จากหัวใจ "แม่ลัดดา-บุญรอด" แม่ผู้ดูแลลูกพิการ LGBTQ+

จากหัวใจ "แม่ลัดดา-บุญรอด" แม่ผู้ดูแลลูกพิการ LGBTQ+

จากหัวใจ "แม่ลัดดา-บุญรอด" แม่ผู้ดูแลลูกพิการ LGBTQ+
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากละครฟีลกู้ดเรื่อง "มาตาลดา" ที่กำลังออนแอร์ทางช่อง 3 HD อยู่ในขณะนี้ ส่วนสำคัญหนึ่งของละครคือการสะท้อนความสัมพันธ์ของพ่อเกรซ LGBTQ+ ตัวแม่ กับมาตาลดาลูกสาว บวกกับใกล้วาระวันแม่แห่งชาติ ทำให้เราพยายามตามหาคู่แม่-ลูกที่มีความสอดคล้องใกล้เคียงกับเรื่องราวในละคร "แม่ลัดดา อารีย์วงษ์" และบุญรอด ครีเอเตอร์คอนเทนต์ "ภูเขาชาแนล" เป็นคู่แม่-ลูกที่เราคิดถึง แม้จะไม่ตรงตามโจทย์เป๊ะ แต่แม่ลัดดาคือคุณแม่ที่ดูแลบุญรอดลูก LGBTQ+ ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกายบวกรวมเข้ามาด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ตั้งต้นนับตั้งแต่บุญรอดลืมตามาดูโลก

ตลอดระยะเวลา 30 ปีของแม่ลัดดา อะไรเป็นความท้าทายต่อบทบาทหน้าที่ "แม่" กว่าจะก้าวผ่านอุปสรรค เสียงซุบซิบ ความเข้าใจน้อยของสังคมต่อความแตกต่างของบุญรอด แม่ลัดดาเดินผ่านความยากลำบากเหล่านั้นมาได้อย่างไร จึงทำให้แม่-ลูกคู่นี้ยังเป็นแม่-ลูกอารมณ์ดี มีทัศนคติบวกต่อการใช้ชีวิต เรื่องราวนับจากนี้อ่านแล้วแทบอยากกราบหัวใจของผู้เป็นแม่ทุกๆ คน

กว่าจะรอดมาเป็น "บุญรอด"

 



จริงๆ แล้วบุญรอดไม่ได้ชื่อบุญรอดมาแต่กำเนิด บุญรอดเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวเพียงแค่ 1.7 กิโลกรัม เกิดมาพร้อมมะเร็งตับ ในตอนนั้นต้องตัดตับทิ้งไป 1/4 ของตับ และรอให้ร่างกายสร้างขึ้นมาใหม่ บุญรอดใช้เวลารักษาด้วยการให้คีโมรวมเป็นระยะเวลา 1 ปีจึงได้ออกจากโรงพยาบาล การเดินทางของบุญรอดกับคุณแม่ลัดดาจึงไม่ได้ราบเรียบตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง

แม่ลัดดา : ตอนนั้นเราแทบไม่มีหวังเลย ตกใจมาก ทำอย่างไรดี หมอบอกโอกาสรอดของบุญรอดแค่ 20 % เพราะตอนนั้นวิวัฒนาการการให้คีโมยังไม่ทันสมัย เราก็ไม่มีศักยภาพ แต่เราได้อานิสงค์ของโรงพยาบาลศิริราช ให้เราไปติดต่อบอกว่าเราเป็นผู้มีรายได้น้อย เราไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งหมด เขาบอกว่าเราจ่ายได้แค่ไหนก็แค่นั้น ก็ต้องขอบคุณโรงพยาบาลศิริราช ส่วนเรื่องร่างกายของบุญรอด แม่สังเกตว่าหลังรักษามะเร็งตับและออกจากโรงพยาบาลพัฒนาการของเขาจะช้า ตอน 1 ขวบเขายังทำอะไรไม่ได้เลย แม่คิดว่ามีผลพวงมาจากการให้คีโม เพราะเซลล์ในร่างกายบุญรอดมีส่วนที่ถูกทำลายไปด้วย พูดไม่ชัด เมื่อก่อนเขาเดินไม่ได้ต้องกางแขนเพื่อพยุงตัวเองให้ได้ เดินให้ตรง แต่แม่คิดว่าความลำบากไม่ใช่ปัจจัยสำคัญสำหรับแม่ แม่คิดว่าจะทำยังไงให้บุญรอดโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ ไม่เป็นภาระสังคม หรือคนรอบข้าง บุญรอดจึงได้รับการดูแลเอาใจใส่จากแม่เต็มที่ แม่ดูแลทั้งการอาบน้ำ แต่งตัว เข้าห้องน้ำ 24 ชั่วโมงเราห่างกันแค่ตอนหลับ เพราะต้องระวังเขาทุกเรื่อง เพราะเดินแล้วเขาจะล้ม ถ้าเราไม่ดูแลเขาจะได้รับบาดเจ็บ เพราะเขาไม่มีหลักพยุงตัว



บุญรอด : บุญรอดโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวนี้ ไม่รู้ว่าถ้าเป็นคนอื่นจะเป็นยังไง ตั้งแต่บุญรอดจำความได้ ที่บ้านซัพพอร์ตเราทุกอย่างเลยตั้งแต่ตื่นนอนจนเข้านอน เป็นแบบนี้มาตลอดไม่เคยทิ้ง ทั้งเรื่องการเรียน ความรัก บุญรอดโชคดีมากๆ ที่ได้เกิดมาเป็นลูกแม่และลูกป๊า และได้อยู่บ้านหลังนี้ครับ ส่วนเรื่องร่างกายเราที่ไม่เหมือนคนทั่วไปมันรู้สึกหงุดหงิดมากกว่าที่ทำอะไรเองไม่ได้ เช่นถือแก้วน้ำเองไม่ได้ เดินก็เดินไม่เร็ว แต่แม่จะคอยบอกว่าไม่เป็นไร ใจเย็นๆ ค่อยๆ ทำ เดี๋ยวก็ทำได้ คำนี้แม่พูดตลอดเวลา

แม่ลัดดา : วันนี้บุญรอดยืนด้วยตัวเองได้ เขาทำอะไรที่เขาอยากทำได้ ไม่ว่าจะเรื่องการศึกษา การใช้ชีวิต เพราะคนรอบข้างช่วยกันดูแล ไม่ใช่แม่คนเดียว ถ้าแม่คนเดียวคงไม่ประสบความสำเร็จหรอก คนในครอบครัว เพื่อนฝูงต้องช่วยๆ กันดูแล และพยายามเติมเต็มในสิ่งที่บุญรอดขาดไป



เมื่อ "บุญรอด" Grand Opening เป็น LGBTQ+ ความเข้าใจ และการก้าวข้าม

 

ลักษณะทางร่างกายของบุญรอดที่มาจากความไม่สมบูรณ์ของกล้ามเนื้อเป็นข้อกำจัดหนึ่งในการดำเนินชีวิตอยู่แล้ว เมื่อต่อมาแม่บุญรอดได้รับรู้ว่าจิตใจภายใต้ร่างกายภายนอกของบุญรอดนั้นไม่ได้สอดคล้องกัน เพราะบุญรอดแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ตรงตามเพศสภาพมาตั้งแต่เด็ก จึงนับเป็นอีกโจทย์ใหม่ที่แม่ลัดดาต้องเผชิญ และทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กับบุญรอด

แม่ลัดดา : เรารู้อยู่แล้วในใจ แต่ไม่เคยถาม หรือตอกย้ำที่เขาเป็น เราเป็นครอบครัวใหญ่จะมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งเป็นแบบบุญรอด แต่เขาแก่กว่า 2 ปี เขาก็จะเล่นอะไรแบบเด็กผู้หญิง โพกหัว ใส่รองเท้าส้นสูง เมื่อก่อนแม่เครียดเหมือนกันเพราะร่างกายบุญรอดก็เป็นแบบนี้ แล้วบุญรอดจะใช้ชีวิตยังไง มาเบี่ยงเบนทางเพศแล้วจะยังไงต่อ แต่สมัยนี้ต่างกับสมัยก่อน แม่ก็ส่งเสริมไปเลย เพราะเขาอาจใช้สิ่งที่อยู่ในตัวเเขามาเป็นความสามารถพิเศษ เราภูมิใจด้วยซ้ำที่เขาแสดงตัวตนที่แทัจริงออกมา ไม่เป็นอีแอบให้คนเขานินทา แม่อยากบอกครอบครัวอื่นเหมือนกันว่าถ้าลูกเป็นอะไรก็ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น ถ้าเราไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ปัญหาครอบครัวมันจะเกิด เด็กจะทำสองหน้า อยู่บ้านทำหน้าหนึ่ง ออกไปข้างนอกพฤติกรรมอีกแบบ ปัญหามันจะเกิดทั้งสองฝ่ายเลย อยากให้ครอบครัวอื่นๆ เปิดใจยอมรับในสิ่งที่ลูกเราเป็น

บุญรอด : ตอนแรกในใจก็กลัวเหมือนกัน เพราะว่าเพื่อนๆ ก็กลัว คิดกันไปเอง แต่เพราะที่บ้านเราคุยกันทุกเรื่องจริงๆ เรื่องเซ็กส์ยังคุยกันเลย เลยรู้สึกว่าเรื่องแค่นี้ทำได้เลย ไม่ต้องเก็บ อยากทำอะไรก็ทำเพราะที่บ้านคอยซัพพอร์ตอยู่แล้ว แม่ก็ไม่เคยถาม เราก็เป็นของเรามาเรื่อยๆ เขาก็ซึมซับว่าเราเป็นอะไร ดังนั้นพ่อแม่ควรมีหน้าที่ซัพพอร์ต ไม่ใช่มีหน้าที่สร้างกรอบให้ลูกว่าเขาควรเป็นอะไร เพราะถ้าวันหนึ่งคุณไม่อยู่แล้วและมันมีกรอบนั้นอยู่ เขาจะออกจากกรอบมายังไง อยากให้พ่อแม่คิดว่าถ้าไม่อยู่แล้วลูกจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

แม่ลัดดา : ส่วนเรื่องของสังคมแม่พยายามบอกบุญรอดเสมอว่าบุญรอดไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคนอื่น ไม่ได้มีปมด้อยอะไรเยอะแยะ เพียงแต่บุญรอดเดินไม่เหมือนคนอื่นนิดเดียว แต่บุญรอดสามารถทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ทุกอย่าง ทำได้ไม่ได้ ดีไม่ดี ไม่ใช่ประเด็น แต่บุญรอดต้องลองทำดูก่อน อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ พอบอกแบบนี้บุญรอดจะไม่คิดว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กเลย ดังนั้นปมด้อยในใจบุญรอดจึงไม่ค่อยมี เราพยายามเติมเต็มสิ่งที่บุญรอดขาดหายไป เขาจึงอารมณ์ดี ไม่โกรธคนอื่นด้วยซ้ำ ดังนั้นสังคมควรให้โอกาสเขา เมื่อก่อนแม่หงุดหงิดนะ เพราะเขาโดนตั้งแต่สมัยเด็ก แม่บุกถึงโรงเรียนเลยนะ แค่ใช้สายตามองก็รับไม่ได้ แต่หลังๆ ทำใจว่าเขาอาจไม่รู้ว่าลูกเราเป็นแบบนี้ ถ้าเขารู้เขาอาจจะสงสารลูกเราก็ได้ อาจเห็นใจและเข้าใจมากขึ้น ดังนั้นถ้าเจอคนที่อ่อนแอกว่า หรือมีความเบี่ยงเบนทางเพศ อย่าใช้สายตามองเขาแบบนั้น พยายามเข้าใจในตัวตนที่เขาเป็น คนเราเป็นในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นอยู่แล้ว มันไม่เหมือนกันทุกคนหรอก เราชอบ เขาไม่ชอบ อย่าเอาใจเราเป็นที่ตั้ง เราต้องเข้าใจในตัวตนคนอื่นด้วย



บุญรอด : จริงๆ ตอนด็กก็โมโหนะครับ แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะมันคือความจริง อย่างเขาล้อว่า "ไอ้ตุ๊ด" "ไอ้ขาเป๋" มันคือความจริง เราแก้ไขอะไรไม่ได้ก็ต้องยอมรับและพยายามผ่านมันไปให้ได้มากกว่าครับ จะไปเถียงว่าไม่ใช่ก็ไม่ได้เพราะมันคือเรื่องจริง ต้องยอมรับและปล่อยผ่าน แต่ตอนนี้มีเด็กทักอินบ็อกซ์มาหาเยอะมากว่าโดนเพื่อนล้อ ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากอยู่ต่อแล้ว ซึ่งบุญรอดก็บอกน้องไปว่า "ให้ถามตัวเองว่าความสุขอยู่ที่ใคร หนูจะเอาคำพูดคนอื่นมาใส่ใจมันใช่เรื่องเหรอ เราจะเป็นอะไรเป็นไปเลย ตัวเรามีความสุขตรงไหนทำไปเลย อย่าไปแคร์คนอื่น เขามาด่าเราเดี๋ยวเขาก็ลืมแล้ว แต่เราเก็บมาคิด เราทุกข์คนเดียว เพราะฉะนั้นพยายามให้น้องๆ ทุกคนมองข้ามแล้วเดินต่อไปข้างหน้าให้ได้ ให้คิดว่าคำพูดคนมันจะมีผลต่อชีวิตเรามากแค่ไหนเหรอ ถ้าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่แคร์ก็คือจบเท่านั้นเองครับ"


จากหัวใจ "แม่ลัดดา" แม่ผู้ดูแลลูกพิการ LGBTQ+

 



คุณแม่ลัดดาบอกว่าตลอดระยะเวลา 30 ปีของการเป็นแม่บุญรอดชีวิตเหมือนละคร บางช่วงทั้งทุกข์ทั้งสุข ทั้งหัวเราะทั้งร้องไห้ มันเป็นเหมือนโชคชะตาที่เราต้องมาอยู่ด้วยกัน วิบากกรรมมันคู่กัน กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ง่ายเลย แต่ถึงวันนี้สำหรับแม่ลัดดาเธอทุ่มเทให้กับบุญรอดไปแล้วทุกสิ่งอย่าง หลังจากนี้เธอไม่ห่วงอะไรในตัวบุญรอดมากเช่นเดิม หากแต่ครอบครัวอื่นที่อาจจะประสบเรื่องราวใกล้เคียงกันก็สามารถนำเอาหลักคิด แนวทางไปปรับใช้ได้

แม่ลัดดา: ลูก ถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้เขาออกไปข้างนอก วันนึงเขาจะไม่กล้าออกไปในสังคมเลยนะ เขาจะเก็บตัว เพราะฉะนั้นเราอย่าอายที่มีลูกเป็นแบบนี้ เราต้องพาเขาไปในทุกๆ ที่ที่เขาอยากไป บางทีเขาไม่อยากไป เราก็ต้องฉุดเขาไปด้วยซ้ำ อยากให้คุณแม่เข้าใจในสิ่งที่ลูกเราเป็น ให้โอกาส สนับสนุนลูกเรา ถึงแม้ลูกเราจะมีอะไรไม่เหมือนคนอื่น แต่ลูกเราจะมีสิ่งพิเศษในตัวแน่นอน ดังนั้นส่งเสริมเขาไปเลยค่ะ อย่างบุญรอดเป็นผู้หญิงจะไปซื้อวิก ซื้อชุดไปเลยค่ะ เราต้องส่งเสริมเขา ลูกจะได้กล้าแสดงออก

 

บุญรอด: ก่อนจะออกไปข้างนอก บุญรอดว่าสังคมภายนอกต้องพร้อมจะซัพพอร์ตเขาก่อน เช่นทางเดินต้องดี สวัสดิการภาครัฐต้องแข็งแรงก่อน นโยบายเรื่องการศึกษาต้องดีก่อน ทุกอย่างต้องพร้อมรองรับ ถ้าเราออกไปแล้วทางเดินไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าจะไปโรงเรียนแต่โรงเรียนไม่รับก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าทุกอย่างซัพพอร์ตเราคิดว่าเด็กพิการทุกคนก็กล้าจะออกไปใช้ชีวิต และตอนนี้เด็กพิการไม่กล้าออกไปเพราะว่าสังคมตัดสินว่าเราเป็นภาระสังคม ถ้าสังคมเปลี่ยนความคิดว่าเราเท่ากัน คุณออกมาได้ บุญรอดเชื่อว่าคนพิการทุกคนอยากออกไปข้างนอก ตอนนี้สังคมก็ยังไม่ได้เปิดรับอย่างแท้จริง อย่างบุญรอดเดินทางเท้าแล้วมันไม่ดี บุญรอดถ่ายคลิปลงโซเชียล คนก็เข้ามาคอมเมนต์ด่าบุญรอดด้วย สังคมไม่ได้พร้อมจะโอบอุ้มคนพิการจริงๆ อย่างคนพิการที่เขาไม่มีงานทำปัจจัยหนึ่งเพราะเขาไม่ได้เรียน แล้วจะหางานทำจากไหน อยากให้สังคมเปิดใจยอมรับว่าเขามีศักยภาพจริงๆ สังคมจะมีภาพจำเดิมๆ ว่าคนพิการต้องขายลอตเตอรี่ ร้องเพลง มันเกิดจากปัจจัยทางภาครัฐหมดเลย หรือสื่อก็ตามที่คอยปลูกฝังว่าต้องเป็นแบบนี้ และฝังลึกมากในสังคมเรา ถ้าจะเปลี่ยนต้องค่อยๆ เปลี่ยนจากภาครัฐ นโยบาย สื่อ



ส่วนเรื่องการเป็น LGBTQ+ ส่วนของบุญรอดถือว่าโชคดี แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวตอนนี้ยังต้องปิดบังอยู่เลย มันลำบาก เขาคงอึดอัดมากๆ ในการต้องปิดบังการเป็นตัวเอง อยากบอกพ่อแม่ว่าพยายามเข้าใจเขาดีกว่า ถ้าคุณไม่อยู่แล้วเขาจะอยู่อย่างมีความสุขต่อไปได้อย่างไร นอกจากนั้นควรให้เกียรติกันไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือคนในสังคม ถ้าให้เกียรติกันสังคมจะน่าอยู่ขึ้นเยอะ หรืออย่าง Pride Month อะไรแบบนี้ แต่ละแบรนด์เข้ามาฉวยโอกาสจ้างเราไปทำงานอะไรแบบนี้ ถ้าเขามองว่าเราทุกคนเท่ากันจริงๆ มันคงไม่มีการมาเรียกร้องความเท่าเทียมหรอก มันควรมีไปตั้งนานแล้ว นั่นหมายความว่าเขายังไม่ได้มองว่าทุกคนเท่ากันจริงๆ เราเรียกร้องกันมากี่ปีแล้วว่าต้องมีกฎหมายนี้ หรือถ้าจะพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศทำไมพูดแค่เดือนมิถุนาล่ะ 11 เดือนที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่ บอกเลยนะครับถ้านโยบายภาครัฐมันแข็งแรง ทุกคนจะมีความสุขได้จริงๆ

 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ จากหัวใจ "แม่ลัดดา-บุญรอด" แม่ผู้ดูแลลูกพิการ LGBTQ+

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook