6 อาหารที่ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นแนะนำว่าช่วยรักษาสุขภาพที่ดีของหลอดเลือด
หากหลอดเลือดมีสุขภาพดีก็จะช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีและช่วยยืดอายุของคนเราให้ยืนยาวขึ้น นอกจากหมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนสมดุล และไม่สูบบุหรี่แล้ว การรับประทานอาหารที่ช่วยรักษาสุขภาพหลอดเลือดก็มีส่วนเช่นกัน
อาหารดังต่อไปนี้เป็นอาหารที่คุณหมอ Ryo Otsuka ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจแนะนำว่าหากมีติดครัวและตู้เย็นไว้แล้วรับประทานเป็นประจำทุกวัน จะช่วยคงสุขภาพที่ดีของหลอดเลือดไปนานๆ ค่ะ
อาหาร 6 ชนิดที่ช่วยรักษาสุขภาพของหลอดเลือด ป้องกันความดันโลหิตสูงและภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
1.กระเทียม
สารอัลลิซิน (Allicin) ที่เกิดจากการหั่นและสับกระเทียมแล้ววางไว้ 10 นาที จะเปลี่ยนเป็นสารอะโจอีน (Ajoene) โดยความร้อนที่ใช้ปรุงอาหาร สารชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและช่วยสลายลิ่มเลือด นอกจากนี้ สารประกอบซัลเฟอร์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปรุงอาหารจะช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ดเลือดและทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดดี
วิธีการรับประทานทำได้โดยการหั่นหรือสับกระเทียมทิ้งไว้ 10 นาที แล้วผัดพอสุกด้วยน้ำมันกับวัตถุดิบอื่นๆ
2. ปลาหนังสีน้ำเงิน
ปลาหนังสีน้ำเงิน ได้แก่ ปลาซาบะและปลาซาร์ดีน เป็นต้น อุดมไปกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งได้แก่ EPA และ DHA ที่ช่วยให้การไหลเวียนเลือดราบรื่น นอกจากนี้ ซาร์ดีนเปปไทด์ที่มีมากในทั้งปลาซาบะและปลาซาร์ดีนจะช่วยกดการสร้างฮอร์โมนแองจิโอเทนซิน II (Angiotensin II) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการหดตัวของหลอดเลือดแดงและเพิ่มความดันโลหิต
3. เนื้อสันในไก่
กรดอะมิโนอาร์จินีน (Arginine) ที่มีมากในเนื้อสันในไก่ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างไนตริกออกไซด์ (Nitric oxide (NO)) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัวและส่งผลให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น
4. ข้าวบาร์เลย์
ข้าวบาร์เลย์มีส่วนประกอบของเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำมากกว่าข้าวกล้อง โดยเส้นใยชนิดนี้ทำหน้าที่ดูดซับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารจึงช่วยป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดการสร้างความตึงเครียดให้กับหลอดเลือด นอกจากนี้ แมกนีเซียมที่มีมากในข้าวบาร์เลย์จะช่วยยับยั้งการสร้างลิ่มเลือด วิธีการนำมารับประทานทำได้โดยการหุงข้าวบาร์เลย์และรับประทานแทนข้าว
5. ถั่วต่างๆ
วิตามินอีที่มีมากในถั่วต่างๆ โดยเฉพาะอัลมอนด์เป็นสารอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันไม่ให้ออกซิเจนที่มีพลัง (Active oxygen) ที่ผลิตขึ้นโดยร่างกายไปทำลายผนังหลอดเลือด จนเป็นเหตุให้เกิดการอักเสบและอุดตันของหลอดเลือด ทั้งนี้การเลือกถั่วต่างๆ มารับประทานควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ถั่วทอดในน้ำมันและเติมเกลือลงไป
6. แตงโม
น้ำแตงโมอุดมไปด้วยกรดอะมิโนซิทรูลีน (Citrulline) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่เกี่ยวข้องกับไนตริกออกไซด์ที่มีคุณสมบัติในการขยายหลอดเลือด ช่วยเสริมอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และช่วยฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าได้ดี
เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัย 30 ปี ความเสื่อมของร่างกายจะเกิดขึ้นทีละน้อย หากละเลยไม่ใส่ใจก็จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันได้ง่าย สุขภาพดีไม่มีขายค่ะ มาดูแลใส่ใจสุขภาพของเราโดยเริ่มต้นจากการรักษาสุขภาพหลอดเลือดตั้งแต่วันนี้กันค่ะ
อัลบั้มภาพ 7 ภาพ