ลักษณะแม่ท้องแบบไหน ครรภ์เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง รู้ไว้รับมือได้ทัน

ลักษณะแม่ท้องแบบไหน ครรภ์เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง รู้ไว้รับมือได้ทัน

ลักษณะแม่ท้องแบบไหน ครรภ์เข้าข่ายมีความเสี่ยงสูง รู้ไว้รับมือได้ทัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในปัญหาที่คุณแม่ท้องมักจะเป็นกังวลอย่างมากก็คือ ครรภ์เสี่ยงสูง ซึ่งปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณแม่บางคนที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพอยู่แต่เดิมแล้ว อาจจะมีความกังวลกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก วันนี้เราจึงได้รวมลักษณะของคุณแม่ท้องที่เข้าข่ายครรภ์มีความเสี่ยงสูง มาบอกให้คุณแม่ทุกคนได้ทราบกันค่ะ เพื่อที่อย่างน้อยคุณแม่จะได้เตรียมตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้


ครรภ์มีความเสี่ยงสูง คืออะไร

ครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง คือ การตั้งครรภ์ที่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงกว่าครรภ์ทั่วไป ทั้งนี้คุณแม่ที่ถูกจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ครรภ์เสี่ยงสูงจึงต้องได้รับการดูแลในระหว่างที่กำลังตั้งครรภ์มากเป็นพิเศษ ไม่ควรใช้ชีวิตเหมือนปกติจนเกินไป เช่น ทำงานหนัก ออกกำลังกาย ออกแรง หรือยกของหนัก ทั้งนี้ครรภ์เสี่ยงสูงที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องบางราย ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ในระยะแรก แต่จะเกิดขึ้นตอนคลอดหรือหลังคลอด ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้เสี่ยงอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ถึงลักษณะของการตั้งครรภ์ที่เข้าข่ายครรภ์เสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน


ลักษณะของคุณแม่ท้องที่เข้าข่ายครรภ์เสี่ยงสูง

ในส่วนของคุณแม่ที่เป็นกังวลว่าตัวเองจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มคนท้องที่เข้าข่ายครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ อย่าเพิ่งเป็นกังวลมากจนเกินไป เพราะนั่นอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายในระหว่างตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ลักษณะของคุณแม่ท้องที่เข้าข่ายครรภ์เสี่ยงสูง สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1.คุณแม่ท้องมีอายุน้อยกว่า 17 ปี เมื่อครบกำหนดคลอด

2.คุณแม่ท้องมีอายุมากกว่า 35 ปี เมื่อครบกำหนดคลอด

3.ดัชนีมวลกายของคุณแม่ท้องต่ำกว่า 19 หรือมากกว่า 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

4.คุณแม่ท้องมีพฤติกรรมเสพยาเสพติด สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และมีประวัติการใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ

5.กรุ๊ปเลือดของคุณแม่ท้องเป็นกรุ๊ปเลือดที่หายาก

6.คุณแม่ท้องตั้งครรภ์ลูกแฝดในครรภ์นี้

7.มีเลือดออกในระหว่างตั้งครรภ์

8.คุณแม่ท้องเคยมีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์ที่แล้ว หรือเสียชีวิตใน 1 เดือนแรกหลังคลอด

9.คลอดทารกพิการในครรภ์ที่แล้ว

10.มีประวัติคลอดก่อนกำหนด

11.เกิดภาวะแท้งติดต่อกัน 3 ครั้งขึ้นไป

12.ครรภ์ที่แล้วเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

13.ครรภ์ที่แล้วคลอดลูกที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 2.5 กิโลกรัม หรือมากกว่า 4 กิโลกรัม

14.คุณแม่ท้องมีปัญหาสุขภาพและโรคประจำตัว เช่น เป็นเนื้องอกที่มดลูก เนื้องอกที่รังไข่ มีก้อนในอุ้งเชิงกราน เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคหนองใน เป็นหูดหงอนไก่ ซิฟิลิส และเอชไอวี

15.คุณแม่ท้องเคยผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดปากมดลูก หรือผ่าตัดคลอดมาก่อน

แม้ว่าจะมีข้อกำหนดหรือลักษณะต่างๆ ของคุณแม่ท้องที่เข้าข่ายครรภ์เสี่ยงสูงเป็นจำนวนมาก แต่ในความเห็นของสูตินารีแพทย์มองว่า ทุกการตั้งครรภ์ล้วนมีโอกาสที่จะเป็นครรภ์เสี่ยงสูง ดังนั้นจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายในช่วงตั้งครรภ์ให้ดี แทนที่จะเป็นกังวลว่าตัวเองจะเข้าข่ายหรือเสี่ยงที่จะเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook