6 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
ถ้าพูดถึงโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อเรื้อรังหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจไว้ก่อน วันนี้เราจะชวนสาวๆ ให้มาทำความรู้จักกับ 6 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายกันค่ะ มาดูกันว่าแต่ละโรคส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง และมีความรุนแรงในระดับใด
1.โรคมะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งเต้านม แม้ว่าจะพบทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่ปัจจัยเสี่ยงจะมีในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นเพราะปัจจัยทางด้านพันธุกรรม ฮอร์โมน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทั้งนี้โรคมะเร็งเต้านมมักพบในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนที่มีอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป แต่ทั้งนี้ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป จะต้องเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเองอยู่เสมอ และควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกๆ 1-3 ปี เนื่องจากโรคมะเร็งนั้น หากรู้เร็วก็จะสามารถรักษาให้หายได้
2.โรคมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่มีสาเหตุหลักๆ จากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ หรือการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ทั้งนี้โรคมะเร็งปากมดลูกมักจะพบในผู้หญิงที่มีอายุ 35-60 ปี แต่โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV และเข้ารับการตรวจคัดกรองควบคู่กัน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากที่สุดนั่นเอง
3.โรคเบาหวาน
โรคเบาหวาน เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับประเทศ โดยมีผลการวิจัยค้นพบว่า โรคเบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้หญิงในประเทศ ซึ่งเกิดได้จากปัจจัยภายในและภายนอก ในส่วนของปัจจัยภายในได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน พันธุกรรม และการตั้งครรภ์ ส่วนปัจจัยภายนอก เช่น การกินอาหารที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย และการขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้โรคเบาหวานยังสามารถก่อให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยเฉพาะไตวาย ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงฝอย และเส้นประสาท ดังนั้นสาวๆ จึงควรควบคุมอาหารและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ จะช่วยให้ห่างไกลจากภาวะเบาหวานได้
4.โรคหัวใจ
โรคหัวใจ คือโรคที่ผู้หญิงอายุประมาณ 35-54 ปีเป็นกันเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 31% นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ทั้งนี้โรคหัวใจสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาวะความดันสูง ความเครียด หรือโรคอ้วน ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ที่มักส่งเสริมให้ออกกำลังกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์ รวมทั้งพยายามปรับพฤติกรรมที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคหัวใจควบคู่กันไปด้วย
5.โรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุน คือภาวะกระดูกมีความอ่อนแอ เปราะบาง และมีแนวโน้มที่จะสามารถแตกหักง่าย ทั้งนี้ในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน โดยอาจนำไปสู่การเสียมวลกระดูกได้ สำหรับการป้องกันโรคกระดูกพรุนทำได้โดยการออกกำลังกายด้วยวิธียกน้ำหนักควบคู่กับการกินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ
6.โรคจากความเครียด
ความเครียดคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ซึ่งโรคนี้ผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชายมากถึง 2 เท่าเลยทีเดียว เนื่องจากฮอร์โมนและปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การเลือกปฏิบัติ บริบททางสังคม หรือความรุนแรงทางเพศ โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้หญิงได้ง่าย ทั้งนี้โรคซึมเศร้าหรือโรคที่เกิดจากความเครียดนั้น จะต้องรับการรักษาด้วยการเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
จะเห็นได้ว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั้น เป็นโรคที่เรามักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายอีกด้วย ดังนั้นแนะนำให้ผู้หญิงทุกคน หมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที