"ลูกไม้ใกล้ต้น" ก้อย นฤมล - ออม กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์

"ลูกไม้ใกล้ต้น" ก้อย นฤมล - ออม กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์

"ลูกไม้ใกล้ต้น" ก้อย นฤมล - ออม กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

            หากเปรียบเปรยคู่แม่ลูกที่เจริญรอยตามกันมาว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” แต่สำหรับแม่ลูกคู่นี้อาจดูพิเศษกว่านั้น เพราะคุณแม่ที่ทุกคนคุ้นตาอย่าง ก้อย - นฤมล พงษ์สุภาพ อดีตนางเอกละครพื้นบ้านเรื่อง “แก้วหน้าม้า” นักแสดงมากฝีมือที่มีผลงานในวงการร่วม 30 ปี เและลูกสาวคนโต ออม - กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์ นักแสดงดาวรุ่งจากบทบาทของ “ดาหวัน” ในละครเรื่อง “แค้น” และ “รีรี่” เพื่อนนางเอกที่หลายคนหลงรักในละครดัง “มาตาลดา” ทั้งคู่คือสองนักแสดงต่างยุคที่ไม่เพียงน้อยคนจะรู้ว่าเป็นแม่ลูกกัน แต่ยังเป็นคู่แม่ลูกที่ “แตกต่างแต่ใกล้ชิด” สนิทกันสุด ๆ ท่ามกลางโลกหมุนเร็วที่มักเหวี่ยงผู้คนให้เหินห่างกันทุกทีไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัว

ในโอกาสวันแม่ปีนี้ เราจึงอยากชวนให้ทุกท่านมาทำความรู้จัก “แม่ก้อยและน้องออม” ในบทบาทแม่ลูกในชีวิตจริงให้มากขึ้น สัมผัสความสัมพันธ์และความสดใสผ่านการสนทนาที่ชวนให้คนฟังอมยิ้มกันทั้งสตูดิโอ

จังหวะชีวิตเดียวกัน

            แม่ก้อย นฤมล เริ่มเข้าวงการในวัย 17 ปี หลังจากการประกวด New Star Award ในปี 2538 โปรเจกต์ประกวดยุคบุกเบิกของวงการโดยนิตยสารทีวีพูล จากสาวมัธยมปลายผมสั้นจึงก้าวสู่นักแสดงช่องสามผ่านบททั้งตัวละครเด่นและนักแสดงสมทบ ไล่มาตั้งแต่เรื่อง ไอ้คุณผี รักเดียวของเจนจิรา รุ้งสามสาย สามีเงินผ่อน แก้วหน้าม้า ทางผ่านกามเทพ หนึ่งในทรวง ฯลฯ หลังแต่งงานจึงลดงานแสดงเพื่อทุ่มเทให้กับครอบครัว มีลูกสาวคนโตและลูกชายคนเล็กที่อายุห่างกัน 7 ปี แต่ด้วยใจรักในงานแสดงทำให้มีผลงานถึงปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง แม่ก้อยบอกว่า ไม่ได้วางแผนไว้เลยว่าจะดันให้ลูก ๆ เข้าวงการบันเทิงเพราะตนและครอบครัวเน้นชีวิตที่เรียบง่าย พาลูก ๆ แวะเวียนมากองละครตอนเด็กไม่กี่ครั้งเท่านั้น แต่เมื่อน้องออมเติบโตเข้าสู่วัย 17 ปี กลับมีโอกาสเข้าวงการบันเทิงเหมือนตนในจังหวะเวลาเดียวกัน 

น้องออม : คือเรื่องมันมีอยู่ว่า ช่วงนั้นมีเพื่อนแม่ส่งโบรชัวร์เปิดแคสแล้วหนูก็แบบไม่อยากไป แต่ก็ได้ไปแคสของพี่เป็ป (ณพสิทธิ์ เที่ยงธรรม) โดยที่พี่เป็ปไม่รู้ว่าหนูเป็นลูกแม่ พอไปแคสเสร็จหนูก็ได้เลย คืองงมาก

แม่ก้อย : อาจจะเป็นเพราะตอนนั้นตรงคาแรกเตอร์ด้วย เพราะในเรื่องต้องเป็นนักศึกษาฝึกงานในครัว ประมาณนี้ แล้วก็ปรากฏว่าก็ได้ ได้ปุ๊บพี่เป๊ปก็โทรมาด่าเลย

น้องออม : บอกว่าทำไมไม่บอกว่าเป็นลูก (เสียงสูง)

แม่ก้อย : ลูกแกทำไมไม่บอก (หัวเราะ) แล้วพอช่อง 3 เห็นก็เลยเรียกไปเซ็น

น้องออม : แล้วหลังจากนั้นหนูก็ทำงานในช่องมาเรื่อย ๆ

แม่ก้อย : ของก้อยนี่ก็จับพลัดจับผลูเหมือนกัน มีคนชักชวนให้เข้ามา ก็ประกวดเหมือนกัน เวทีนิวสตาร์วอร์ดของทีวีพลู มีปีแรกและปีเดียว คนที่ได้ที่หนึ่งก็คือพี่กิ๊ก มยุริญ ก้อยได้ที่ 3 ค่ะ ออมนี่ก็แข่งขันเหมือนกัน แค่ไม่ได้ขึ้นเวทีเท่านั้นเอง ดวงคล้าย ๆ กัน เข้าวงการช่วงเดียวกับแม่พอดี คือ ม. 5 ม. 6 ช่วงนั้นเป็นช่วงหางานหรือเปล่า แบบเป็นช่วงร้อนเงินของเด็ก ๆ หรือเปล่าไม่รู้นะ (หัวเราะ)

 แม่ก้อย นฤมล พงษ์สุภาพ ในบทบาทการแสดงสร้างชื่อหลายเรื่องFB นฤมล พงษ์สุภาพ -ก้อยแม่ก้อย นฤมล พงษ์สุภาพ ในบทบาทการแสดงสร้างชื่อหลายเรื่อง

เด็กน้อยขี้อาย
โตมาเป็น “รีรี่”

             ถามเรื่องวัยเด็ก แม่ก้อยเล่าว่าน้องออมเป็นเด็กขี้อายจึงไม่คิดว่าลูกสาวจะโตมาเป็นนักแสดงแบบทุกวันนี้ แต่หากคิดย้อนกลับไปก็มีบางเหตุการณ์ที่พอฉายแววอยู่บ้าง

แม่ออม : เค้ามีแววตั้งแต่เด็กเหมือนกันนะ คือจะเป็นคนที่ชอบอัดวิดีโอแล้วก็สร้าง YouTube ตั้งแต่ 3-4 ขวบ ช่วงอนุบาล มีแบบแต่งเพลง กลอนตลก ๆ แม่ก็ยังเคยจดไว้เลยว่าเค้าพูดว่าอะไร ตลกดี แต่ว่าถ้าไปที่สาธารณะจะไม่ค่อยแบบกล้าแสดงออกนะ

น้องออม : เหมือนตอนเด็ก ๆ หนูจำได้ว่าจะสั่งข้าวหนูยังไม่กล้าเลยอ่ะค่ะ ขนาดนั้น

แม่ก้อย : คือด้วยความเป็นเด็กผู้หญิง แล้วมีคุณพ่อ คุณแม่ คุณน้า คุณอา คอยประกบก็จะไม่ต้องอะไรมากมาย ไปไหนก็มีคนเดินจูงไปตลอด เค้าเลยเป็นเด็กที่หวาน ๆ เจอคนแปลกหน้าก็ไม่กล้าให้จับตัว เดี๋ยวนี้หรอ โอ้โห แมนมาก! โตมาแบบเป็นแมนมากเลย เคยดูมาตาลดาไหมคะ รีรี่เนี่ยคือออมเลย คือนิสัยแมนมาก สมมุติมีเรื่องงานเรื่องชีวิตเรื่องอะไรที่ทำให้เรานอยด์นะ คุยกับเขาแค่คำเดียวเค้าจะทำให้เราหายหมดทุกอย่างเลย เค้าเหมือนพ่อเค้ามาก ออมเป็นคนที่ใจแข็งแรงมาก คือคนที่ทำกับงานกับออมจะรู้ว่า เค้าจะแมนๆ หน่อย แต่ถ้าจะไปต้องการความหวานจากออมก็ต้องลำบากนิดนึง จะเป็นคนแบบเป็นแมน ๆ แบบรีรี่เลย เพราะฉะนั้นจะสังเกตว่าคนจะชอบรี่รี่มาก เพราะว่าเป็นออมนี่แหละ

น้องออม : หนูรู้สึกว่าเป็นตัวละครที่ใกล้กับตัวเองที่สุด แทบไม่ต้องเปลี่ยนเลย

แม่ก้อย : ไม่ทำผมด้วยนะ บางวันไปจากมหา’ลัยก็ทรงนั้นเลย เป็นออมจริง ๆ คือเป็นเด็กสมัยใหม่มาก ช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าออมอยู่บ้าน ก็ไม่ต้องห่วงออมเลย จะล็อกบ้าน เก็บบ้านอะไรอย่างดี แล้วเป็นเด็กที่ไม่ชอบเที่ยว ไลฟ์สไตล์คือจะไม่ได้มุ่งมั่นไปในทางนั้น ชอบซักผ้าถูบ้านค่ะ

น้องออม : ไม่ ต้องเล่าก่อน พูดอย่างนี้อาจจะดูโลกสวยเกินไป คือที่หนูชอบทำเพราะรู้สึกว่าหนูอยู่ไม่ได้ถ้าบ้านมันไม่มีระเบียบ หรือสกปรกค่ะ ไม่ใช่หนูเป็นคนอนามัยนะ แต่สมมุติว่าอยู่ในห้องนอนใช่ไหมคะ แล้วเดินลงมาหยิบของชั้นหนึ่ง พบขึ้นไปบนห้องนอนหนูต้องล้างเท้าใหม่ จะเรียกว่า perfectionist ก็ไม่ได้ เพราะบางวันห้องก็รกเหมือนกัน

แม่ก้อย : เริ่มจากการที่ออมเป็นเด็กประหลาด ๆ ก่อน คือตั้งแต่เด็ก จะต้องใส่ถุงเท้าตลอดเวลา ถ้าไม่ใส่ถุงเท้าเดินไม่ได้ ไม่ชอบเดินเท้าเปล่า

น้องออม : อันนี้เรื่องจริงนะคะ แบบไม่ยอมเหยียบถ้าไม่ได้ใส่ถุงเท้า

แม่ก้อย : แต่ไม่ใส่รองเท้าไม่เป็นไรนะ แต่ไม่ใส่ถุงเท้าไม่ได้ แปลกแหละ เรื่องพวกนี้กับออมแม่แทบจะไม่ได้สอน แม่ไม่ค่อยได้สอนอะไรเลยเกี่ยวกับความสวยงามของลูก ไม่ค่อยไปยุ่งอะไรมากมาย ไม่งั้นสวยกว่านี้แล้ว ดูแม่สิก็หมดสภาพ (หัวเราะ)

 

รีรี่ บทบาทการแสดงในละครมาตาลดาของออมรีรี่ บทบาทการแสดงในละครมาตาลดาของออม

คำสอนในความทรงจำ
ไม่มีคำว่า “บังคับ”

            ไม่เฉพาะเพียงความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก แต่ทั้งคู่ยังเสมือนรุ่นพี่รุ่นน้องในวงการบันเทิง น้องออมเล่าถึงคำสอนของแม่ก้อยในวัยเด็กว่า จริง ๆ  แล้วคุณแม่สอนในทุกเรื่อง แต่ไม่เคยบังคับว่าจะเลือกทำอะไร ทั้งเรื่องเรียนและอาชีพที่อยากทำในตอนโต สิ่งที่เลือกในวันนี้เป็นการตัดสินใจของออมเอง แต่หากเป็นเรื่องการทำงานจำเป็นต้องยึดคำสอนของแม่

น้องออม : คุณแม่ไม่ได้บังคับเลย คือเค้าบอกว่าแค่มีระเบียบวินัยกับชีวิตและขอให้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร หนูเรียนสายศิลป์ภาษามา แต่ว่าพอดีหนูดันโชคดี หนูทำเลขได้ ก็มาเข้าเศรษฐศาสตร์อินเตอร์ คืองงไปหมด แล้วก็ไม่คิดว่าจะมาอยู่ตรงนี้เหมือนกัน มันบังเอิญ เป็นเรื่องโชคดีมากกว่า

แม่ก้อย : ใช่ ชีวิตออมจะเป็นแบบว่ากลับไปกลับมา จะตื่นเต้นกว่าแม่อีก แม่จะเรียบ ๆ เป็นแม่บ้าน ไม่มีอะไรมาก ส่วนเรื่องการเชื่อฟังพ่อแม่เป็นเรื่องที่อยู่ในใจลูกอยู่แล้ว แต่เราจะบอกเสมอว่าต้องรู้หน้าที่ตัวเอง ต้องเรียนให้จบ ตอนนี้ทำงานแล้วก็ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด

น้องออม : แม่จะบอกว่าเชื่อแม่สิว่าอย่างนี้มันดี แล้วหนูอ่ะจะมีช่วงดื้อ ช่วงที่คาบเกี่ยว ม. 6 กับ ปี 1 ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราไม่เชื่อ แบบไม่เห็น make sense เลย แต่ผ่านไปสักพักนึงพอเราเริ่มทำตามก็แบบ อุ๊ย! มันเป็นแบบที่แม่บอกจริงด้วย! แล้วเราก็ตัดสินใจที่จะทำตามแม่แนะนำไปเรื่อย ๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรเสียหายเลยสำหรับหนู เราเลยไม่มีอะไรขัดแย้งกันมาก

แม่ก้อย : บางทีเรื่องวินัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะค่อย ๆ สอนและสอนทุกวัน สอนตลอดเวลา บางทีเค้าอาจจะรำคาญก็ดักเขาไว้ก่อนว่า ตอนนี้รำคาญแม่ไปก่อนนะ บางครั้งแม่อาจจะบ่นเยอะไปหน่อย แต่มันจะทำให้เราไม่มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น คืออย่างน้อย ถ้ามันจะใหญ่ มันจะไม่ใหญ่มาก

น้องออม : จริง ๆ อันนี้ออมเห็นด้วยว่า พอพูดบ่อย ๆ มันจะไม่มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้น หนูรู้สึกว่าแม่ไม่ได้บังคับอะไรหนูเลย หรือว่าอาจจะโดนแทรกซึมมาตั้งแต่เด็กก็ได้ หนูว่านะ

 

Sanook: สิ่งที่น้องออมยึดถือในการทำงานจากประสบการณ์ที่คุณแม่สอนคืออะไร

น้องออม : วินัยค่ะ การทำการบ้าน การทำความเข้าใจบท หนูรู้สึกว่ามันต้องทำเยอะ ๆ ถ้าเกิดไม่ทำแล้วจะเป็นนักแสดงที่ดีได้ยังไง คือหนูไม่ได้บอกว่าหนูเก่ง หนูก็ต้องฝึกไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ หลัง ๆ เจอบทที่แบบต่างกับชีวิตเรา เช่น ดาหวัน เรื่อง แค้น ไกลตัวเลยค่ะ ยิ่งต้องทำการบ้าน แล้วหนูชั่วโมงบินน้อย ก็ต้องอาศัยการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ สมาธิด้วย เพราะบางครั้งบทหนา หลาย ๆ บรรทัดทีเดียว แล้วมีบล็อกกิ้งอีก เดินคุย เดินไป เดินมาหยิบของปาอะไรอย่างเงี้ยะ  ก็ต้องแบบใช้สมาธิเยอะ ๆ ทำการบ้านเยอะ ๆ ค่ะ

แม่ก้อย : เล่นละครไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่อ่านบท ไม่ใช่ท่องบทแล้วพูดได้อย่างเดียว มันต้องมีเทคนิค ดีไซน์ การแสดงละครมันก็เอาเทคนิคชีวิตจริงมาใช้ตลอดเวลา เลียนแบบมนุษย์ให้มากที่สุด ละครวัยรุ่นก็มีแอ็คติ้งแปลก ๆ  ต้องเรียนรู้กันไปไม่หยุดนิ่ง การทรีตหรือว่าวินัย  ขนบธรรมเนียมแต่ละกอง ก็จะไม่เหมือนกัน ออมต้องเรียนรู้ เพราะส่วนมากแม่ไม่ได้เข้ากองด้วยค่ะ ก็จะสอนว่าให้เราดูเองนะ ว่าเค้าทำยังไงกัน

แม่ก้อย : แต่แม่ก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่องนะคะ แม่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกันค่ะ

น้องออม : อยู่มาจะ 30 กว่าปี เก่งเหอะ (หยอกแม่)

แม่ก้อย : ไม่ถึงๆ (หัวเราะ)  

ความสนิทลดช่องว่าง
บนความแตกต่างของโลกสองยุค

            ระหว่างสนทนาสองแม่ลูกต่างเปรียบเปรยให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างโลกสองยุค ทั้งในด้านการทำงาน การเรียนรู้ รวมถึงปัจจัยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ในยุคการทำงานของแม่ก้อยการเดินทางลำบาก ไม่มีครูสอนการแสดง ต้องฝึกทุกอย่างด้วยตนเอง ตรงข้ามกับโลกของน้องออมที่เรียนรู้ได้เร็วในทุกด้าน และได้รับบทที่หลากหลายมากกว่า แต่ทั้งคู่ก็เอ่ยเป็นเสียงเดียวกันว่า “เรามีไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกัน” มีเพียงแค่อาหารบางอย่างที่ชอบไม่เหมือนกัน และความคิดในบางเรื่อง

น้องออม : เราเหมือนกันเลย เราทำอาชีพเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกันอีกต่างหากไลฟ์สไตล์เหมือนกันเป๊ะเลย หนูว่าเรื่องที่ต่างไม่ค่อยมีนะคะส่วนมาก ถ้ามันต่างกันก็จะพูดกันนะคะ อย่างเช่น แบบทำไมแม่ถึงคิดแบบนี้ หนูรู้สึกว่ามันเป็นอย่างนี้นะ ความคิดบางเรื่อง ซึ่งหนูว่าเด็กกับผู้ใหญ่แต่ละคน มี gap อายุ ซึ่งต้องมีความคิดที่ต่างกันอยู่แล้วค่ะ ก็น่าจะมีทุกคนเนอะ แต่เราก็นั่งคุยกันได้ หนูไม่ได้รู้สึกตะขิดตะขวงใจในการปรึกษาแม่เลย

แม่ก้อย : สำคัญเลยคือต้องคุยกันเยอะ ๆ แต่ไม่รู้นะตอนนี้ยังดีอยู่ อีกสักแป๊บนึงอาจจะไม่คุยกับแม่หรือเปล่า

น้องออม : โอ๋ ๆ อย่าตัดพ้อสิ

 

Sanook : คิดว่าเหตุผลใดที่ทำให้ทั้งคู่สนิทกันมาก

แม่ก้อย : ไม่มีใครช่วยเลี้ยงอ่ะค่ะ ก็เลี้ยงเอง (หัวเราะ)

น้องออม : จริง หนูก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน เหมือนกับเราไม่ได้ปิดกั้นอะไรด้วย คือหมายถึง เราก็ไม่ได้ปิดกั้นกับการที่แม่เค้าจะดูแลเรา เพราะหนูรู้สึกว่าแม่ดูแลก็สบายดี แม่ชอบบอกว่านัดเพื่อนสิไปเที่ยวกับเพื่อนบ้าง แม่จะไปส่งด้วย แต่เราบอกไม่ออก ๆ

แม่ก้อย : เค้าจะมาติดเรามากกว่า คือเค้าอาจจะมีช่วงที่เค้าอยู่กับเพื่อน ม. 4 ม. 5 แล้วมันพออะไรอย่างนี้หรือเปล่า เราก็ไม่รู้นะ แต่ทุกวันนี้เค้าก็น่ารักเพื่อน ๆ เค้าก็สนิทกับแม่ไปด้วย เพื่อนเค้าก็น่ารัก ๆ ทั้งนั้น

น้องออม : ใช่ ๆ ออมก็สนิทกับเพื่อนแม่ แม่ก็สนิทกับเพื่อนออม งงมาก

แม่ก้อย : เดี๋ยวนี้ไปออกกำลังกายตอนเช้าก็ไปออกกับเพื่อนแม่ (หัวเราะ) บางทีก็ห่วงเค้านะ แบบปล่อยให้ไปเที่ยวจะอันตรายหรือเปล่า แต่เค้าจะเป็นคนที่ส่งรูปมาเอง โทรมา ส่งรูปมา ว่าอยู่ตรงนี้อยู่กับใคร อยู่กับเพื่อนอะไรแบบนี้

น้องออม : อันนี้เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ใช่เพื่อนจะงง ๆ นิดนึง คือหนูอ่ะชอบถ่ายรูป รูปเยอะมากแล้วส่งให้แม่ตลอด คือรายงานเป็นรูปค่ะ แบบกินข้าวอันนี้นะ อยู่กับเพื่อนคนนี้นะ อะไรแบบนี้เรา เราก็ถ่ายส่งโดยที่ไม่ได้พูดอะไร แค่บอกว่าอยู่ตรงนี้แล้วนะแค่นั้นเอง ขอแค่นั้นแกก็สบายใจแล้วอ่ะเราก็เลยติดเป็นนิสัย

แม่ก้อย : ไม่หรอก เค้าคงแคร์เรามากกว่า น้องออมดีตรงนี้ เค้าแคร์เราเราก็ดีใจเนอะ บางทีไปเราห่วงแต่เราก็ไม่ได้พูดอะไร เห็นว่าเพื่อนคนนี้เราก็เชื่อ ลองเชื่อเค้าสักครั้งสองครั้ง ปรากฏว่าเค้าก็ไม่ได้โกหกอะไรเรา แล้วเค้าเองก็เป็นคนที่พิสูจน์ตัวเองว่าเค้าทำแล้วเค้าสบายใจ เค้าไม่โกหกพ่อแม่ หรือว่าไม่มีอะไรปิดบังมันก็สบายใจ แต่ว่าเราก็ต้องเข้าหาเค้านะคะ คือเราต้องคุยกับเขามีอะไรคุยได้ตลอด มีอะไรบอกเราได้ตลอด อย่างน้อยถ้ามีปัญหาหรือมีอะไร พ่อแม่เป็นคนที่จะช่วยเราได้มากที่สุด

Sanook : มีอุปสรรค หรือสิ่งที่ต้องปรับตัวเข้าหากันอย่างไรบ้าง

แม่ก้อย : แม่ก็ปรับเรื่อย ๆ นะคะ ทั้งเรื่องสังคม เรื่องการทำงาน เรื่องหลายอย่างนะ อย่างเช่น เรื่องแบบความชอบของเค้า ทำไมฟังเพลงอย่างนี้ ทำไมไม่กินแบบนี้ สมมตินะคะ คือมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกมาเองจะรู้ว่าจริง ๆ เป็นคุณแม่ต้องปรับตัวตลอด ที่บอกว่าเข้ากันไม่ได้  บางทีการพูดคุยมีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะว่าวัยรุ่นเค้าก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ บางช่วงตอนนี้อาจจะไม่อยากเจอเพื่อน แต่ต่อไปอายุมากกว่านี้นิดนึง อาจจะอยากเจอเพื่อนทุกวันก็ได้

น้องออม : แต่ส่วนตัวหนูไม่รู้สึกว่าต้องปรับอะไร เพราะส่วนมากคุณแม่จะปรับเข้าหาออมมากกว่า โอ้ย ดูเหมือนเด็กเอาแต่ใจเลย ไม่ใช่นะคะ

แม่ก้อย : ไม่ค่ะ คือปรับตามสภาพเนี่ยไม่ใช่ว่าปรับแล้วตามใจ ปรับแล้วเพื่อไปปรับเค้าอีกทีนึง สมมุติว่าลูกเจอแบบนี้ เราจะปรับตัวยังไง เช่น มีปัญหาในการทำงาน แม่ก็จะคิดแบบวัยรุ่นอย่างนึง คิดแบบคุณแม่อย่างนึง เราก็จะหาจุดกึ่งกลางแล้วก็ไปสอนเค้าไปคุยกับเขา ประมาณนี้

            แม่ก้อยเล่าด้วยว่าประสบการณ์ชีวิตสอนให้เข้าใจว่าความต้องการในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน วันหนึ่งสิ่งที่เคยคิดว่าจำเป็นก็อาจจะไม่จำเป็นอีกแล้ว เช่น ช่วงหนึ่งเคยขับรถดี ๆ แต่วันนี้คิดนำเงินไปลงทุนมากกว่า มีแค่รถที่ยางไม่แตก ไม่เสียกลางทางก็พอแล้ว หากมองเฉพาะในบทบาทของความเป็นแม่ ตนเป็นเพียงแม่บ้านธรรมดา ๆ ที่มีชีวิตเรียบง่ายคนหนึ่งเท่านั้น

แม่ก้อย : ใช่ ๆ อีกแป๊บนึงจะบวชแล้ว

น้องออม : อันนี้ไม่เกินจริง เหมือนแม่เคยพูด

แม่ก้อย : ก็คือสนิทกับ พี่กิ๊ก มยุริญ แกก็ชวนหลายรอบแล้ว คือจริง ๆ ถ้าลูกไม่เข้าวงการ สงสัยแม่จะไปทางนั้นแล้ว แต่ว่าทีนี้ลูกเข้าวงการก็ทำไปหาเรื่องไปเป็นเพื่อนลูกแหละ

 

สะท้อนความรัก
ในวันที่แม่ไม่อยู่

            ความห่วงใยระหว่างแม่ก้อยและน้องออมต่างมองไปถึงเรื่องสุขภาพ ด้วยพฤติกรรมของคุณแม่ที่มักดื่มแต่กาแฟในช่วงเช้าจึงทำให้ลูกสาวเป็นห่วง ขณะที่การนอนดึกของลูกสาวก็ทำให้ใจคนเป็นแม่อดห่วงไม่ได้เช่นกัน ทั้งคู่จึงพยายามดูแลกันและกันในเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่เหนือสิ่งอื่นใดในความรู้สึกของทั้งคู่ต่างมองว่าอีกฝ่ายคือที่สุดในดวงใจ

น้องออม : ถ้าให้นิยามว่าแม่ก้อยเป็นแบบไหน เป็นคุณแม่ที่ตามใจค่ะ ตามใจ แต่จะมีกฎเหล็กอยู่ไม่กี่ข้อ ซึ่งเป็นกฎเหล็กที่เราคงจะไม่ทำอยู่แล้ว เราก็เลยแบบชิลล์มากเลย ออมอาจจะมีเป้าหมายคล้าย ๆ หลาย ๆ คนนะคะ แบบมีเงินดูแลตัวเองได้ แล้วก็เอาเงินไปช่วยพ่อช่วยแม่ ก็ตั้งใจทำงาน ต้องดูแลตัวเอง ได้รับโอกาสอะไรมาก็ตั้งใจทำ แล้ววันนึงถ้ามีเงินก็อยากดูแลตัวเองได้ แล้วก็อยากดูแลแม่ได้ จริง ๆ แม่เค้าก็ดูแลตัวเองได้อยู่แล้วแหละทุกวันนี้ เราแค่ตั้งเป้าหมายเอาไว้มีเงินเหลือให้แม่ (หันไปมองแม่) หวาน ๆ ป่ะ

แม่ก้อย : จริงหรือเปล่า อัดไว้ให้ด้วยนะ ให้แม่ด้วยนะ ทุกวันนี้เค้าไม่เคยเก็บเงินเลยค่ะ ก็คือให้แม่เก็บ

น้องออม : ไม่ใช่ไม่เก็บเงิน แม่ต้องพูดให้ติดกันด้วย หนูเก็บเงินไว้กับแม่ ไม่ใช่ว่าหนูไม่เก็บเงิน (รีบแก้ต่าง)

แม่ก้อย :  เราวางแผนไว้เค้าหมดแล้ว 10 ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับออม เงินตรงนี้มันจะเกิดอะไร เค้าก็เริ่มศึกษา แล้วก็คุยกับพี่เจมส์ คุยกับพี่เต้ย ต้องบอกก่อนว่าออมโชคดีที่ได้ทำงานกับพวกพี่ ๆ รุ่นใหญ่หมดเลย ได้รับคำแนะนำในการวางแผนชีวิต ว่าอาชีพนี้ต้องทำยังไง เป็นสิ่งที่แม่โชคดีมาก คือเด็กบางคนได้เงินมาก้อนเล็กก้อนใหญ่ไม่รู้จะทำยังไง บางทีก็หมดไปกับกระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า แต่เค้าก็มองว่าสามารถที่จะต่อยอดได้ทำธุรกิจได้หรือเอาเงินตรงนี้ไปลงทุนตรงนี้ไหม  

แม่ก้อย :  ส่วนบั้นปลายของแม่ แม่จะบอกออมตลอดนะคะว่า ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ต้องห่วงแม่ ไม่ต้องห่วงเลย เพราะแม่มีป๊า แต่ออมต้องห่วงตัวเองว่า ถ้าวันนึงไม่มีแม่ ไม่มีป๊า ออมจะทำยังไง อันนี้เป็นสัจธรรมเป็นธรรมะเลยนะ สมมติลืมตาตื่นขึ้นมาวันนี้ พรุ่งนี้ แม่อาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ แม่อาจจะไม่ตื่นอะไรอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นต้องดูแลตัวเองให้ดี เงิน ทอง หรือว่าการทำงานที่ได้มา ต้องรักษาให้ดี ทำให้ดีที่สุดเพราะว่าโอกาสมันไม่ได้มาหาเราแบบทุกคน มีแค่บางคนเท่านั้น ถามว่าเราสวยกว่าใครไหม ก็ไม่ เราหุ่นดีกว่าใครไหม ก็ไม่ มันเป็นที่โอกาสจังหวะชีวิตเพราะฉะนั้นทำให้ดีที่สุด เค้าก็ดูเข้าใจดีนะคะ เค้าก็ดูโอเค

น้องออม : ใช่ค่ะ มันอยู่ที่โอกาสจังหวะชีวิต เพราะฉะนั้นสามารถติดต่องานได้ที่คุณแม่เลยนะคะเบอร์โทรอยู่หน้าไบโอไอจีค่ะ (ช็อตฟีลก่อนเศร้า)

Sanook : ปกติชมกันและกันไหม

แม่ก้อย : ไม่ชมค่ะ มีแต่เตะแม่

Sanook : ขอใช้โอกาสนี้ให้แม่ก้อยน้องออมชื่นชมกันและกัน

น้องออม : ก็ขอบคุณแม่ (แอบเขิล) (แม่ก้อย : ชมเยอะ ๆ) นี่ ๆ โดนหยิกอยู่ข้างหลัง (หยอกเล่น) คือแม่เป็นคนที่ดูแลลูกดี หนูเชื่อว่าแม่เป็นคนที่เลี้ยงลูกเก่งพอสมควร หนูถึงไม่มีอคติอะไรกับแม่เลย เป็นคนที่เลี้ยงลูกเก่ง ขอบคุณนะ

แม่ก้อย : คือไม่ได้เลี้ยงลูกเก่ง แต่ว่าเหมือนกับทุ่มเทให้กับลูกมากกว่า

น้องออม : นางเป็นคนทุ่มเท อดทน แข็งแรง ถึงแม้ว่าจะกินอาหารแบบไม่ค่อยคลีนเท่าไหร่ แต่ว่าก็แข็งแรงอยู่ (แม่ก้อย : จิตใจแข็งแรง) ร่างกายก็แข็งแรง อ่ะ ชมลูกบ้าง

แม่ก้อย : ก็ดีขึ้นตามลำดับ หมายความว่าสิ่งที่เราสอนไป ไม่ว่าจะเป็นออมต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ออมต้องรักษาวินัย ออมต้องรักษารูปร่างหน้าตาของเรา เขาก็ทำได้ดีและพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ มีอะไรที่มาแบ่งปันกับเรา คือเค้าเป็นเด็กหัวไวที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย แล้วก็ปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ เพราะฉะนั้น เค้าจะเป็นเด็กที่สามารถพัฒนาไปต่อได้เยอะ เพราะว่าตัวเค้าเองเปิดรับกับทุกอย่าง ไม่ใช่เป็นน้ำเต็มแก้ว ในความเห็นของแม่นะคะ

แต่ว่าเหนือสิ่งอื่นใด อยากให้ออมไม่ประมาทกับทุกอย่างกับชีวิต เพราะยังมีอะไรให้ตื่นเต้นอีกเยอะ นี่ยังไม่ผ่านสเต็ปหนุ่มเลยนะ นึกออกไหม เดี๋ยวสวยกว่านี้อีกนิดนึงก็จะมีหนุ่มมาจีบแล้ว แล้วสเต็ปแต่งงานอีก อะไรอีก เพราะฉะนั้นมันอีกยาว คนเป็นแม่ยังไงก็เลิกห่วงไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ข้อดีของเขา แม่ว่าออมเปิดรับแบบนี้ดีแล้ว เป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เรียนรู้ต่อไป

อีกอย่างนึงก็ต้องขอบคุณสามีด้วย เพราะสามีเป็นคนที่สอนลูกดี ถึงแม้ว่าเค้าจะเป็นคนเงียบ ๆ ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ออมโชคดีตรงที่ออมมีคุณพ่อที่คอยซัพพอร์ต บางคนอาจจะซัพพอร์ตแค่เงิน อาจจะซัพพอร์ตอย่างอื่น แต่คนนี้ซัพพอร์ตทุกอย่าง เราได้ทุกอย่างในชีวิตของเราแม่ลูก เค้ารักออมมาก ห่วงออมมาก ก็อยากให้พัฒนาตัวไปในทางที่ดี อยากให้ออมดีอย่างนี้ตลอดไป

            การชื่นชมกันและกันของสองแม่ลูกยังดำเนินต่อไปพร้อมท่าทางการหยอกเอินอันสดใสของแม่ลูกที่สนิทกันมาก ต่อเนื่องไปถึงการพูดคุยถึงเรื่องน่ารัก ๆ ของน้องชายที่เป็นคู่ซี้คู่เหมือนของคุณพ่อซึ่งมีพี่สาวเป็นแหล่งเติมเกมรายวัน และเรื่องเล็ก ๆ ธรรมดา ๆ ระหว่างพี่น้องก็เป็นอีกความสุขของคนเป็นแม่เช่นเดียวกัน

            แล้วแม่ก้อย นฤมล ก็แสดงความรู้สึกให้สัมผัสได้ว่า ลูกสาวที่อยู่ตรงหน้า คือ ความสวยงาม คือผู้ที่สามารถสร้างความสำเร็จได้ด้วยมือของตัวเอง ดังความหมายของชื่อที่ตั้งไว้ว่า “กรณ์นภัส”

       

 

อัลบั้มภาพ 26 ภาพ

อัลบั้มภาพ 26 ภาพ ของ "ลูกไม้ใกล้ต้น" ก้อย นฤมล - ออม กรณ์นภัส เศรษฐรัตนพงศ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook