เช็กสัญญาณ Toxic Relationship เซฟใจเมื่อเจอกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและอันตราย

เช็กสัญญาณ Toxic Relationship เซฟใจเมื่อเจอกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและอันตราย

เช็กสัญญาณ Toxic Relationship เซฟใจเมื่อเจอกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและอันตราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ไหวตัวให้ทัน ก่อนจะไม่ไหว" ในช่วงเวลาชีวิตของเรานั้นอาจจะเจอกับความสัมพันธ์ที่เข้ามาในทุกรูปแบบทั้งแบบที่ดีและไม่ดีปะปนในชีวิตกันไป ถ้าดีทุกอย่างก็ดีจนรู้สึกว่าเป็นความสบายใจของชีวิต แต่ถ้าไม่ดีอะไรในชีวิตก็ดูเหมือนจะแย่ลงไปจนเราสามารถจมอยู่กับสิ่งนั้นได้ตลอดไป ความสัมพันธ์นี้เรียกได้ว่าเป็น "Toxic Relationship" ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและอันตรายถ้าหากได้เริ่มเข้ามาในวงจร ฉะนั้นเมื่อไรที่เราเริ่มรู้สึกไม่สบายใจในความสัมพันธ์การรู้สึกตัวเร็วก็จะทำให้เราสามารถไหวตัวออกมาได้ทัน ก่อนที่ทุกอย่างจะแย่ลงไป แบบนั้นเรามาดู "วิธีสังเกตความสัมพันธ์อันตรายและ How to การเดินออกมา" แม้จะยากในช่วงแรกแต่จะเป็นผลดีในอนาคตกัน

Toxic Relationship ความสัมพันธ์นี้คืออะไร !?

ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษและอันตราย เป็นความสัมพันธ์เชิงลบจนติดลบไม่ไหว เมื่อยิ่งใช้เวลาอยู่ด้วยกันไปในระยะหนึ่งเกิดความรู้สึกบั่นทอนจิตใจกันและกันไปมา โดยเริ่มจากการที่ไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน การไม่เคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวต่อกัน และการใช้อำนาจกับคนอื่นจนรู้สึกอึดอัดเกินไป โดยความสัมพันธ์แบบนี้ทุกคนอาจจะเคยได้ยินมาจากคนที่เป็นคู่รักหรือคู่ครองกันส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันความสัมพันธ์นี้นั้นครอบคลุมไปถึงคนในครอบครัวได้ด้วย เพราะเมื่อไรที่เราเริ่มรู้สึกไม่สบายใจในความสัมพันธ์ ทั้งรู้สึกแย่จนอยากเดินออกมา นั่นคือ "Toxic Relationship"

เช็กสัญญาณเตือน Toxic Relationship ให้ทันก่อนอะไรจะสายเกินไป

1. ผิดเสมอ แม้จะถูก

เมื่อทุกอย่างมาจบที่การทะเลาะกันสิ่งนั้นจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนผิดอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าในสถานการณ์ตอนนั้นเราจะเป็นฝ่ายถูกก็ตาม การกระทำเช่นนี้ทำให้ความรู้สึกของเรารู้สึกว่าเสียเปรียบอยู่ตลอด เพราะเหมือนว่าสิ่งที่ทำไปทุกอย่างเมื่อเกิดความผิดพลาดจะต้องเป็นตัวเราที่ต้องรับผิดชอบ และหากในตอนนั้นเมื่ออีกฝ่ายนำอารมณ์เข้ามาด้วย ก็เหมือนยิ่งเป็นการบั่นทอนของคนฟังได้เป็นอย่างดี


2. ยิ่งอยู่ ยิ่งรู้สึกไม่ปลอดภัย

ความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเมื่อการกระทำของอีกฝ่ายมีอิทธิพลกับเราจนรู้สึกไม่ปลอดภัย อย่างเช่น เมื่อเกิดการทะเลาะกันหากอีกฝ่ายมีการลงไม้ลงมือ แม้จะเป็นเพียงหนึ่งครั้งก็สามารถกลายเป็นฝันร้ายกับอีกฝ่ายได้ตลอดไป ทำให้รู้สึกว่าครั้งต่อไปจะต้องมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีก แบบนี้เป็นต้น ดังนั้นแล้วเมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจและแย่กับความสัมพันธ์แบบนี้เราต้องกลับมาทบทวนกับตัวเองใหม่อีกครั้งและจะจัดการยังไงต่อไป


3. รู้สึกเจ็บปวดทั้งกายและใจ

เมื่อคำพูดนั้นเป็นดาบสองคม ความรู้สึกของเราไม่ควรจะชินชากับการพูดไม่ดี เพราะเมื่อไรที่เรารู้สึกมีความเจ็บปวดไปกับคำพูดและการกระทำของอีกฝ่ายนั้นก็อาจจะเป็นข้อควรสังเกตว่าทำไมเรายังรู้สึกรับมันได้ไหวอยู่ แม้อาจจะเป็นการสนทนาในเรื่องทั่วไป ที่รู้สึกยิ่งพูดหรือยิ่งฟังก็ไม่สามารถทำให้เรารู้สึกดีได้เลย กลับกลายเป็นว่าเรารู้สึกเศร้าและเจ็บปวดไปหมดกับการแสดงออกมาของอีกฝ่ายนั้น


4. "เหนื่อย" จนรู้สึกไม่ไหว

ความสัมพันธ์ที่ดีมันคือความสัมพันธ์ที่เป็นเซฟโซนให้กันและกัน แต่ถ้ามีความรู้สึกนี้เมื่อไร ที่เริ่มเข้ามาแทรกซ้อนให้เรารู้สึกว่ายิ่งเหนื่อยทั้ง ๆ ที่ควรจะมีความสุขมากกว่านี้ บางทีเราต้องหยุดแล้วหรือเปล่า เพราะเมื่อยิ่งพยายามมากเท่าไรกลับกลายเป็นว่าเราเป็นคนเหนื่อยแทน โดย "เหนื่อย" นั้นอาจจะมาจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สะสมมาเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยที่อีกฝ่ายคิดว่าเป็นเรื่องปกติ


5. ความส่วนตัวที่หายไป

เพราะความสัมพันธ์ที่ดีควรที่จะมีพื้นที่ให้กันแบบไม่ก้าวก่าย ไม่ใช้อำนาจกับอีกฝ่ายจนรู้สึกอึดอัดเกินไปกับการกระทำ ซึ่งเมื่อไรที่เริ่มรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ให้ความเคารพสิทธิส่วนตัวซึ่งกันและกัน นั่นแหละเริ่มแย่แล้ว อย่างเช่น การไม่ส่งเสริมการแต่งตัวของเราจนบางครั้งเรารู้สึกเริ่มไม่มีความมั่นใจในตัวเองและคิดมากทุกครั้งเมื่อต้องแต่งออกไปข้างนอก หรืออาจจะเป็นการเช็คโทรศัพท์หรือโซเชียลส่วนตัวของเราจนเกินไป เป็นต้น แบบนั้นแล้วพื้นที่ส่วนตัวของเราก็จะเริ่มค่อย ๆ หายไปนั่นเอง


How to รีบถอยจาก Toxic Relationship ก่อนจะเจ็บ


1. ยอมรับและทำความเข้าใจ
เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เรารู้สึกไม่ไหวและไม่สามารถไปต่อได้กับความสัมพันธ์ สิ่งที่ต้องทำอย่างมากคือการยอมรับและเข้าใจ เพราะทุกความสัมพันธ์นั้นย่อมจะมีปัญหาของมันเข้ามาอยู่แล้ว และการยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้เรากล้าที่จะตัดสินใจ กล้าที่จะก้าวผ่านความเจ็บปวดออกมาเพื่อรักษาใจของตัวเอง


2. หันหน้าเข้าหากัน
ปัญหาสามารถแก้ได้เมื่อเราพูดคุยให้เข้าใจมากขึ้น ในกรณีนี้นั้นขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถที่จะพูดได้หรือตัดออกไปเพื่อความสบายใจของเราด้วย แต่หากความสัมพันธ์ยังพอประคับประคองไปได้ การจับเข่าคุยกันนั้นถือเป็นตัวเลือกที่ดีโดยการเปิดใจพูดอย่างจริงใจ และสามารถเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดความสัมพันธ์ที่เป็นพิษเกิดขึ้นอีกครั้ง



3. กลับมาทบทวนตัวเอง
บางครั้งการเกิดความสัมพันธ์ที่อันตรายนี้ขึ้นอาจจะมาจากการที่ความสัมพันธ์นั้นแนบแน่นจนเกินไป จนทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดได้ เพราะในทุก ๆ ความสัมพันธ์การมีพื้นที่ให้กันเป็นเรื่องที่ดี เช่นนั้นแล้วหาพื้นที่หรือช่องว่างความสัมพันธ์เพื่อกลับมาทบทวนกับตนเอง ว่าจะเลือกทางไหนหรือช่วยให้ความสัมพันธ์นี้ดีขึ้นยังไง


4. หาคนสนิทใจหรือที่ปรึกษา
การมีคนรับฟังนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะอาจจะเคยได้ยินว่า ' โค้ชเขาไม่ลงเล่นสนาม ' คนนอกย่อมรู้สถานการณ์จากการมองภายนอกได้เป็นอย่างดี เพราะบางทีที่เราไม่สามารถออกมาได้เพราะติดในความสัมพันธ์ที่เป็นแบบผูกพันธ์กันมานาน ซึ่งการที่เรามีคนที่พร้อมให้คำปรึกษาเรานั้นอาจจะทำให้เราลองย้อนกลับมาสังเกตพฤติกรรมของตนเองได้

เดินหน้าไปแล้ว ถ้าจะถอยก็ย่อมได้ เพราะถ้าเลือกที่จะเดินหน้าต่อไปอะไรในความสัมพันธ์ก็จะยิ่งแย่ลงไปด้วย ฉะนั้นการที่เราลองกลับมาสังเกตหรือทบทวนตัวเองอีกครั้งในความสัมพันธ์อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่จะทำให้เรากล้าที่จะเดินออกมาก็ได้ ฉะนั้นเมื่อไรที่เราแย่และไม่สบายใจให้กลับมาทบทวนและตัดสินใจให้เร็ว เพราะปล่อยไว้นาน ๆ คนที่ทรมานจะกลายเป็นตัวของเราเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook