คอไหล่แข็ง? มาดูวิธีแก้จากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นโลด!
คนในยุคปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่กับคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอ่านหนังสือ เป็นต้น เป็นเหตุให้เกิดอาการไหล่และคอแข็ง (Stiff Shoulder) ปวดไหล่ปวดคอ รวมถึงทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้น หากอาการดังกล่าวไม่ได้รับการใส่ใจดูแลก็จะพัฒนาไปเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้ มารู้สาเหตุของการเกิดอาการไหล่และคอแข็งและวิธีการดูแลเพื่อป้องกันการนำไปสู่ภาวะออฟฟิศซินโดรมจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นกันค่ะ
อาการไหล่และคอแข็งเกิดได้ยังไง? ถ้ามีอาการเรื้อรังจะเป็นยังไง?
การก้มหน้าทำงานกับคอมพิวเตอร์หรืออ่านหนังสือวันละหลายชั่วโมงเป็นเหตุให้สูญเสียส่วนโค้งมนตามปกติของกระดูกคอและทำให้คอสูญเสียหน้าที่การกันกระแทก ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอและไหล่รองรับน้ำหนักของศีรษะแทนคอ ทำให้เกิดอาการไหล่และคอแข็ง ปวดศีรษะเนื่องจากกล้ามเนื้อตึง การทำงานของตาและสมองเฉื่อยชาเนื่องจากขาดการไหลเวียนของเลือดที่มีสาเหตุมาจากการบีบอัดของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่บริเวณคอทั้ง 2 ข้าง นอกจากนี้ ยังทำให้กระดูกคอและหมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นต้น โดยหากมีอาการดังกล่าวเรื้อรังก็จะส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
วิธีป้องกันและบรรเทาอาการไหล่และคอแข็ง
1. การรับประทานอาหาร
สารอาหารดังต่อไปนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาอาการไหล่และคอแข็งได้ดี
กรดซิตริก ช่วยเร่งอัตราการเผาผลาญพลังงานของกล้ามเนื้อส่งผลในการพื้นฟูความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ อาหารที่อุดมไปด้วยกรดซิตริกได้แก่ บ๊วยดอง ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ และแอปเปิ้ล เป็นต้น
วิตามินบี 1 ช่วยเสริมการเผาผลาญพลังงานของร่างกายจึงช่วยบรรเทาอาการไหล่แข็งและช่วยฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าได้ดี อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามิน บี 1 ได้แก่ หมูเนื้อแดงไม่ติดมัน ถั่วเหลือง งา ปลา และถั่วต่างๆ เป็นต้น
วิตามินอี ช่วยให้การไหลเวียนเลือดไปทั่วร่างกายดีจึงบรรเทาอาการไหล่และคอแข็งได้ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินอี ได้แก่ อะโวคาโด ฟักทอง และถั่วต่างๆ เป็นต้น
2. การบริหารคอและไหล่แบบง่ายบนเก้าอี้ทำงาน
ท่าบริหารเหล่านี้เป็นท่าที่ช่วยป้องกันและบรรเทาอาการไหล่แข็ง แม้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที และสามารถทำได้ทุกสถานที่และทุกเวลา โดยมีตัวอย่างท่าบริหารคอและไหล่ 3 แบบดังต่อไปนี้
แบบที่ 1
ยกมือขวาข้ามศีรษะไปปิดหูซ้ายไว้ แล้วเอียงตัวไปด้านขวาและคงไว้ประมาณ 10 วินาที จากนั้นบิดตัวไปในแนวทแยงขวา หันหน้าตรง และทแยงไปด้านซ้าย เอียงตัวไปด้านซ้าย จากนั้นสลับด้านยกมือซ้ายข้ามศีรษะและปิดหูขวาไว้แล้วทำตามขั้นตอนเหมือนกับด้านขวามือ
แบบที่ 2
หมุนไหล่โดยยกแขนให้มือสองข้างไปจรดที่บ่า แล้วหมุนแขนไปข้างหน้า 4-5 ครั้งสลับไปหลัง 4-5 ครั้ง เป็นเวลา 30 วินาที
แบบที่ 3
ยืดมือทั้งสองข้างประกบไว้ด้านหน้าในระดับไหล่จากนั้นแยกมือออกและยืดไปด้านหลังให้มากที่สุด ทำซ้ำเป็นเวลา 30 วินาที
ในยุคที่มักได้ยินคนวัยทำงานป่วยเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม การใส่ใจร่างกายแม้ว่าต้องทำงานอย่างหนักหน่วงเป็นสิ่งจำเป็น มาใช้วิธีการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย และบริหารร่างกายเพื่อป้องกันการเกิดภาวะไหล่และคอแข็งจนพัฒนาไปเป็นออฟฟิศซินโดรมกันค่ะ