รู้เท่าทัน! ภาวะครรภ์เป็นพิษ คืออะไร แม่ท้องแบบไหนที่มีความเสี่ยง?
เชื่อว่าคุณแม่หลายคนอาจจะมีข้อสงสัยความแตกต่างระหว่างอาการครรภ์เป็นพิษกับภาวะตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง ซึ่งภาวะตั้งครรภ์ความเสี่ยงสูง คือภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ในขณะที่อาการครรภ์เป็นพิษคือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ วันนี้เราจึงอยากชวนให้คุณแม่มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการครรภ์เป็นพิษ ผู้ที่มีความเสี่ยง และวิธีการป้องกันกันค่ะ
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
ภาวะครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการตั้งครรภ์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝังตัวของทารกบริเวณเยื่อบุผนังมดลูกไม่แน่น จึงทำให้ได้รับเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงได้อย่างไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดการหลั่งสารพิษเข้าสู่กระแสเลือด ตลอดจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา ในส่วนของภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถทำให้คุณแม่และทารกน้อยในครรภ์เสียชีวิตได้ โดยผลการสำรวจพบว่าทั่วโลกมีหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษมากถึง 76,000 รายต่อปี และมีทารกเสียชีวิตจากภาวะครรภ์เป็นพิษมากถึง 500,000 รายต่อปีเลยทีเดียว
ผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
ในส่วนของผู้ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษสามารถจำแนกออกดังนี้
1.คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวาน
2.คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความดันโลหิตสูง
3.คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคไทรอยด์
4.คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคไต
5.คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง หรือ SLE
6.คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอ้วน โดยมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30
7.คุณแม่ตั้งครรภ์จากการใช้วิทยาการช่วย เช่น ฉีดเชื้อ ไข่บริจาคหรือสเปิร์มบริจาค
8.คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 35 ปี
9.คุณแม่ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
อาการครรภ์เป็นพิษ
สำหรับอาการครรภ์เป็นพิษที่สามารถสังเกตได้มีดังนี้
1.ความดันโลหิตสูง
2.มีโปรตีนรั่วออกมาปะปนกับปัสสาวะ
3.มีอาการบวมที่บริเวณมือและหน้า
4.มีอาการปวดศีรษะ
5.มีอาการตาพร่ามัวหรือมองเห็นภาพไม่ชัด
6.มีอาการปวดจุกแน่นที่บริเวณลิ้นปี่หรือบริเวณท้องด้านบนขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งวางของตับ
7.มีเกล็ดเลือดต่ำ
8.มีอาการชัก
9.ตับทำงานผิดปกติ
10.มีเลือดออกในสมอง
วิธีการป้องกันอาการครรภ์เป็นพิษ
วิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เสี่ยงเกิดอาการครรภ์เป็นพิษก็คือ คุณแม่ควรไปตรวจตามระยะเวลาที่แพทย์นัดทุกครั้ง พร้อมทั้งปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด หากเกิดความผิดปกติใดๆ แพทย์สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้คุณแม่ควรสังเกตตนเองดูว่ามีอาการบวม ปวดหัว หรือน้ำหนักขึ้นเร็วผิดปกติหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวนี้ก็สามารถไฟพบแพทย์ได้ทันที
คุณแม่จะเห็นได้ว่าอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนของการเกิดอาการครรภ์เป็นพิษมีมากมาย ซึ่งหลากหลายอาการคุณแม่สามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งในขณะตั้งครรภ์หากมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นในร่างกายของคุณแม่ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันที อย่าปล่อยไว้เด็ดขาด เพราะบางทีอาจทำให้เกิดผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ได้