หลอดเลือดในสมองแตก เรื่องน่าเศร้าที่อาจคาดไม่ถึง

หลอดเลือดในสมองแตก เรื่องน่าเศร้าที่อาจคาดไม่ถึง

หลอดเลือดในสมองแตก เรื่องน่าเศร้าที่อาจคาดไม่ถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มาโดยไม่รู้ตัว เหมือนแขกที่ไม่ได้รับเชิญที่จะมาเคาะประตูชีวิตเราเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ หลายคนวันนี้ยังดีอยู่

พรุ่งนี้อาจพิการ คนที่รู้จักมักคุ้นกันอยู่ดีๆ เมื่อวันวาน วันนี้อาจกลายเป็นเจ้าหญิง หรือเจ้าชายนิทราไปเสียแล้ว โรคหลอดเลือดในสมองแตก พบว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต อย่างเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยอาจไม่ทันสังเกตสัญญาณที่ร่างกายได้พยายามส่งคำเตือนมาให้แล้ว เหตุเพราะคาดไม่ถึงว่าผลที่ตามมาอาจร้ายแรงถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้ อาการของโรค โรคหลอดเลือดสมองแตก คืออาการที่หลอดเลือดในสมองฉีกขาด จึงทำให้เลือดออกในสมอง ซึ่งส่งผลให้เสียชีวิตได้ สาเหตุสำคัญเกิดจากภาวะความดันโลหิตสูง บางคนเรียกโรคนี้ว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของโรคทางระบบประสาท ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มคนสาขาอาชีพใดก็ตาม ล้วนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต จากโรคหลอดเลือดสมองแตกได้ ยกตัวอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนที่รู้จักกันดี และต้องประสบกับโรคหลอดเลือดสมองแตก เช่น เจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ลินดา ค้าธัญเจริญ หมอลำบุญเพ็ง ไฝผิวชัย ศิลปินแห่งชาติ ศรีหนุ่ม เชิญยิ้ม เป็นต้น นพ.ประเสริฐ ศัลย์วิวรรธน์ แพทย์ประจำศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคหลอดเลือดในสมองแตก ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ทางระบบประสาท ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการอย่างเฉียบพลันทันทีทันใด แต่กลับใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างนาน ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็วตั้งแต่แรก จะสามารถลดอัตราการตายและพิการลงได้มาก หรือสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบคนปกติได้ โดยหลอดเลือดในสมองแตกสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1.หลอดเลือดแตกในเนื้อสมอง มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทขึ้นมาทันที เนื่องจากเลือดที่ออกจะไปกดเบียดเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ และนอกจากนี้ยังเกิดความดันในโพรงกะโหลกศีรษะเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยมักเกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ถ้ามีเลือดออกมาเป็นจำนวนมาก หรือเลือดออกในก้านสมอง ผู้ป่วยอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 2.หลอดเลือดแตกในชั้นเยื่อหุ้มสมอง สาเหตุมักเกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดสมองบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ เมื่อมีเลือดออกในทันทีทันใด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนอาจหมดสติ หรือเสียชีวิตได้ตั้งแต่ระยะแรก จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จาก สถิติเมื่อปี 2550 พบว่าคนไทยกว่า 13 ล้านคน เสี่ยงพิการจากหลอดเลือดสมองแตก/ตีบ/ตัน และมีผู้ป่วยเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ปีละ 1.5 แสนคน เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละกว่า 4.5 หมื่นคน สาเหตุเกี่ยวข้องมาจากหลายโรค โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป 2-17 เท่าตัว รวมทั้งโรคหัวใจ รู้ทันปัจจัยเสี่ยง เลี่ยงโรคร้าย ความน่ากลัวของโรคหลอดเลือดในสมองแตก คือวันนี้คุณอาจพูดคุย หรือทะเลาะกับใครต่อใครได้ เดินวิ่ง ทำอะไรด้วยตัวเองได้ แต่วันพรุ่งนี้อาจต้องทนทรมานกับการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขาอ่อนแรง มีลมหายใจแต่ไร้ความรู้สึก ไม่สามารถควบคุมร่างกายได้ ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าอนาคตจะหาย หรือต้องรอความตายอย่างช้าๆ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานหนัก ละเลยการออกกำลังกาย บริโภคแต่สิ่งที่ชอบแต่ไร้ประโยชน์ ความอ้วน ความเครียด สูบบุหรี่ ดื่มสุรา การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ และส่วนหนึ่งมาจากโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งส่งผลให้เกิดหลอดเลือดในสมองแตกได้ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ แต่หากปล่อยปละละเลยก็จะค่อยๆ สะสมโดยไม่รู้ตัว รู้ตัวก็ต่อเมื่อปรากฏอาการรุนแรงจนสายเกินแก้เสียแล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากปัจจัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น อายุที่สูงวัยขึ้น พันธุกรรม เชื้อชาติ เป็นต้น สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง อาการส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล คือมีอาการแขนขาอ่อนแรง อาจเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย บางคนหน้าเบี้ยว หรืออาจมาด้วยอาการชา ตาอาจจะมองเห็นภาพซ้อน หรือมองไม่เห็นข้างหนึ่ง หรือมองเห็นแค่ครึ่งหนึ่งของตาแต่ละข้างก็ได้ มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน หรือเวียนศีรษะ อาเจียน อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการพูด ซึมลง หรือหมดสติ มีอาการชัก ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายๆ รูปแบบ แล้วแต่ตำแหน่งของสมองที่มีการขาดเลือด หรือมีเลือดออกในสมอง แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทยที่พบ คือรอจนโรคเป็นมากแล้วค่อยไปหาหมอ ทำให้กว่าจะถึงมือหมอผู้ป่วยก็เป็นอัมพาตไปแล้ว ลองถามคำถามเหล่านี้กับตัวเองดูว่า คุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้บ่อยๆ หรือไม่ - มีอาการปวดหัวในตอนเช้าบ้างหรือไม่ - เคยรู้สึกว่าแขนไม่มีแรงบ้างหรือไม่ - เคยรู้สึกตาพร่ามัวบ้างหรือไม่ หากพบว่าคนใกล้ชิดมีอาการน่าสงสัยว่าอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ให้ลองทดสอบผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยปฏิบัติ 3 ข้อ เรียกย่อๆ ว่า STR ดังต่อไปนี้ S:(Smile) ให้ผู้ป่วยยิ้ม T:(Talk) ให้ผู้ป่วยพูดประโยคที่มีสาระสมบูรณ์ เช่น วันนี้อากาศสดใสดีจัง R:(Raise) ให้ผู้ป่วย (ยก) ชูแขนสองข้างขึ้น อาการ อีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คือให้ผู้ป่วยแลบลิ้นออกมา ถ้าลิ้นม้วนหรือเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง แสดงว่าส่ออาการอันตรายแล้ว เพื่อนคนหนึ่งของผู้เขียนเคยเจอปัญหานี้มาแล้ว เธอเล่าว่า “เคยมีรุ่นพี่คนหนึ่งหกล้มในงานบาร์บีคิวปาร์ตี้ เพื่อนในงานแนะให้ไปหาหมอ แต่เจ้าตัวบอกว่าไม่เป็นไร เพียงแต่ใส่รองเท้าใหม่แล้วสะดุดเท่านั้น เจ้าตัวยืนไม่ค่อยมั่นคงนัก เพื่อนๆ ช่วยปัดเสื้อผ้าให้ แล้วยกอาหารจานใหม่ให้ร่วมสนุกกันต่อ หลังจากนั้นสามีแจ้งมาว่า ภรรยาถูกส่งเข้าโรงพยาบาล แต่แล้วก็เสียชีวิตตอน 6 โมงเย็นของวันต่อมา ถ้าหากเพื่อนๆ รู้จักวินิจฉัยอาการโรค ป่านนี้อาจยังมีชีวิตอยู่ บางคนเส้นโลหิตในสมองแตกอาจไม่ตาย แต่ก็อาจเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต หากผู้ป่วยถึงมือแพทย์ภายใน 3 ชม. ก็จะมีโอกาสรอด ถ้าคนข้างเคียงไม่รู้จักวินิจฉัยอาการ สมองผู้ป่วยก็จะถูกทำลายอย่างร้ายแรง หากคนข้างเคียงเพียงแค่ทดสอบผู้ป่วยด้วย 3 ข้อ ก็สามารถวินิจฉัยอาการได้” คุณหมอ กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองแตก อาจฟังดูน่ากลัว แต่สามารถป้องกันได้ หันมาเอาใจใส่สุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวให้มากขึ้น ตรวจสุขภาพประจำปี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก กินผักและผลไม้ทุกวัน งดบุหรี่เลิกเหล้า รู้จักปล่อยวาง ไม่ปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความเครียด ทำตัวให้ผ่อนคลาย เดินทางสายกลางดีที่สุด แล้วคุณก็จะหลุดพ้นจากโรคหลอดเลือดสมองแตกได้อย่างแน่นอน พยายามเป็นคนช่างสังเกตกับอาการผิดปกติ แม้จะเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกายของเราหรือคนใกล้เคียง โรคร้ายหรือรุนแรงบางอย่างอาจจะแก้ไขได้ ที่เป็นหนักก็จะได้เบาบางลง โรครุนแรงหลายโรคส่วนใหญ่ป้องกันได้ ถ้าเรารู้เสียแต่เนิ่นๆ อัพเดทข้อมูลโดย...สิริกัญญา นรินทร์

สนับสนุนข้อมูลโดย…

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ หลอดเลือดในสมองแตก เรื่องน่าเศร้าที่อาจคาดไม่ถึง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook