เรื่องเล่าของหญิงผู้สูญเสียคนรักให้กับ “มะเร็งต่อมหมวกไต” โรคหายากในไทย

เรื่องเล่าของหญิงผู้สูญเสียคนรักให้กับ “มะเร็งต่อมหมวกไต” โรคหายากในไทย

เรื่องเล่าของหญิงผู้สูญเสียคนรักให้กับ “มะเร็งต่อมหมวกไต” โรคหายากในไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • นุ่นและปอ คือคู่รักที่คบกันมานานกว่า 8 ปี ทั้งคู่มีธุรกิจร่วมกัน ใช้ชีวิตอยู่เคียงข้างกัน และวางแผนอนาคตร่วมกัน
  • ปอตรวจพบว่าตัวเองเป็น “มะเร็งต่อมหมวกไต” โรคที่พบแค่ 1 ใน 2 ล้าน และวันที่ตรวจพบ เชื้อมะเร็งก็ได้กระจายไปที่ตับและปอดช่วงล่างแล้ว 
  • ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางไปรักษาที่สหรัฐอเมริกา แต่โชคร้ายที่ไม่สามารถทำการรักษาได้แล้ว จึงเดินทางกลับประเทศไทย แต่ระหว่างเปลี่ยนเครื่อง ปออาการทรุดลง และจากไปขณะที่ทำการรักษาอยู่ที่ประเทศดูไบ
  • คำแนะนำของนุ่นสำหรับคนที่ยังต้องดูแลคนป่วยอยู่ในตอนนี้ คือดูแลเขาให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ จับมือเขาเอาไว้ ให้เขารู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะมีเราอยู่ข้างกายของเขาเสมอ

“ความเจ็บป่วย” และ “ความตาย” คือความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตมนุษย์ ที่ทุกคนต้องพบเจอไม่ช้าก็เร็ว ถือเป็นสัจธรรมแห่งชีวิตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่มนุษย์มีความผูกพันที่ทำให้ทุกการจากลาเป็นเรื่องยากเสมอ โดยเฉพาะการเสียชีวิตของคนรัก ที่เปรียบเสมือนแก้วตาดวงใจ และนี่คือเรื่องราวของ “นุ่น” หญิงสาวผู้สูญเสียคนรักให้กับ “มะเร็งต่อมหมวกไต” โรคที่พบแค่ 1 ใน 2 ล้าน และการดูแลเยียวยาหัวใจตัวเอง ในวันที่ต้องบอกลาคนที่เปรียบเสมือนครึ่งหนึ่งของชีวิตไปตลอดกาล

ชีวิตที่พลิกผันเพราะโรคร้าย

“นุ่นกับพี่ปอคบกันมา 8 ปี เขาเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนขยัน เป็นคนดีมาก ๆ คนหนึ่งเลย เพื่อนฝูงรัก เราสองคนมีธุรกิจอยู่ต่างประเทศ มีแผนการจะทำธุรกิจต่อ จะทำแฟรนไชส์ เรามีความสุข เราทุกอย่างด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือชีวิตส่วนตัว เราไม่เคยแยกจากกัน ใน 8 ปีที่ผ่านมา เราอยู่ด้วยกันตลอด” นุ่นเริ่มต้นเล่า 

หลังจากใช้ชีวิตที่ต่างประเทศมานาน ทั้งสองคนตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 กระทั่งวันหนึ่ง ปอรู้สึกปวดท้อง คล้ายกับอาหารไม่ย่อย จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาล และนั่นทำให้ทั้งสองคนได้ทราบข่าวร้าย เมื่อหมอตรวจพบว่าปอเป็นมะเร็งต่อมหมวกไต ระยะที่ 4 ซึ่งลุกลามไปที่ตับและปอดช่วงล่างแล้ว 

โรคที่พี่ปอเป็นคือมะเร็งต่อมหมวกไต เป็นโรคหายาก เป็น 1 ในล้าน หรือ 1 ในสองล้านเลยก็ว่าได้ ปีหนึ่งจะมีไม่กี่คน คือปกติต่อมหมวกไตของคนเราจะมี 2 ต่อมอยู่ข้างหลัง ขนาดประมาณ​ 1.5 เซนติเมตร แต่วันที่เจอของพี่ปอคือมีขนาด 16 เซนติเมตร ใหญ่เท่าลูกแตง มันถึงมาเบียดกระเพราะ เลยรู้สึกว่าอาหารไม่ย่อย ซึ่งวันที่ตรวจเจอ มะเร็งก็ได้กระจายไปที่ตับและปอดช่วงล่างแล้ว มันไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย” 

