นักกำหนดอาหารญี่ปุ่นบอก! 3 อาหารที่ทานเยอะทานบ่อยแล้วไขมันพอกตับ
คนจำนวนมากอาจคิดว่าปัญหาเกี่ยวกับตับนั้นเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือรับประทานยาสมุนไพรบางชนิดอย่างต่อเนื่อง แต่จริงๆ แล้วในปัจจุบันนี้คนจำนวนมากมีภาวะไขมันพอกตับซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป ตับเป็นอวัยวะที่ทำงานอย่างเงียบๆ และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้นเล็กน้อยก็ไม่ส่งสัญญาณใดๆ จนกว่าจะถึงขั้นรุนแรงและต้องการการบำบัดรักษา ดังนั้นการคำนึงถึงอาหารที่ไม่เป็นภาระต่อตับในแต่ละวันจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก มารู้ถึงอันตรายของภาวะไขมันพอกตับและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่เพิ่มภาระให้แก่ตับกันค่ะ
โรคไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease) คืออะไร
โรคไขมันพอกตับเกิดจากการที่ตับสะสมไขมันส่วนเกินของร่างกายจากการบริโภคอาหารมากเกินไปหรือสาเหตุอื่นๆ หากตับมีไขมันพอกสะสมไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ ทำให้ตับเกิดความเสียหาย เกิดรอยแผล และหากเป็นรุนแรงขึ้นก็อาจทำให้เกิดภาวะตับแข็ง มะเร็งตับ ตลอดจนทำให้การทำงานของตับล้มเหลวได้
3 อาหารที่ทานเยอะทานบ่อยแล้วไขมันพอกตับ
อาหารที่ส่งผลเสียต่อตับประกอบด้วยอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่สูง มีน้ำตาลและไขมันสูง โดยอาหารที่มีแนวโน้มในการทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับหากรับประทานมากและบ่อยเกินไปมีดังนี้
1. ขนมปังหวานและขนมหวานต่างๆ
ขนมปังหวานเป็นอาหารที่หามารับประทานได้ง่าย ปัจจุบันนี้คนจำนวนไม่น้อยรับประทานขนมปังเป็นอาหารหลัก อย่างไรก็ดี ขนมปังหวานและขนมหวานต่างๆ เช่น เค้ก คุกกี้ และชูครีม มีส่วนประกอบของน้ำตาลและแคลอรี่สูง ซึ่งเมื่อรับประทานบ่อยๆ ก็อาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันที่ตับได้
2. เนื้อสัตว์ติดมัน
เนื้อสัตว์ติดมันมีปริมาณแคลอรี่ที่สูงอีกทั้งยังมีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวสูงด้วย การรับประทานเนื้อสัตว์ติดมันในปริมาณที่มากกินไปนั้น นอกจากจะทำให้อ้วนแล้วก็ยังส่งผลเสียต่อตับด้วย แม้ว่าจะอร่อยแต่เพื่อสุขภาพตับที่ดีก็ควรลดปริมาณและความถี่ในการรับประทานเนื้อสัตว์ติดมันลง
3. ผลไม้รสหวาน
ผลไม้รสหวานอุดมไปด้วยน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเป็นอันตรายต่อตับได้ แม้ว่าจะชอบผลไม้แต่ควรจำกัดรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมวันละไม่เกิน 200 กรัม
2 ทริคการบริโภคอาหารเพื่อรักษาให้ตับทำงานปกติ
1. ไม่รับประทานอาหารในปริมาณที่มากเกินไป
การรับประทานอาหารในปริมาณที่มากและขาดความสมดุลของสารอาหารจะสร้างความเครียดให้แก่ตับ โดยควรรักษาค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ไม่ให้สูงเกิน 25 เพราะหากค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงเกิน 25 หมายความว่าเข้าเกณฑ์อ้วน และอาจมีโอกาสเกิดโรคอ้วนและการสะสมไขมันที่ตับได้ง่าย หากรู้สึกว่ามีน้ำหนักเกินมาตรฐานควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลอรี่สูง เช่น อาหารทอด เนื้อสัตว์ ขนมปังและขนมที่มีรสหวาน และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เป็นต้น
2. ตรวจสุขภาพตับประจำปีและปรับการกินตามผลการตรวจ
การตรวจค่าตับประจำปีจะช่วยให้ทราบว่าตับยังคงทำงานได้ตามปกติหรือไม่ โดยหากพบว่ามีค่าตับสูงก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
ทุกอวัยวะในร่างกายล้วนมีความสำคัญ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย มารักษาสุขภาพตับของเราให้ดีด้วยการลดละอาหารที่ส่งผลเสียต่อตับกันค่ะ