อาหารชนิดไหนมี "ไซยาไนด์" ต้องทำอย่างไรให้ปลอดภัยก่อนทาน
ทราบกันหรือไม่ว่า "ไซยาไนด์" เองก็เป็นสารปนเปื้อนที่มีอยู่ตามธรรมชาติและปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งหากรับประทานไปในปริมาณมากก็ส่งผลอันตรายได้ถึงชีวิต แล้วทราบหรือไม่ว่าเราสามารถพบไซยาไนด์ได้ในอาหารประเภทใด และจะต้องทำอย่างไรเพื่อลดอันตรายจากไซยาไนด์
ไซยาไนด์ คืออะไร
ไซยาไนด์เป็นสารพิษอันตราย และมีพิษร้ายแรงเฉียบพลัน และจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หากครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตมีโทษทั้งจำและปรับ โดยที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ที่มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษรุนแรงเมื่อนำไปเผาไหม้ เมื่อสูดดมจะทำให้ระคายเคืองและอาจทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ จนถึงอาจเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
อาหารที่มีสารไซยาไนด์
1) มันสำปะหลัง พบในรูปลินามาริน และโลทอสตราลิน ร้อยละ 80-90 ส่วนที่เหลือพบในรูปของไซยาไนด์อิสระ หรือไฮโดรเจน ไซยาไนด์ ถ้าทานมันสำปะหลังดิบในส่วนของหัว ราก หรือใบ อาจทำให้ถึงแก่ชีวิต เพราะส่งผลต่อระบบหัวใจ และทางเดินโลหิต ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง อาเจียน หายใจขัด ชักกระตุกกล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก สำหรับอาการพิษแบบฉับพลันคือเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน และอุจจาระร่วง
2) หน่อไม้สด ในหน่อไม้ดิบมีสารที่สามารถเปลี่ยนเป็นไซยาไนด์ที่มีพิษต่อร่างกาย และทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการกินหน่อไม้ดิบ หรือไม่ผ่านการปรุงสุก และถ้ารับประทานเข้าไปมากๆ อาจเข้าไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจนจะทำให้ขาดออกซิเจน หมดสติและเสียชีวิต
ดังนั้นหากทาน อาหารที่มีสารไซยาไนด์ ควรนำไปปรุงให้สุกไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ได้ ส่วนแป้งมันสำปะหลังนั้นผ่านกระบวนการผลิตมาเรียบร้อยแล้วจึงไม่ต้องกังวล