“รู้สึกเหมือนโลกถล่มฟ้าทลาย เหมือนเราจะไม่มีเขาอยู่แล้วจริง ๆ เหรอ ยังใช้ชีวิตกันอยู่เลย อนาคตยังวางไว้ตั้งเยอะ แต่ทำไมวันนี้จะดับไปชั่วข้ามคืนขนาดนี้ ช็อกมาก ตอนแรกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เรามองว่าแม้โอกาสจะน้อยแค่ไหน มันก็ยังเป็นโอกาส บางครั้งอาจจะมีปาฏิหาริย์ก็ได้” 

โรคมะเร็งที่แสนทรมาน

ด้วยความที่โรคมะเร็งต่อมหมวกไตเป็นโรคหายาก และไม่ง่ายนักที่จะเจอคนป่วยด้วยมะเร็งชนิดนี้ ทำให้การรักษากลายเป็น “การเรียนรู้” ของทั้งคนไข้และคุณหมอ 

“ตั้งแต่ที่รู้ว่าเป็นโรค เราไม่ได้ออกจากโรงพยาบาลเลย คือต้องเล่ารายละเอียดของโรคว่า มะเร็งต่อมหมวกไตไม่เหมือนกับมะเร็งชนิดอื่น ที่ให้คีโมเสร็จ ก็สามารถกลับไปพักรักษาตัวต่อที่บ้านได้ เนื่องจากต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเยอะมาก ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้ส่งผลกระทบทำให้จากที่ไม่เป็นโรคอะไรเลย ก็เป็นโรคความดัน โรคเบาหวาน แล้วก็มีเรื่องเกลือแร่ อย่างพวกโพแทสเซียม แมกนีเซียม ที่สำคัญมาก เราไม่เคยรู้เลยว่าสำคัญขนาดนี้ เพราะว่าโพแทสเซียมต่ำ จะทำให้หัวใจวายได้ หรือแมกนีเซียมต่ำ ก็จะส่งผลต่อความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่างกาย แล้วเขาก็ค่อย ๆ ทรุดลงจริง ๆ” 

มะเร็งต่อมหมวกไตส่งผลให้ร่างกายเกิดโรคอื่น ๆ ตามมาหลายโรค นอกจากนี้ยังทำให้เกิดภาวะบวมน้ำ น้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 - 2 กิโลกรัมในช่วงข้ามคืน เช่นเดียวกับมือเท้าที่ปูดบวม ซึ่งจะทำให้คนไข้รู้สึกทรมานเป็นอย่างมาก นุ่นเล่าว่า เธอยอมทำทุกอย่างเพื่อจะไม่ให้คนรักของเธอรู้สึกเจ็บปวดไปมากกว่านั้น หากมีคนบอกให้เธอไปเก็บดาวมาให้ แลกกับคนรักของเธอหายจากอาการป่วย เธอก็จะยอมทำ 

“เขาสู้เพื่อเราอยู่ แล้วเราจะบ่นอะไร เราจะเรียกร้องอะไร เราไม่คิดอะไรเลย เราคิดแค่ว่าอยากให้คนของเรากลับมา เราอยากใช้ชีวิตกับคนของเราเหมือนเดิม นั่นคือกำลังใจของเรา เรายังมีเขาอยู่ แค่มองหน้าก็หายเหนื่อยแล้ว” 

เดินทางไปรักษาที่สหรัฐอเมริกา

หลังจากที่หมอแจ้งว่าคงไม่มีวิธีรักษาแล้ว ทำได้แค่ประคองอาการไปเรื่อย ๆ ประจวบเหมาะกับเพื่อนที่อยู่ต่างประเทศบอกว่าที่สหรัฐอเมริกายังมีวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจเดินทางไปตามหาการรักษาที่จะช่วยยื้อชีวิตของปอได้ 

“แต่โชคร้ายที่พอไปถึง ร่างกายของพี่ปอเริ่มทรุดลง ทำให้ไม่ได้รักษาต่อ ทำได้แค่ประคองอาการ พี่ปอเลยบอกว่างั้นเรากลับบ้านเถอะ เราอย่าอยู่เลย แค่นี้นุ่นก็เหนื่อยมากแล้ว เราก็เลยพยายามหาทางกลับบ้าน ตอนนั้นเสียใจมาก แต่ต่อหน้าเขา เราก็บอกว่าเขาต้องดีขึ้นสิ ตั้งแต่เป็นโรค ตั้งแต่ให้คีโม เขากินไม่ค่อยได้ จากคนตัวใหญ่แข็งแรง ก็หายไปเลย เราเลยเป็นพลังบวกให้กับเขาตลอด แล้วค่อยไปแอบร้องไห้ทีหลัง” 

เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจกลับบ้าน ก็ต้องพบกับอุปสรรคเรื่องการเดินทาง เนื่องจากปอป่วยหนัก จึงต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ​ แต่ทั้งคู่ไม่สามารถเช่าเครื่องบินเหมาลำสำหรับผู้ป่วย ซึ่งมีราคาแพงมาก ๆ ได้ นุ่นจึงว่าจ้าง medical escort มาเป็นผู้ดูแลคนรักในระหว่างเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาสู่เมืองไทย 

ถึงเวลาต้องบอกลาตลอดกาล

“พอขึ้นบนเครื่อง ด้วยความที่ปอดของเขาหายไปแล้วครึ่งหนึ่ง แล้วความกดอากาศข้างบน ก็ทำให้เหมือนขาดอ็อกซิเจน แล้วพี่ปกมีภาวะบวมน้ำอยู่แล้วด้วย เขาตัวแน่นไปหมด เขาบอกว่าตัวและขาชา ซึ่งเราเชื่อว่าเขาทรมานพอสมควร แต่เขาอดทนมาก เพราะเขาอยากกลับบ้าน” 

อย่างไรก็ตาม ปอถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล ระหว่างเปลี่ยนเครื่องที่ประเทศดูไบ เนื่องจากความดันน้ำตาลต่ำ และที่สำคัญคือปลายเท้าเริ่มเป็นสีม่วง ผู้ดูแลที่ติดตามไปด้วยจึงแนะนำให้นำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการเอาน้ำออกจากปอดเสียก่อน ก็จะทำให้รู้สึกอึดอัดน้อยลง ทว่า ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่ใช่สิ่งที่นุ่นคิดเอาไว้ 

“ตอนนั้นเขาไปกับผู้ดูแลก่อน รถฉุกเฉินพาไปก่อน แล้วนุ่นต้องอยู่เอากระเป๋า แล้วที่ดูไบต้องมีวีซ่า ซึ่งเราไม่มีเลย เพราะเราแค่มาเปลี่ยนเครื่อง แถมระบบล่มอีก เราเลยติดอยู่ที่สนามบิน 7 ชั่วโมง กว่าจะออกมาได้ พอมาถึงเขาก็อยู่กับเราอีก 2 วัน แต่ตอนนั้นหายใจเองไม่ได้แล้ว ต้องมีเครื่องช่วยหายใจใส่ไว้ตลอด ความดันก็ต่ำมาก ทุกอย่างต่ำมาก เอาไม่ขึ้น เหมือนทุกอย่างล้มเหลว และชัตดาวน์ไป แล้วเขาก็หลับไป” 

ชีวิตที่เหลืออยู่และต้องไปต่อ 

“ตอนที่เขาเสีย เราคิดเลยว่าเราจะอยู่ทำไม มันไม่มีความหมาย เราพูดกันเสมอว่าที่เรามีความสุข เพราะเราสร้างมันมาด้วยกัน แล้ววันนี้คนข้าง ๆ เขาไม่อยู่แล้ว แต่วันนี้เรายังอยู่ จะให้เราตายตามมันก็คงบาป ถามว่าทำยังไงเหรอ มันมีซัพพอร์ตที่ดีมาก ๆ ต้องให้เครดิตครอบครัวเลย ครอบครัวซัพพอร์ตดีมาก อะไรก็ได้ที่ลูกสบายใจ อยู่ตรงนี้เมื่อต้องการ ตัวเราเองก็มีพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่รอบล้อมเต็มไปหมด ไม่อยากให้เราอยู่คนเดียว พร้อมรับฟัง พร้อมร้องไห้ด้วยกัน และที่สำคัญคือไปทำบุญ อยู่ได้เพราะทำบุญ รู้สึกว่าการได้ทำบุญ มันเป็นสิ่งที่ทำให้ใจเราเย็น มันรู้สึกสบายใจ” 

เมื่อถามนุ่นว่ามีคำแนะนำสำหรับคนที่ยังต้องดูแลคนป่วยอยู่ในตอนนี้ เธอบอกให้ดูแลเขาให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะสามารถทำได้ จับมือเขาเอาไว้ ให้เขารู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น จะมีเราคนอยู่นี้อยู่ข้างกายของเขาเสมอ 

“วันที่เขาอยู่ เราทำให้ดีที่สุดเลย ถ้าเรารักคน ๆ หนึ่ง เรามีแต่อยากจะให้เขา อะไรก็ได้ ไม่อยากให้เขาเจ็บ อยากให้เขายิ้มได้ อยากให้เขามีความสุข อยากจะให้เขาโดยไม่ต้องการอะไรตอบแทน ถ้าวันนี้ใครที่กำลังดูแลคนป่วยอยู่ รู้ว่าเหนื่อยสายตัวขาดไม่รู้กี่รอบแล้ว แต่เรามองคน ๆ นี้ แล้วเขาคือกำลังใจ เขาคือหัวใจของเรา ไม่ต้องถามเลยว่าเราจะจัดการตัวเองยังไง เรารู้แค่ว่าเราต้องทำให้เขาทุกอย่าง โดยไม่มีเงื่อนไข เราทำให้ดีที่สุด ดูแลเขาให้ดีที่สุด แล้วเราส่งเขาให้ดีที่สุด ให้เขารู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น มีเราอยู่ข้าง ๆ จับมือกันจนนาทีสุดท้าย” นุ่นกล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook