เจาะชีวิต 6 ทูตนฤมิต ตัวแทนกระบอกเสียงชาวสีรุ้ง
ต้อนรับสู่ Pride Month ในเดือนมิถุนายน 2566 เดือนที่เฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ ของเหล่า LGBTQ+ ซึ่งหากพูดถึงบิ๊กเฟสติวัลกับสัญลักษณ์หัวใจสีรุ้งสำหรับงานนี้ก็คงหนีไม่พ้นเจ้าภาพของการจัดงานอย่าง บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ที่ขับเคลื่อนและสร้างปรากฎการณ์ถนนสีรุ้งเมื่อปีที่ผ่านมา (2022) และในปีนี้หากใครที่ติดตามข่าวสาวของชาวสีรุ้ง คงจะเคยเห็นภาพกลุ่ม LGBTQ+ ที่สวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใด บ่งบอกความเป็นตัวของตนเองผ่านการสไตล์ลิสต์ได้อย่างลงตัว โดยพวกเขาถูกเรียกว่า 6 ทูตนฤมิตบางกอกไพรด์ 2023
ก่อนจะไปรู้จักกับ 6 ทูตนฤมิตบางกอกไพรด์ จะพามารู้จักผู้อยู่เบื้อหลังชุดสุดอลังการ สีสันสดใส ดีไซน์เป็นเริ่ดของเหล่าทูตนฤมิต เขาคือ โป้ง จรัญ คงมั่น ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ดีกรีจบแฟชั่นดีไซน์จากมหาวิทยาลัยรังสิต โป้งเล่าว่า “ตนเองมีความสนใจในเรื่องประเด็นสังคม มาตั้งแต่สมัยเรียน บวกกับเป็นคนชื่นชอบในเรื่องแฟชั่นและเสื้อผ้า จึงคิดว่าอยากนำความรู้และความถนัดของตนเองมาถ่ายทอดและเป็นไอเดียในการเคลื่อนไหวสังคมผ่านเสื้อผ้า เพราะมองว่าแฟชั่นเสื้อผ้า คือเครื่องมือรูปหนึ่งที่สามารถแสดงออก สื่อสารประเด็นต่างๆได้ และสำหรับแรงบันดาลใจ หรือแนวทางในการออกแบบหลักๆคือ การใช้สีชุดให้ล้อไปกับขบวนพาเหรดของงานบางกอกไพรด์2023 ส่วนการตัดเย็บ ดีไซน์ชุดนั้นได้ดึงตัวตนเรื่องราวของผู้สวมใส่และแรงบันดาลใจจากไพรด์เป็นแกนหลักในการออกแบบ เพราะเชื่อว่าหากเหล่าทูตนฤมิตได้สวมใส่ชุดที่ตรงกับเรื่องราวของตนเองแล้วจะเป็นการฟื้นฟูและเพิ่มพลังในการสื่อสาร เคลื่อนไหวประเด็นต่างๆของพวกเราชาวสีรุ้งได้เป็นอย่างดี”
รู้จักผู้อยู่เบื้องหลังชุดอันโดดเด่นแล้ว ก็มารู้จัก 6 ทูตนฤมิตบางกอกไพรด์ 2023 กันต่อ……
มีมี่ (Memee) ทูตนฤมิตที่โดดเด่นด้วยชุดสีแดงชมพู ชื่อ Valor แรงบันดาลใจจากความหมายของดอกไอริส และ เทพีไอริส ดีไซน์ของชุดจึงใช้โครงชุดนักรบเพื่อแสดงออกถึงความกล้าหาญแต่เพิ่มความสดใสตามคาแรคเตอร์คนใส่เพื่อนำเสนอว่ารูปลักษณ์หรือวิธีการแสดงออกถึง "ความกล้าหาญ" ไม่ได้มีลักษณะหรือรูปแบบเดียว ซึ่งชุดที่สวมใส่สามารถสะท้อนตัวตนของมีมี่ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีมี่ ผ่านเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เป็นนักกิจกรรมเยาวชนที่มีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสื่อสารประเด็นทางสังคม มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนในประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ปีนี้ได้เป็นตัวแทน Thailand Youth Delegate ในการประชุม Amnesty International ประจำปี 2023 และได้รับคัดเลือกเป็น Tomorrow's leaders โดย UNDP
ต้น (Ton) ที่ใครๆ ก็รู้จักในฐานะผู้นำจัดงานเชียงใหม่ไพรด์ ผู้ผ่านเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศต้นเป็นนักปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศและสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียและนานาชาติที่มีผลงานการรณรงค์ประเด็นทางสังคมอย่างโดดเด่น และปัจจุบันขยายพื้นที่รณรงค์ไปสู่ Tiktoker ที่นำเสนอปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขได้อย่างถึงใจ ต้นจึงได้สวมใส่ชุด ดปัญญา (Wise)หนึ่งในความหมายของดอกไอริส ที่มีดีไซน์ในส่วนของโครงเส้นชุดให้ดูเหมือนมีรัศมีของปัญญาเปล่งออกมาจากศีรษะ การมองเห็นคุณค่าของปัญญาจากชุดประสบการณ์ชีวิตที่มีต้นทุนแตกต่างกันคือสิ่งที่จะทำให้เราหันมามองเห็นคุณค่าของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมซึ่งการปรากฏตัวทุกครั้งของต้นคือการบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญของการขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิความหลากหลายทางเพศ
มุ้ย (Muii) กับการสวมใส่ชุดชุดที่ชื่อว่า แพนนี่ (Panny) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากดอกไอริสและสีธงของรสนิยมทางเพศแบบ pansexual และ panromantic คาแรกเตอร์ที่ดีไซเนอร์ต้องการสะท้อนความเมตตา การเปิดใจ เป็นคาแรกเตอร์ที่อ่อนนุ่มแต่รัศมีแผ่ขยาย เพื่อสื่อสารความรักและรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายเพราะมุ้ย คือ ผู้นำและเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมทั้งเพศทั้งในบ้าน ที่ทำงานและสังคม มุ้ยเคยเป็นผู้นำหลักในการดำเนินนโยบายยุติรุนแรงทางเพศในสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันเธอมุ่งมั่นในการทำงานสิทธิด้านการมีสุขภาวะที่ดี (well-being) ของนักกิจกรรม และเธอจะเป็นผู้เย็บธงรุ้งแห่งความภาคภูมิใจผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่จะนำมาร่วมขบวนในงานบางกอกไพรด์
ยัด (Yahya) ชุดดอกไอริสสีเขียวที่มีความสุขุม เทห์ แต่มาพร้อมกับ ความหวัง (Hope) เพราะตามธรรมชาติดอกไอริสสีเขียวหายากมาก ดังนั้นยัดจึงเป็นตัวแทนที่เปรียบเสมือนความหวังที่พบเจอยากแต่สำคัญที่สุดในการเคลื่อนไหวทางสังคม และยัด ผ่านเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ กับการเป็นเยาวชนข้ามเพศ เขาเป็นนักกิจกรรมรณรงค์สิทธิของเยาวชนข้ามเพศในชุมชนคนไทยเชื้อสายอินเดีย และเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อรณรงค์ประเด็นพื้นที่ปลอดภัยของเยาวชนความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ครอบครัว โรงเรียนและชุมชน การปรากฏตัวของยัดในบทบาททูตบางกอกไพรด์ประจำปีนี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ต้อนรับเยาวชนที่มีอัตลักษณ์ทับซ้อนและหลากหลายให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนความหลากหลาย เพื่อถ่ายทอดความหวังในการยืนยันอัตลักษณ์คือความหวังที่ทรงพลังที่สุด
ชาร์ล็อต (charlotte) ชุดสีม่วงในชื่อโนบี้ (Nobie) ผู้ผ่านเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศชาร์ล็อตคือ นักกิจกรรมเยาวชนนอนไบนารี่ (Nonbinary) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศภายใต้ชื่อลุ่ม Feminist ณ ภาคใต้ และชาร์ล็อตมีความสนใจในประเด็นสุขภาวะ (Well-being) และการพัฒนาศักยภาพด้านจิตวิญญาณ ชุดโนบี้ที่สวมใส่จึงได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงดอกไอริสและสีธงนอนไบรี่ สื่อถึงความเป็นกลาง (Neutrality) ความความเป็นหนึ่งเดียวของสรรพสิ่ง ดีไซน์ชุดจึงตั้งใจสร้างสรรค์ออกมาให้ดูสนุก ลื่นไหล ยืนหยุ่น ทรงชุดจึงดูเหมือนสมมาตรแต่ก็ไม่สมมาตรและไม่คงรูปชัดเจน
ทาทา (Tata) ผู้ผ่านเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศเป็นนักรณรงค์สิทธิ และสวัสดิการเพื่อคนไร้บ้าน และนักรณรงค์สิทธิของผู้ขายบริการทางเพศ (sex worker) รวมถึงสิทธิความหลากหลายในอีกหลายประเด็น เธอได้สวมใส่ชุดทีโฟ (T-fo) สีฟ้าทรงดอกไอริสที่เบ่งบานอย่างเต็มที่ ชุดนี้ต้องการสะท้อนแนวคิดการ “ยืนยันตัวตนของคนข้ามเพศ” การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกการเปลี่ยนจะทำให้เรามองเห็นตัวตนชัดขึ้น ละวางจากสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเองเพื่อพบกับตัวตนที่แท้จริงและพลังภายใน นั่นคือความเบ่งบานสวยงาม
หากช่วงนี้ใครพบเห็น 6 ทูตนฤมิตบางกอกไพรด์ 2023 เดินเฉิดฉาย เจิดจรัส อยู่ในสตรีท ก็สามารถแวะเข้าไปถ่ายรูปกับทุกคน เพราะพวกเค้าพร้อมโอบรับเพื่อนที่จะร่วมเดินบนสีรุ้งด้วยกันในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย ที่จะโบกสะบัดเพื่อประกาศชัดถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งไฮไลท์กิจกรรมงานตลอดเส้นทาง ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14:00 - 20:00 น.