ทำไม "ข้าวมันไก่" บูดง่าย ไม่เหมาะทำข้าวกล่องที่ต้องใช้เวลาเก็บนานๆ
เราคงคุ้นเคยกับเมนู "ข้าวมันไก่" เนื่องจากเป็นเมนูทำง่าย ทานง่าย และหลายๆ คนก็ชื่นชอบ แต่ทราบหรือไม่ว่ากรมอนามัยเคยแนะนำว่า "ข้าวมันไก่" ไม่เหมาะสำหรับทำเป็นอาหารกล่องที่ใช้ในการจัดทัศนศึกษาหรือท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะ เนื่องจากต้องทำเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาเก็บนานเกิน 4 ชั่วโมง เพราะเสี่ยงต่อการบูด ทำให้เกิดโรคท้องร่วงซึ่งเกิดจากเชื้อแสตปฟิโลคอคัสออเรียส ที่เจริญเติบโตและผลิตสารพิษปนเปื้อนในข้าวมันไก่ คราวนี้เราลองมาดูกันว่าเพราะสาเหตุใดบ้างที่อาจทำให้ข้าวมันไก่บูดง่าย
1.เนื้อไก่แขวนทิ้งไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง
2.การนำเนื้อไก่ที่แช่แข็งมาต้มทันที เพราะจะทำให้ความสุกไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเนื้อติดกระดูกซึ่งสังเกตได้ว่าจะมีเลือดสดๆ ติดอยู่ ดังนั้นควรนำไก่แช่แข็งมาแช่ในตู้เย็นอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 คืนก่อนนำมาต้ม
3.ไก่ที่ปรุงสุกแล้วหากนำมาแขวนในตู้ ต้องนำไปลวกในน้ำซุปที่เดือดประมาณ 15 วินาทีทุก 2 ชั่วโมง และไก่แต่ละตัวควรขายไม่เกิน 4 ชั่วโมง หากเกินต้องนำไปต้มอีกรอบ
4.การใช้มีด เขียง ควรแยกสำหรับหั่นเนื้อไก่โดยเฉพาะ
5.ข้าวมันต้องรักษาอุณหภูมิให้ร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียสตลอดเวลา
6.ผักชี แตงกวา ต้องล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า และแช่ในน้ำเกลือ หรือน้ำส้มสายชู หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตนาน 15-30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2 ครั้งก่อนนำไปขาย
คำแนะนำหากจะเลือกรับประทานข้าวมันไก่ให้ปลอดภัยไม่เสี่ยงอาหารเป็นพิษคือเลือกร้านที่สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ข้าวมัน เนื้อไก่ ผัก น้ำจิ้มต้องมีภาชนะปิด ไม่มีกลิ่นบูด ผู้ขายต้องแต่งกายสะอาดสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผม และให้สังเกตไก่ที่แขวนควรมีผิวหนังเต่งตึง ไม่มีกลิ่นเหม็นหากไม่มั่นใจให้ผู้ขายลวกเนื้อไก่ในน้ำซุปที่เดือดประมาณ 15 วินาทีก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค