ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่ทำไมถึงเป็น มะเร็งปากมดลูก

ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่ทำไมถึงเป็น มะเร็งปากมดลูก

ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่ทำไมถึงเป็น มะเร็งปากมดลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คุณผู้หญิงหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกกันมาบ้าง แต่อาจคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว หรือแม้กระทั่งมีความเข้าใจผิดว่าตัวเองไม่มีความเสี่ยงที่จะเป็นเพราะมีสามีคนเดียว ทว่าในความเป็นจริง ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นได้ และข้อเท็จจริงที่หลายคนยังไม่ทราบก็คือ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตหญิงไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 จึงไม่แปลกที่เราจะพบผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานของโรคนี้มาแล้วหลายราย

มะเร็งปากมดลูก

วันนี้เรามีอดีตผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูก 2 ท่านที่ดูไม่น่ามีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ แต่กลับเป็นและต้องเผชิญกับประสบการณ์อันเลวร้ายที่สุดในชีวิต มาเล่าให้ฟังกัน ท่านแรก คุณวรรณา เหลืองชัยชาญ ที่ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะเป็นโรคมะเร็งได้ เพราะตัวเองก็เจริญเติบโตเป็นสาวขึ้นมาในครอบครัวที่อบอุ่น มีความรักนวลสงวนตัว แล้วต่อมาก็พบรักและแต่งงานก็อยู่กินกับสามีเดียวเมื่ออายุ 23 ปี จนประมาณ 10 ปีต่อมาวันหนึ่งเกิดอาการตกขาวมากจนไหลมาตามขา จึงได้พบแพทย์ตรวจภายใน ทำให้พบว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกขั้น 1B ที่ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ในทันที แต่ต้องทำคีโมนานถึง 2 เดือนเพื่อให้ชิ้นเนื้อร้ายมีขนาดเล็กลงก่อนที่จะทำการผ่าตัดใหญ่ เพื่อกำจัดเนื้อร้ายทั้งหมด คุณวรรณาเล่าความรู้สึกของการต้องเจอโรคนี้กับตัวเองในช่วงเวลาที่เพิ่งอายุเพียง 32 ปีให้ฟังว่า “ตัวเองแต่งงานมีสามีคนเดียว ไม่คิดว่ามีความเสี่ยง ทำให้ตกใจมากตอนที่รู้ผลตรวจ จนถึงขนาดว่าไม่สามารถลุกจากเก้าอี้ได้จนหมอต้องให้คุณพยาบาลมาช่วยพาออกจากห้อง ก็ยังดีที่มีอาการตกขาวไม่หยุดจนไหลออกมาตามขาจึงไปหาหมอ ถึงรู้ว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก มิฉะนั้นมะเร็งคงลุกลามไปมากกว่านี้จนไม่รู้ว่าจะมีโอกาสรอดหรือไม่”

มะเร็งปากมดลูก

“หลังจากผ่าตัดแล้ว หมอก็ไม่ได้ระบุว่าหายขาด ช่วงปีแรกๆ ต้องไปตรวจทุก 2 เดือน จนปัจจุบัน 8 ปีแล้วก็ต้องตรวจทุก 6 เดือน ทำให้ใจเราตุ้มๆ ต่อมๆ ตลอดเวลาว่ามันจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ เพราะเราเองก็เคยพบกรณีของคนรู้จักที่กลับมาเป็นอีกหลังจากเคยรักษาจนหายไปแล้ว 5 ปี ส่วนตัวเรายังมีผลตามมาหลังผ่าตัดมะเร็งคือเกิดถุงน้ำบริเวณที่ผ่าตัดมาโดยตลอด มีครั้งหนึ่งขนาดใหญ่มากถึง 11 เซนติเมตร ไปกดทับเส้นประสาทหลังเจ็บมากจนนอนไม่หลับ เลยต้องไปเจาะออก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ก็ต้องคอยดูแลตัวเองตลอด” คุณวรรณาเล่าถึงความรู้สึกและประสบการณ์อันแสนทรมานจากมะเร็งปากมดลูกที่ยังส่งผลต่อสุขภาพอยู่จนถึงปัจจุบัน

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ หัวหน้าหน่วยมะเร็งนรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคุณหมอที่ดูแลคุณวรรณา ได้อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า “โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ทำให้ผู้หญิงไทยเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยปกติโรคนี้มักไม่ค่อยแสดงอาการจน 10-15 ปีแล้ว หรือแสดงอาการเมื่อก้าวไปเข้าระยะที่ 2 หรือ 3 ไปแล้ว สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อ Human Papilloma Virus หรือ “เอชพีวี” ซึ่งชอบอยู่บริเวณผิวที่มีความชุ่มชื้น ไม่ว่าจะเป็น ซอกเล็บ ปาก และโดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนโสด แต่งงานและมีคู่นอนคนเดียว หรือมีคู่นอนหลายคนก็มีโอกาสติดไวรัสชนิดนี้ได้ทั้งนั้น แต่ในกรณีของคนที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ซึ่งมีโอกาสที่จะมีคู่นอนหลายคน จะมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนอื่น “ปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มอายุน้อยลงมาก สถิติล่าสุดในประเทศไทยคือพบเด็กหญิงอายุ 12 ปีเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว มะเร็งปากมดลูกจึงเป็นโรคที่คุณผู้หญิงพึงระวังอย่างยิ่ง ทางป้องกันโรคนี้ที่สำคัญคือ 1) อย่าอายที่จะไปพบหมอเพื่อตรวจ Pap Smear เป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจว่าติดเชื้อเอชพีวีหรือไม่ ถ้าพบจะได้รีบรักษาให้ทันท่วงที 2) ลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่นการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การมีคู่นอนหลายคน การสูบบุหรี่ 3) และถ้าสามารถฉีดวัคซีนป้องกันเอชพีวีร่วมกับการตรวจ Pap Smear ก็จะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก” หมอวิชัยกล่าวต่อ ส่วนอีกคนหนึ่ง หากใครได้เข้าไปอ่านเว็บไซต์ยอดฮิตอย่าง “พันทิป” ในห้องลุมพินี ซึ่งเป็นห้องที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาพูดคุยนานาสารพันเกี่ยวกับสุขภาพ คงจะพอคุ้นชื่อนามแฝงที่ใช้ชื่อว่า “คุณนายดอกไม้” กันมาบ้าง เพราะเธอเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เก็บประสบการณ์เกี่ยวกับการเป็นโรคมะเร็งไว้กับเธอเพียงลำพัง แต่เอามาแบ่งปันเป็นความรู้ให้กับทุกคนในเว็บไซต์ และถ้าใครมีข้อสงสัยหรือปัญหาเกี่ยวกับมะเร็ง เธอจะเข้ามาตอบอย่างสม่ำเสมอ แล้วเธอยังมีมุมมองเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกในต่างแดนมาบอกเล่าให้เล่าฟังด้วย เพราะคุณนายดอกไม้ เป็นหญิงไทยที่ย้ายถิ่นฐานไปสร้างครอบครัวกับสามีชาวแคนาดาที่ประเทศแคนาดา เธอเป็นมะเร็งถึง 3 ที่คือ ปากมดลูก รังไข่ และท่อนำไข่ เธอบอกว่า “ในแคนาดารัฐบาลมีการรณรงค์อย่างมากเกี่ยวกับโรคนี้ ถึงขนาดมีภาพยนตร์ที่ทำออกมาเพื่อกระตุ้นให้เด็กผู้หญิงที่อายุครบ 13 ปีทุกคนต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งรัฐบาลเขาฉีดให้ฟรีเลย เพราะเห็นความรุนแรงและทรมานจากการป่วยเป็นโรคนี้

ปากมดลูกภาวะปกติ

“จากประสบการณ์ของคุณนายดอกไม้เห็นว่า นโยบายของรัฐแบบนี้ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง เพราะตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าจะเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้ เนื่องจากมีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุกปี และกว่าจะรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งก็ต้องถึงขั้นที่คุณหมอให้ทำคีโมแล้วถึง 2 ครั้งด้วยกัน เกิดความเจ็บปวดและทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นการป้องกันที่สามารถทำได้ก็ควรทำไว้ก่อนย่อมจะดีกว่าอย่างมาก” “ส่วนผู้หญิงไทย อยากจะบอกมากๆ เลยว่าอย่าอายหมอ ขอให้ไปตรวจ Pap Smear เป็นประจำทุกปี เพื่อหาร่องรอยของโรคก่อนเป็นมะเร็ง หากตรวจพบความผิดปกติได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งหาทางรักษาได้เร็วเท่านั้น และเราก็ต้องช่วยกันรณรงค์ให้เห็นถึงความร้ายแรงของโรคนี้ อย่างที่ประเทศแคนาดาทำ ซึ่งเห็นผลเลยว่า ทำให้จำนวนผู้หญิงแคนาดาที่ต้องเสียชีวิตจากโรคมะเร็งชนิดนี้ลดลงเป็นอันดัน 7 ไม่ใช่อันดับ 1 เหมือนในไทยแล้วในปัจจุบัน” คุณนายดอกไม้ แนะนำทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง แต่ทำไมถึงเป็น มะเร็งปากมดลูก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook