เจอแบบนี้แล้วแพ้ทาง! ความรักทำให้เราตกหลุมรักคนแบบเดิม ๆ
14 กุมภาพันธ์ “วันวาเลนไทน์” แบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่เราจะถูกโอบล้อมไปด้วยความรักเมื่อเหลียวซ้ายแลขวา บรรยากาศของความรักคละคลุ้งไปหมดทุกหย่อมหญ้า ดู ๆ แล้วก็เป็นบรรยากาศดี ๆ สำหรับทั้งคนมีคู่ และคนโสด ที่แม้จะไม่ได้เดินจูงมือใคร แต่ก็รู้สึกยินดีที่กับความรักมากกว่าที่จะไปอิจฉาริษยาหรือเสียใจที่ตัวเองไม่มีคนข้าง ๆ การที่ไม่มีแฟนก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะไม่มีหรือไม่รู้จักความรัก ยังมีความรักอีกหลายรูปแบบที่พวกเขาสามารถมีความสุขได้ในวันวาเลนไทน์ หรือถ้าไม่มีเลย พวกเขาก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ มันหมดยุคที่คนโสดจะต้องรู้สึกอกแตกตายในวันแห่งความรักแล้ว
อย่างที่บอกว่าแม้ว่าตอนนี้จะโสดหรือไม่โสดก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ก็รู้ดีการตกหลุมรักใครสักคนมันเป็นอย่างไร แต่เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าทำไมเราถึงตกหลุมรักคนคนนั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ยังรักคนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเมื่อมีความรักครั้งใหม่ก็ยังมีความรู้สึกพิเศษ ๆ แบบนี้กับคนประเภทเดียวกันแทบทุกครั้งไป คนที่มีนิสัย บุคลิก หรือแม้แต่เค้าโครงของรูปร่างหน้าตาแบบเดิม ๆ ไม่ว่าจะมีรักครั้งใหม่กี่ครั้ง ด้วยความรักมักจะถูกนิยามว่าเป็นเรื่องของความรู้สึกที่อยู่เหนือเหตุผล เราจึงมักจะหยิบโยงไปหาเรื่องของความเป็นบุพเพสันนิวาส เป็นพรหมลิขิต แล้วจริง ๆ มันใช่หรือเปล่า?
จริง ๆ มันก็เป็นเรื่องของความเชื่อนะ ถ้าจะเชื่อว่าคนคนนั้นเป็นคนที่ฟ้าส่งมาก็ไม่ผิดหรอก ส่วนใหญ่เราจะปล่อยให้อารมณ์รักเป็นเรื่องที่ดำเนินไปตามความรู้สึกและเสียงของหัวใจมากกว่าที่จะใช้สมองเข้ามาคิดตรรกะอะไรวุ่นวายอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริง เราจะเปิดรับข้อเท็จจริงที่ว่าความรักเกิดขึ้นเพราะ “สารเคมีในสมอง” ก็เป็นความรู้ที่ดูน่าสนใจ รวมถึงการอธิบายในทางจิตวิทยาว่าทำไมคนเราถึงมักจะชอบแพ้ทางให้กับคนประเภทเดิม ๆ ทุกที มีแค่คนแบบนี้เท่านั้นที่ทำให้ใจเราหวั่นไหว ลองไปไขความลับของความรักกันดู
ปรากฏการณ์ของความรักเป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง
จริง ๆ แล้วความรู้สึกที่ใครหลายคนเรียกว่า “รัก” นั้นมีหลายลำดับขั้น แม้ว่าเราจะเหมารวม ๆ ว่ามันเป็นความรักทั้งหมด แต่ความรู้สึกและพฤติกรรมที่เราแสดงออกจะแตกต่างกันไปในความรักในแต่ละขั้น โดย Helen Fisher ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาเชิงชีววิทยา จาก Rutgers University สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาสมองที่กำลังมีความรัก และค้นพบว่าปรากฏการณ์ความรักนั้นถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะล้วนมีแรงขับที่เกิดจากสารเคมีในสมองทั้งสิ้น เป็นความรู้สึกรักในแต่ละระยะที่มีรูปแบบการตอบสนองแตกต่างกันออกไป
1. ระยะความใคร่ (Lust) ในหลาย ๆ กรณี เราต้องแยกให้ออกระหว่างความรู้สึกรักกับความรู้สึกใคร่ (อยาก) มันแตกต่างกัน เราจึงไม่อาจเหมารวมว่าเป็นความรักได้ในทุกกรณี เมื่อมีความรักต่อกันสามารถทำให้เกิดความใคร่ได้ แต่ความใคร่ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากความรักเสมอไป เนื่องจากความใคร่มันเป็นไปตามสัญชาตญาณหรือแรงขับภายในที่คนเราดึงดูดกันและกันมากกว่า โดยมีฮอร์โมนเพศเป็นตัวขับเคลื่อน
- ผู้ชายจะมีฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ที่ผลิตมาจากอัณฑะ
- ส่วนผู้หญิงก็จะมีฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) ที่ผลิตมาจากรังไข่
2. ระยะความหลงใหล (Attraction) เป็นอาการของการตกหลุมรัก แบบที่เข้าไปอยู่ในภวังค์ของความรัก เมื่อมีความรักบางทีเราก็อาจจะทำอะไรโดยที่เราไม่รู้ตัว แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองอยู่ดี โดยจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มสารเคมีที่ชื่อว่า “โมโนเอมีน” ประกอบด้วย
- โดปามีน (Dopamine) เป็นสารแห่งความสุขที่ร่างกายจะหลั่งออกมาหลังจากที่รู้สึกพึงพอใจจากการทำพฤติกรรมบางอย่าง ซึ่งมันจะกระตุ้นให้เราต้องการทำสิ่งนั้นหรือทำพฤติกรรมนั้นมากขึ้นด้วยความกระตือรือร้น พูดง่าย ๆ ก็คือ สารเคมีนี้จะกระตุ้นความปรารถนาและความต้องการสิ่งตอบแทน ทำให้คนที่กำลังตกอยู่ในห้วงความรักแสดงอาการคิดถึงคนรักอยู่ตลอดเวลา อยากอยู่ใกล้ ๆ อยากสบตา มองหน้า พูดคุย และสัมผัส เพราะจะทำให้รู้สึกมีความสุขนั่นเอง โดยอาการติดแฟนและคลั่งรักเกิดขึ้นจากสารตัวนี้
- อีพิเนฟริน (Epinehrine) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ อะดรีนาลีน (Adrenaline) เป็นสารที่จะกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกตื่นเต้น เขินอายเวลาเจอคนที่ชอบ รู้สึกตื่นเต้น ตื่นตัว กระตือรือร้น รวมถึงความเคร่งเครียดจริงจังในความรักด้วย เราจะเริ่มตอบสนองต่อความเครียด จึงไม่แปลกที่ความรักจะทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลังโดนมนต์สะกด และเมื่อได้พบกับรักครั้งใหม่อย่างไม่คาดคิดมากก่อน ก็จะเริ่มเหงื่อออก หัวใจเต้นแรง และปากแห้ง
- เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ซึ่งจะส่งผลต่อการแสดงออก เมื่อสมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมา เราจะทำพฤติกรรมบางอย่างโดยที่ไม่รู้ตัวอันเนื่องมาจากมีความรู้สึกบางอย่างกระตุ้น เช่น ดีใจ มีความสุขแล้วเผลอยิ้มออกมา
3. ระยะความผูกพัน (Attachment) เมื่อความหลงใหลกลายเป็นพันธนาการที่ทำให้คู่รักใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นยาวนานพอสมควร จะเกิดเป็นความรู้สึกรักในแบบที่อยากจะสร้างความสัมพันธ์กันไปในระยะยาว เป็นรักแบบที่ลึกซึ้งกว่า 2 ระยะแรก โดยจะถูกกระตุ้นจากสาร 2 ชนิดคือ
- ออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นสารด้านความสัมพันธ์ที่จะช่วยสร้างความผูกพันกับคนที่เรารัก หากคู่รัก หรือคนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันบ่อย ๆ ก็จะทำให้สมองหลั่งสารชนิดนี้ออกมามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเวลากอด สัมผัส หรือการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อสารนี้หลั่งออกมาจะทำให้เกิดความรู้สึกเชื่อใจ และรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้สัมผัสอบอุ่นจากคนที่เรารัก
- วาโซเปรสซิน (Vasopressin) เป็นสารที่มีบทบาทต่อคู่รัก โดยจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการรักเดียวใจเดียว รักแบบลึกซึ้ง มีสติ ไม่ได้หึงจนหน้ามืดตามัว
ไม่ว่าเราจะชอบใครกี่คน ทำไมถึงยังเป็นคนแบบเดิม ๆ ทุกที
เคยรู้สึกสงสัยไหมว่าทำไมคนเรามักจะชอบแพ้ทางให้กับคนประเภทเดิม ๆ ทุกที ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำให้เรารู้สึกสะดุดตา คนที่ทำให้เรารู้สึกดีด้วย คนที่เป็นความประทับใจแรก คนที่เรายอมเปิดใจคุย แฟนเก่า แฟนคนปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกันเสมอ ในที่นี้หมายความรวม ๆ ถึงรูปร่างหน้าตา บุคลิก ลักษณะนิสัย แต่ละคนที่เรามีความรู้สึกพิเศษด้วยดูจะเป็นคนที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันไปหมด ไม่ค่อยจะแตกต่างกันแบบสุดขั้วเท่าไรนัก แม้ว่าความรักในครั้งที่ผ่านมาอาจจะไม่สมหวัง เจ็บปวด แต่เราก็หาได้เข็ดไม่กับคนประเภทนี้ คำถามคือ ทำไมจะต้องเป็นคนแบบนี้เท่านั้นที่ทำให้เรารู้สึกแพ้ทางอยู่เรื่อยเลย คนแบบนี้แหละที่ดีต่อใจเราได้เสมอ
แม้เราจะอาจจะเคยคิดว่าความรักมันเป็นเรื่องของความรู้สึกและไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่ทำให้รู้สึกรัก แต่ในแง่มุมของจิตวิทยา การตกหลุมรักใครสักคนหนึ่งมีที่มาที่ไปเสมอ
Imago Theory เป็นทฤษฎีที่จะมาอธิบายว่าทำไมเราถึงรู้สึกพิเศษกับคนที่มีบุคลิกหรือลักษณะนิสัยในแบบเดิม ๆ อยู่เรื่อย แม้ว่ารักครั้งเก่าที่ผ่านมาก็เคยเจ็บปวดกับคนประเภทนี้มาแล้ว แต่พอเจอรักใหม่ มันก็จะมีเงาของคนเก่าในร่างคนใหม่ติดมาด้วยโดยที่เราก็ไม่รู้ตัวว่าคนเก่ากับคนใหม่จะคล้ายกันขนาดนี้ ต้องมานั่งพิจารณาดี ๆ ถึงจะพบว่าคนเหล่านี้มักจะมีทั้งรูปร่างหน้าตาและนิสัยคล้ายกัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เรามักจะเจ็บและจบความสัมพันธ์ เพราะคนแบบเดิม ๆ และปัญหาเดิม ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรักครั้งที่เท่าไรก็ตาม
