วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อย ที่เด็กทุกคนควรต้องรับให้ครบ

วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อย ที่เด็กทุกคนควรต้องรับให้ครบ

วัคซีนพื้นฐานสำหรับลูกน้อย ที่เด็กทุกคนควรต้องรับให้ครบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เด็กทารกแรกเกิดไปจนถึงอายุ 1 ปี จะยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการต่อต้านเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อโรคอันตรายในช่วงนี้ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงต้องให้เด็ก “ได้รับวัคซีน” เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ต่อการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายต่าง ๆ ในเด็ก เพื่อปกป้องลูกน้อยของคุณจากการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ ดังนั้น เพื่อสร้างเกราะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บแก่ลูกน้อยของคุณ อย่าลืมพาเด็ก ๆ ไปรับวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กให้ครบ และอาจมีวัคซีนเสริม เพื่อให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น

วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก สำคัญนะ!
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในกิจกรรม World Immunization Week 2023 ซึ่งจัดภายใต้แนวคิด “Vaccine for Everyone” Episode I : สร้างภูมิปฐมวัยทุกช่วงวัยสุขภาพดี (Kids Vaccination) และ Episode II : วัคซีนคู่สู้หน้าฝน (Dual Immunity) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในการยกระดับภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กอายุต่ำกว่ากว่า 5 ปี กว่าร้อยละ 20 ยังไม่ได้รับวัคซีนพื้นฐาน โดยเด็ก 1 ปีแรกได้รับวัคซีนร้อยละ 90 ส่วนเด็กอายุ 2-5 ปี อัตราการรับวัคซีนพื้นฐานจะน้อยลงเรื่อย ๆ เหลือร้อยละ 50-70

ซึ่งสาเหตุที่ผู้ปกครองพาเด็กอายุ 2-5 ปี มาเข้ารับวัคซีนพื้นฐานกันน้อยลง เนื่องจากประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนป้องกันบางโรคมาเป็นเวลาหลายปี ทำให้อัตราการเกิดโรคนั้น ๆ ลดน้อยลง ถึงอย่างนั้น เด็กเกิดใหม่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะติดโรคอยู่ดี เนื่องจากเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานที่ดีพอ ดังนั้น เรื่องของการคงภูมิต้านทานไว้ในประชาชนยังมีความสำคัญแม้ว่าโรคจะลดน้อยลงแล้วก็ตาม

ภายในงานเดียวกัน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่า วัคซีนในเด็กมี 11 ชนิด ป้องกัน 13 โรคในเด็ก ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เม.ย. ของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสัปดาห์สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสากล จึงมีการรณรงค์ให้กลุ่มเด็กได้เข้ารับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ นอกจากนี้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ ยังกล่าวเสริมด้วยว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นส่วนสำคัญช่วยสร้างอนาคตเด็กไทยให้แข็งแรง ผู้ปกครองจึงควรเร่งพาบุตรหลานเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ โดยที่จัดบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายเด็กทั้งพื้นฐานและวัคซีนทางเลือก เพื่อให้เด็กมีสุขภาพดีและเกิดภูมิคุ้มกันหมู่

วัคซีนพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็ก
การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ไม่ควรละเลยเป็นอันขาด เพราะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อย เป็นการป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ อีกทั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการการเติบโตของเด็ก ๆ ด้วย ซึ่งวัคซีนพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เด็กไทยควรได้รับเพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในเด็กมี 11 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG)
  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี(HB)
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ (DTP-HB-Hib)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV)
  • วัคซีนโรต้า (Rota)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV)
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR)
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LAJE)
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP)
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี (HPV)
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

ซึ่งวัคซีนทั้ง 11 ชนิดนี้ จะป้องกันโรคในเด็กได้ทั้งหมด 13 โรค ได้แก่ โรคตับอักเสบบี วัณโรค โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน โรคฮิบ โรคโปลิโอ โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคคางทูม โรคไข้สมองอักเสบเจอี และมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี

กำหนดการให้วัคซีนพื้นฐานในเด็กไทยตั้งแต่แรกเกิดถึง 4 ปี ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566

แรกเกิด

  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ครั้งที่ 1 (HB1) ควรให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ฉีดให้เด็กก่อนออกจากโรงพยาบาล

1 เดือน

  • วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี ครั้งที่ 2 (HB2) เฉพาะรายที่คลอดจากมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี

2 เดือน

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ครั้งที่ 1 (DTP-HB-Hib1)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน ครั้งที่ 1 (OPV1)
  • วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 (Rota1) ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งที่ 1 ในเด็กที่อายุมากกว่า 15 สัปดาห์

4 เดือน

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ครั้งที่ 2 (DTP-HB-Hib2)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน ครั้งที่ 2 (OPV2)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) *ให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด 1 เข็ม พร้อมกับวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน 1 ครั้ง
  • วัคซีนโรต้า ครั้งที่ 2 (Rota2) ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กที่อายุมากกว่า 32 สัปดาห์

6 เดือน

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยักไอกรน-ตับอักเสบบี-ฮิบ ครั้งที่ 3 (DTP-HB-Hib3)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน ครั้งที่ 3 (OPV3)
  • วัคซีนโรต้าครั้งที่ 3 (Rota3) ห้ามให้วัคซีนโรต้าครั้งสุดท้าย ในเด็กที่อายุมากกว่า 32 สัปดาห์ และให้ยกเว้นการได้รับวัคซีนโรต้าครั้งที่ 3 ในเด็กที่ได้รับวัคซีน Rotarix มาแล้ว 2 ครั้ง

9 เดือน

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งที่ 1 (MMR1)

1 ปี

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ครั้งที่ 1 (LAJE1)

1 ปี 6 เดือน

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนครั้งที่ 4 (DTP4)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน ครั้งที่ 4 (OPV4)
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ครั้งที่ 2 (MMR2)

2 ปี 6 เดือน

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ครั้งที่ 2 (LAJE2)

4 ปี

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ครั้งที่ 5 (DTP5)
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน ครั้งที่ 5 (OPV5)
  • กำหนดการให้วัคซีนพื้นฐานในเด็กไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566

ประถมศึกษาปีที่ 1

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์
  • วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี (HB) เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์
  • วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LAJE) เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด (IPV) เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์
  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT) เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์
  • วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) เฉพาะรายที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์
  • วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ให้ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานว่าเคยได้รับเมื่อแรกเกิดและไม่มีแผลเป็น และไม่ให้ในเด็กติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการของโรคเอดส์

ประถมศึกษาปีที่ 5 (นักเรียนหญิง)

  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี ครั้งที่ 1 (HPV1) กรณีเด็กหญิงไทยที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้ฉีดที่อายุ 11-12 ปี
  • วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี ครั้งที่ 2 (HPV2) ระยะห่างระหว่างเข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน

ประถมศึกษาปีที่ 6

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT)

ข้อมูลจาก กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook