมีผลในการช่วยลดความดันโลหิตได้  ผลไม้เป็นอาหารที่คนเรารับประทานได้โดยไม่ต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อนจึงทำให้สามารถรับแร่ธาตุดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มที่ โดยผลไม้ที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงที่ควรรับประทานเป็นประจำและปริมาณที่ควรรับประทานต่อวันประมาณ 80 กิโลแคลอรี มีดังนี้ คือ กล้วย (1 ผล), กีวี่ (2 ผล), ส้มแมนดาริน (2 ผล), แอปเปิ้ล (1/2 ผล), องุ่น (10-15 ผล) และอโวคาโด้ (1/2 ผล) เป็นต้น


3. ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้และนมถั่วเหลือง อุดมไปด้วยแร่ธาตุได้แก่ โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม และเส้นใยอาหาร นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังอุดมไปด้วยโปรตีนคุณภาพดีที่สามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์และไข่ได้ จึงช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงและภาวะหลอดเลือดแข็งที่มีสาเหตุมาจากความดันโลหิตสูงได้ดี

4. โยเกิร์ตรสธรรมชาติ

โยเกิร์ตรสธรรมชาติ 100 กรัมมีปริมาณเกลือเพียง 0.1 กรัม และอุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ช่วยป้องกันการตีบตันของหลอดเลือด จากการศึกษาพบว่าคนที่รับประทานโยเกิร์ตเป็นประจำมักไม่ค่อยมีความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นการรับประทานผลไม้พร้อมกับโยเกิร์ตจึงช่วยป้องกันและลดความดันโลหิตได้ดี

5. ถั่วที่ปราศจากเกลือ

 

ถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพาน และถั่ววอลนัต อุดมไปด้วยแร่ธาตุและเส้นใยอาหาร รวมถึงวิตามินอี และกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งช่วยรักษาสุขภาพที่ดีของหลอดเลือดและป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็งได้ดี ทั้งนี้เวลาเลือกซื้อถั่วควรเลือกถั่วที่ไม่มีส่วนผสมของเกลือ อย่างไรก็ดี ด้วยถั่วเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูงจึงควรรับประทานวันละไม่เกินหนึ่งกำมือ

โรคที่พบบ่อยเมื่ออายุมากขึ้นคือความดันโลหิตสูง หากปล่อยทิ้งไว้นานก็อาจก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งและโรคหลอดเหลืองสมองตีบได้ เพื่อป้องกันและบรรเทาภาวะโลหิตสูงให้ดีขึ้น ลองรับประทานอาหารดังกล่าวไปพร้อมกับลดปริมาณเกลือกันค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook