6 โรคขาดสารอาหารที่ผู้หญิงต้องรู้ ส่งผลให้ผมร่วงและเล็บเปราะบาง
โรคขาดสารอาหาร คือ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่ได้รับหรือไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ในปริมาณที่ต้องการ โดยวันนี้เราได้รวม 6 โรคขาดสารอาหารที่ผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องรู้ เพราะทำให้ผมร่วงและเล็บเปราะบางได้ง่าย ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้หญิงหมดความมั่นใจในตัวเองได้ง่าย
โรคขาดสารอาหาร มีอะไรบ้าง ไม่ควรมองข้าม...
- โรคขาดไอโอดีน
โรคขาดไอโอดีน เกิดจากการที่ร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ ทำให้เกิดโรคคอพอกและส่งผลให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทั้งนี้เพศหญิงจะมีแนวโน้มเกิดภาวะพร่องไทรอยด์มากกว่าผู้ชาย ในส่วนของอาการของโรคขาดไอโอดีนจะมีทั้งเหนื่อยล้า หน้าบวม ท้องผูก ผิวแห้ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ภาวะซึมเศร้า ความจำเสื่อม น้ำหนักเพิ่ม ประจำเดือนมาไม่ปกติ หนาวง่ายกว่าปกติ ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และเกิดปัญหาผมร่วงและผมบาง - โรคขาดธาตุเหล็ก
โรคขาดธาตุเหล็ก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อการผลิตฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะเลือดจาง ในส่วนของอาการของโรคขาดธาตุเหล็กมีทั้ง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว มือเท้าเย็น ลิ้นบวม ลิ้นอักเสบโดยไม่มีสาเหตุ ผิวซีด เปลือกตาด้านในซีด ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ และเล็บเปราะบาง - โรคขาดวิตามินบี
โรคขาดวิตามินบีจะมีความแตกต่างกัน โดยหากขาดวิตามินบี1 จะทำให้เกิดโรคเหน็บชาและทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ขาดวิตามินบี3 จะทำให้เกิดอาการท้องร่วง ภาวะสมองเสื่อ และเป็นโรคผิวหนังไวต่อแสงแดด ขาดวิตามินบี7 ทำให้เกิดปัญหาผมบาง มีผื่นขึ้นที่รอบดวงตา ปาก และจมูก และยังทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ขาดวิตามินบี12 จะทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ท้องผูก และเกิดปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท และหากขาดวิตามินบีรวม จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรง รวมถึงมีอาการต่างๆ เช่น หายใจลำบาก อ่อนแรง ไม่มีสมาธิ และเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร - โรคขาดวิตามินซี
โรคขาดวิตามินซีมักทำให้เกิดปัญหาเลือดออกตามไรฟัน และยังมีอาการอื่นๆ ที่สังเกตได้ง่าย เช่น เหงือกอักเสบ หงุดหงิดง่าย ขึ้นผื่น เหนื่อยล้า บาดแผลหายช้า และเกิดภาวะซึมเศร้า - โรคขาดวิตามินดี
โรคขาดวิตามินดี มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในหลายด้าน เช่น เป็นโรคกระดูกอ่อน ปวดกระดูกและข้อต่อ ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกหักง่ายเพราะมวลกระดูกลดลง และเกิดโรคแทรกซ้อนเพราะระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ - โรคขาดแคลเซียม
โรคขาดแคลเซียม สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น กินอาหารประเภทแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ขาดแสงแดด เป็นโรคไตเรื้อรัง เป็นโรคตับแข็ง และเป็นโรคตับ ในส่วนของอาการที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลเซียม เช่น เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวแห้ง ผิวหยาบ เล็บเปราะบาง ผมร่วง ความจำไม่ดี และมีความวิตกกังวล
จะเห็นได้ว่าโรคขาดสารอาหารแต่ละชนิด ส่งผลกระทบต่อร่างกายที่แตกต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการขาดสารอาหารเพียงแค่หนึ่งชนิดก็สามารถส่งผลกระทบและทำให้เกิดอาการต่างๆ ต่อร่างกายอย่างมากมาย ยังไงก็อย่าลืมหมั่นกินอาหารให้ได้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนกันด้วยนะคะ