Imago Theory เป็นทฤษฎีที่ตั้งขึ้นโดย Harville Hendrix นักจิตวิทยาชาวสหรัฐฯ และภรรยา Helen LaKelly Hunt นักเคลื่อนไหวและนักเขียนชาวสหรัฐฯ ทั้งคู่อธิบายปรากฏการณ์ของทฤษฎีนี้ว่า คนเราทุกคนต่างมีความบกพร่องทางจิตใจช่วงวัยเด็ก โดยสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ของพ่อแม่และคนในครอบครัว และมันค่อนข้างส่งผลต่อจิตใจ เพราะอาจทำให้เกิดเป็นภาพจำที่เลวร้ายหรือเป็นช่องว่างที่เรารู้สึกขาดอะไรบางอย่าง และยังคงมีประสบการณ์หรือความทรงจำที่ฝังใจเสมอมา ทำให้เมื่อเราโตขึ้นนั้น เราจึงมักจะมองหาสิ่งที่จะมาช่วยเติมเต็มช่องว่างนั้นโดยไม่รู้ตัว
นั่นทำให้คนประเภทเดิม ๆ แบบนี้นี่แหละที่เป็น “สเปค” หรือ “คนที่ใช่” ของเรา ยามที่ได้รักแรก ๆ ความรักกำลังเบ่งบาน อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด อาการการตกหลุมรักทำให้เราเห็นแต่ข้อดีของอีกฝ่ายและเลือกที่จะมองข้ามข้อเสียต่าง ๆ ไปอย่างง่ายดาย เพราะเรากำลังรู้สึกว่าช่องว่างหรืออะไรบางอย่างที่หายไปในช่วงวัยเด็กของเรากำลังถูกเติมเต็ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรักเริ่มหมดโปรโมชัน เราจะเริ่มรับรู้ถึงการมีอยู่ของข้อเสียของคนอีกฝ่าย เริ่มที่จะโฟกัสกับสิ่งนั้นเรื่อย ๆ ทั้งที่ตอนแรกมองข้ามไปได้สบาย ๆ ในที่สุดก็นำไปสู่ความขัดแย้ง ปัญหาเรื้อรัง การทะเลาะกันแต่เรื่องเดิม ๆ ไม่ว่าจะความรักครั้งไหนก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่าง
อย่างไรก็ดี จากความบกพร่องในจิตใจช่วงวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นมา เรามีแนวโน้มที่จะเลือกคนที่นิสัย “ถ้าไม่เหมือนก็ตรงกันข้ามไปเลย” กับพ่อแม่ของเรา อันเป็นบุคคลที่มีส่วนทำให้เราเกิดความบกพร่องบางอย่างในใจนั่นเอง เพื่อที่จะไปอุดช่องโหว่นั้น แต่ทำไมมันถึงแยกออกเป็น 2 กรณีล่ะ
กรณีที่เลือกใครสักคนจากความบกพร่องทางใจแบบ “ตรงข้ามไปเลย” กับพ่อแม่ มันคือกลไกของการเลือกคนรักแบบตรงกันข้ามกับประสบการณ์ส่วนตัว มันคือการป้องกันตัวเองไม่ให้ไปเจอเข้ากับเรื่องแบบเดียวกันกับที่ตัวเองเคยประสบมาในอดีต แต่ในอีกกรณีที่เลือกใครสักคนจากความบกพร่องทางใจแบบ “เหมือน” กับพ่อแม่ มันคือการที่เราไม่สามารถเลือกปฏิเสธคนแบบที่ตัวเองไม่ชอบได้ ทั้งยังดึงดูดให้เจอแต่คนในแบบที่ตัวเราไม่ชอบ เพราะแรงผลักดันบางอย่างที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกโดยไม่รู้ตัว มันเป็นแรงขับของการพยายามเอาชนะปมในใจ เพื่อให้ช่องว่างถูกเติมเต็ม
นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีที่ถูกยกมาอ้างเพื่อตอบคำถามที่ว่าทำไมเราจึงมักจะแพ้ทางให้กับคบประเภทเดิม ๆ คือ Attachment Theory ซึ่งการนิยามความหมายของทฤษฎีโดยรวมจะคล้ายกับ Imago Theory โดยมีการอธิบายถึงความผูกพันนั้นเกี่ยวกับพ่อแม่และการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมและความสัมพันธ์ตอนที่เราโตขึ้น เราจะมีแนวโน้มที่จะเลือกคนรักที่คล้ายกับพ่อหรือแม่ของเรา มันเป็นความคุ้นชินและสบายใจที่จะอยู่กับคนประเภทที่เราคุ้นเคยนั่นเอง แม้ว่าจะเติบโตมาในครอบครัวที่ toxic แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกคนรักแบบที่ toxic อยู่ดี ถึงจะฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่ลึก ๆ แล้วเราเคยชินกับมัน และรู้ว่าจะต้องวางตัวอย่างไรในสถานการณ์แบบนั้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาก็เป็นเพียงแนวโน้มในการอธิบายว่าทำไมเราถึงรู้สึกพิเศษกับคนประเภทเดิม ๆ เป็นประจำ และก่อให้เกิดเป็นสเปกในใจขึ้นมา ถึงอย่างนั้น หลายคนก็วาดสเปกของคนรักของตัวเองขึ้นมาใหม่โดยอิงตามความคุ้นชินเดิม ๆ ในอดีตให้น้อยที่สุด โดยอาจจะวางสเปกจากคนที่นิสัยเข้ากันได้ คนที่มีในสิ่งที่เราไม่มี จึงจะสามารถเติมเต็มและส่งเสริมกันได้ หรือการที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ก็มีส่วน เพราะเราก็จะเจอแต่คนแบบเดิม ๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน มีความสนใจแบบเดียวกัน ทำให้เราสนใจ และมองหาคนแบบนั้นอยู่ตลอดนั่นเอง
นอกจากคนประเภทเดิม ๆ เรายังมีแนวโน้มจะถูกใจคนที่หน้าตาคล้ายตัวเองด้วย
เคยได้ยินคำพูดที่ว่า “เนื้อคู่จะหน้าตาคล้ายกัน” บ้างหรือไม่ จิตวิทยาสามารถอธิบายได้เช่นเคยว่าทำไมคนมีคู่นับวัน “หน้าตา” ยิ่งดูคล้ายกันมากขึ้นทุกที มันเป็นพรหมลิขิต เป็นบุพเพสันนิวาสหรือเปล่าเรื่องนั้นไม่แน่ใจและไม่อาจพิสูจน์ แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้คือ วิทยาศาสตร์
แม้ว่าหลายคนจะเถียงทันควันว่า “ไม่น่าจะใช่นะ ฉันไม่ได้ชอบหน้าตาตัวเองขนาดนั้น” แต่หลักฐานทางจิตวิทยาอธิบายว่า คนเราคุ้นเคยกับหน้าตาของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก (ส่องกระจกก็เห็นหน้าตัวเองทุกวัน) การที่เราเลือกคู่รักที่หน้าตาคล้ายกับตัวเราเอง ก็เพราะเขาทำให้เรารู้สึกไว้ใจ สบายใจ ราวกับเราว่าได้อยู่กับตัวเองอีกคน การเห็นใครบางคนที่คล้ายกับตัวเรา ทำให้เรารู้สึกสบายใจได้ในระดับหนึ่งและทำให้มีความสุขได้
Justin Lehmiller นักจิตวิทยาสังคมชาวอินเดียแนโพลิสจากสถาบันคินซีย์ อธิบายว่าผู้คนมักจะเข้าหาคนที่รู้สึกคุ้นเคย ซึ่งน่าจะมาจากจิตใต้สำนึกที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ หรือลักษณะบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี และสิ่งที่เราคุ้นเคย ก็มักจะเป็นสิ่งที่เราชอบ ลักษณะนี้อาจถูกมองว่าเป็นการปลอบโยน เราจึงมีโอกาสถูกดึงดูดได้ง่ายจากคนที่หน้าตาคล้ายกับเราอยู่แล้ว
ส่วน Tony Little นักวิจัยด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ในอังกฤษ ก็ให้ความเห็นว่าการที่คู่รักหน้าตาคล้ายกันมากนั้น มันมีสาเหตุทางจิตวิทยาก็คือ เรามีโอกาสที่จะถูกดึงดูดจากคนที่หน้าตาคล้ายเราอยู่แล้ว! แต่ความคล้ายคลึงกันที่ว่านี้ อาจดึงดูดเราให้เข้าหาใครบางคนในครั้งแรก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคบกันไปแล้ว เราจะมีความสัมพันธ์ที่มีความสุข
อีกสมมติฐาน นักจิตวิทยาอ้างถึงทฤษฎี “Assortative Mating” ว่าการเลือกคู่ครองที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับตัวเอง เป็นไปตามสัญชาตญาณของมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เผ่าพันธุ์หรือความเป็นเราดำรงอยู่ต่อไป นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเลือกคู่ครองที่หน้าตาคล้ายกันของมนุษย์ เป็นวิธีที่บุคคลพยายามส่งต่อพันธุกรรมของตนเองไปยังคนรุ่นต่อไปให้ได้มากที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตเราอยากให้มีคนหน้าเหมือนตัวเองยังคงอยู่บนโลก ลองคิดดูสิ ว่าถ้าเรากับแฟนที่หน้าตาคล้ายกันอยู่แล้วมีลูกด้วยกัน โอกาสที่ลูกจะดูเหมือนเราทั้งคู่แบบคัดลอกวางจะมากขนาดไหน
ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากเราจะรู้สึกอบอุ่นเพราะเหมือนอยู่กับตัวเองอีกคนแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังยืนยันด้วยว่า เราไม่ได้เลือกคู่ครองที่แค่หน้าตาเหมือนเราเพียงอย่างเดียว แต่มีโอกาสที่จะเลือกคนรักที่หน้าตาคล้ายกับพ่อและแม่ของตัวเองด้วย หากเป็นผู้ชาย ก็มีแนวโน้มที่จะชอบผู้หญิงที่คล้ายกับแม่ของตนเอง เช่นเดียวกัน ผู้หญิงก็มีแนวโน้มจะชอบผู้ชายที่คล้ายกับพ่อตนเองเหมือนกัน แต่เนื่องจากเราไม่สามารถเปลี่ยนให้แม่มาเป็นภรรยา หรือเปลี่ยนให้พ่อมาเป็นสามี เราก็เลยต้องเลือกคนที่มีอะไรคล้าย ๆ พ่อกับแม่มาเป็นคู่ชีวิตแทน
เนื่องจากรูปลักษณ์ของเรา ก็ถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาจากพ่อและแม่ของเราอยู่แล้ว การที่เราจะหน้าตาเหมือนพ่อและ/หรือแม่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก พอเป็นการเลือกแฟน ก็มีโอกาสที่จะเลือกคนที่หน้าคล้ายกับพ่อแม่ (และคล้ายตัวเราด้วย เพราะเราก็เหมือนพ่อแม่) อาจมาจากความรู้สึกผูกพัน รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วยกัน เหมือนว่าได้รับการปกป้องคุ้มครอง อยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่นหัวใจ เหมือนเวลาที่อยู่กับพ่อแม่
ยัง! ยังไม่หมด! เหตุผลที่ว่าทำไมคู่รักถึงมักจะหน้าตาคล้ายกัน อีกสาเหตุก็คือคู่รักบางคู่ใช้เวลาอยู่ร่วมกันกันบ่อย สามารถซึมซับพฤติกรรมบางอย่างของกันและกันได้ เช่น การยิ้มหรือหัวเราะ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ที่ทำให้คนทั้งคู่มีริ้วรอยในจุดเดียวกัน ข้อสังเกตนี้ นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานที่ว่า การแบ่งปันประสบการณ์ของคู่รัก อาจส่งผลต่อรูปลักษณ์ของคู่รักด้วยเช่นกัน การศึกษานี้ไอ้างถึงความสัมพันธ์ของคู่รักที่เข้ากันได้ดี ว่ามักจะสะท้อนนิสัยและภาษากายของกันและกัน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาสบายใจ และไว้ใจในความสัมพันธ์นี้ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าคู่แต่งงานมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนนิสัยของตนเองไปโดยไม่รู้ตัวตลอดชีวิตแต่งงาน
ข้อมูลจาก Examined Existence, Living in healthy connection