"กระเพาะปัสสาวะอักเสบ" โรคยอดฮิตของสาวเวิร์กกิ้ง
สาวๆ ที่นั่งทำงานนานๆ จนบางครั้งก็ลืมไปเข้าห้องน้ำ ทำให้ต้องอั้นปัสสาวะเป็นประจำ หรือบางทีก็ต้องเดินทางไกล ทำให้ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ ระวังให้ดีละ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะถามหาเอาได้นะคะ หากสาวๆ คนไหนที่กำลังผจญกับอาการอย่างที่กล่าวมานี้ WP มีคำแนะนำง่ายๆ เพื่อให้พ้นจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบนี้มาฝากกันค่ะ แต่ก่อนอื่นต้องมาเริ่มทำความรู้จักกับลักษณะทั่วไปของโรคนี้กันก่อน
+ อย่างไหนถึงเรียกว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ส่วนมากจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวกับที่อยู่ในลำไส้ของเรา โดยเข้าไปทางท่อปัสสาวะ โรคนี้พบมากในผู้หญิง เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงทั้งสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก ซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิง ได้ง่ายกว่าผู้ชายค่ะ + ฮิตมากในหมู่หญิง ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ แต่จะพบมากใน ผู้หญิงมีครรภ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์) หรือผู้หญิงที่ชออั้นปัสสาวะนานๆ เป็นประจำ บางครั้งอาจพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต นอกจากนี้ ผู้หญิงที่แต่งงานใหม่ก็มีโอกาส เป็นโรคนี้ เนื่องจากหลังร่วมเพศอาจมีอาการขัดเบาแบบกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ซึ่งแพทย์เรียกว่า โรคฮันนีมูน (Honeymoons Cystitis) สาเหตุเกิดจากการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ ส่วนผู้ชายนั้นมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยมาก ซึ่งถ้าพบก็มักจะมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือมีก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ + อาการเป็นอย่างไร สาวๆ คนไหนมีอาการปัสสาวะกะปริดกะปรอยและปัสสาวะบ่อยครั้ง รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ บางครั้งอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย หรือ สังเกตพบว่าปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นหลังอั้นปัสสาวะ นานๆ หรือหลังร่วมเพศ แต่โรคนี้มักจะไม่มีภาวะแทรก ซ้อนร้ายแรง แต่บางคนอาจเป็นๆ หายๆ หรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา เชื้อโรคอาจลุกลามทำให้กลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบได้ค่ะ + เป็นแล้วต้องทำไง เริ่มแรก ขณะที่มีอาการแสดง ควรดื่มน้ำมากๆ และไม่ควร อั้นปัสสาวะ แต่ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล 2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง อะม็อกซีซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง หรือนอร์ฟล็อกซาซิน 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นซ้ำมากกว่า 2-3 ครั้ง ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจปัสสาวะ เพื่อนำปัสสาวะไปเพาะหาเชื้อ เอกซเรย์ หรือใช้กล้องส่องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ (Cystoscope) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