คู่มือ How To ป้องกันโรคเกาต์จากนักกำหนดอาหารชาวญี่ปุ่น
หลังจากผลการตรวจสุขภาพออกคนจำนวนมากอาจตกใจกับค่ากรดยูริกในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้น มารู้ผลเสียของการที่ร่างกายมีปริมาณกรดยูริกสูง อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง และพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดปริมาณกรดยูริกในเลือดจากคำแนะนำของนักกำหนดอาหารชาวญี่ปุ่นกันค่ะ
ผลเสียของการมีปริมาณกรดยูริกในเลือดสูง (Hyperuricemia)
กรดยูริกในร่างกายเกิดจากการสร้างขึ้นโดยร่างกายประมาณร้อยละ 80 และมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไปประมาณร้อยละ 20 โดยปกติร่างกายจะขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะและทางอุจจาระ คนที่มีกรดยูริกในเลือดสูงเกิดจากร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมากกว่าปกติ หรือรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งสารชนิดนี้จะเปลี่ยนเป็นกรดยูริกในเลือด หากคนเรามีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเกิน 7 มก./ดล. จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคข้ออักเสบจากผลึกเกลือยูเรตหรือโรคเกาต์ นิ่วในไต นอกจากนี้ ผลึกเกลือยูเรตยังไปทำลายหลอดเลือดแดง และส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดสมองได้
อาหารและเครื่องดื่มที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง
เมื่อมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงก็จะส่งผลให้มีโอกาสเป็นโรคเกาต์และโรคต่างๆ ดังที่กล่าวมาได้สูง สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกเมื่อตรวจพบว่ามีระดับกรดยูริกในเลือดสูง คือการหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูงซึ่งส่งผลให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ นัตโตะ กุ้ง ปลาซาร์ดีน และปลาโอ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ปลา และตับสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ได้แก่ น้ำอัดลมและน้ำผลไม้สำเร็จรูป รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
4 พฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดปริมาณกรดยูริกในเลือด
คนอ้วนมักจะมีการขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้ต่ำ และคนที่รับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไปก็มีโอกาสรับพิวรีนเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำเพื่อลดปริมาณกรดยูริกในเลือดคือ การพยายามลดน้ำหนักเพื่อให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
2.ดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร
การดื่มน้ำวันละประมาณ 2 ลิตร จะช่วยให้ร่างกายขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้
3.รับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นด่าง
ระดับกรดยูริกที่สูงจะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นกรดสูง ทำให้กรดยูริกละลายได้ยาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของการตกตะกอนและพัฒนาเป็นนิ่วในท่อไต การรับประทานอาหารที่มีความเป็นด่าง เช่น ผัก สาหร่ายทะเล เห็ด และมันฝรั่ง เป็นต้น จะทำให้ปัสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้นซึ่งช่วยป้องกันการเกิดนิ่วในท่อไตได้ดี
4.รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร วิตามินซี และผลิตภัณฑ์นม
อาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ได้แก่ สาหร่ายทะเล รากโกโบ และเห็ด เป็นต้น จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคเกาต์ได้ดี เช่นเดียวกับอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ได้แก่ บรอกโคลี พริกหวาน มันฝรั่ง และมันเทศ เป็นต้น ก็สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเกาต์ได้ อย่างไรก็ดีในผลไม้บางชนิดที่อุดมไปด้วยวิตามินซีและมีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น กีวี่ ก็ควรระวังไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มากจนเกินไป นอกจากนี้ การรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่เติมสารให้ความหวานก็จะช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดได้เช่นกัน
นอกจากการใส่ใจหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกสูง และเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยลดระดับกรดยูริกในเลือดแล้ว การออกกำลังกายที่พอเหมาะอย่างสม่ำเสมอ และการผ่อนคลายความเครียดจะช่วยให้ระดับกรดยูริกในเลือดลดลงได้ สุขภาพดีนั้นหาซื้อไม่ได้ค่ะ มาดูแลสุขภาพของเราให้ห่างไกลจากโรคที่เกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวันกันค่ะ