ชวน "ก้อย อรัชพร" มาทบทวนเส้นทางชีวิต 28 ปี อีกครั้ง กับ 28 คำถาม ที่จะทำให้ได้รู้จักเธอมากขึ้น
ไม่ว่าจะรู้จัก ก้อย-อรัชพร โภคินภากร จากบทบาทของการเป็นนักแสดง ยูทูเบอร์ หรือคนเขียนบท ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ เธอกลายเป็นหนึ่งในคนที่ถูกสปอตไลต์ส่องอยู่เสมอ
นับตั้งแต่เริ่มปรากฏตัวในซีรีส์ ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น เมื่อปี 2557 เธอก็เติบโตบนเส้นทางสายบันเทิงมาเรื่อยๆ ตลอด 9 ปี ผ่านทั้งความสุข ความทุกข์ ความสำเร็จ ความผิดหวัง ดราม่า และคำวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จนกระทั่งสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งในวันนี้
เช่นเดียวกับปีนี้ ถือเป็นอีกหมุดหมายที่เธอได้เขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต TWENTIES’ ACHE ว่าด้วยเรื่องสั้นจากจินตนาการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการเขียนบันทึกประจำวันของเธอ
แน่นอนว่าเราอยากชวน ก้อย อรัชพร มาทบทวนเส้นทางชีวิต 28 ปี อีกครั้ง กับคำถาม ที่จะทำให้ได้รู้จักเธอมากขึ้น
ครั้งไหนที่รู้สึกว่าตัวเองก้าวผ่านสู่ความเป็นมืออาชีพในการแสดงแล้ว
เราอาจจะไม่สามารถนิยามว่าเรามืออาชีพหรือยัง แต่มีจุดที่คิดว่าพอจะเข้าใกล้คำว่าการแสดงมากที่สุดครั้งแรก คือ ตอนเล่นหนังสั้นให้เพื่อน เป็นการที่เราอยากรู้จักตัวละครนั้นจริงๆ เพราะเพื่อนเขียนบทเป็นตัวเพื่อนเอง เราอยากรู้ว่าจริงๆ เป็นคนนิสัยอย่างไร แล้วพอได้รู้ก็รู้สึกว่า การแสดงนำพาเรามาสู่จุดที่ทำให้เราเข้าใจมนุษย์คนหนึ่ง จากตอนแรกที่เราไม่ชอบและไม่เข้าใจ จนทำให้เราคิดว่าพวกนี้มีมิติ และรู้สึกโอเคกับพวกเขาขึ้น
เคยเจอคอมเมนต์ชาวเน็ตแย่ๆ ไหม เรื่องอะไร และรับมืออย่างไร
การแสดงแย่ๆ จะไม่ขนาดนั้น แต่จะเป็นการติเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก เช่น ‘อีนี่ ไม่สวยเลย อีนี่ ทำไมถึงได้เล่นอย่างนี้’ ครั้งแรกที่เราเห็นก็จะรู้สึกว่า เลยเหรอ แล้วหน้าเราจะเปลี่ยนอย่างไรได้ คือต้องไปศัลยกรรมทั้งหน้าเพื่อให้สวยในแบบพิมพ์นิยมเหรอ หรือสวยในแบบที่เขาต้องการ มันทำสิ่งนั้นไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องจัดการตัวเอง ถ้าเราไม่มั่นใจในสิ่งที่เรามี มันก็ไปต่อไม่ได้
ความสวยในนิยามของเราคือ การนับถือข้างในของตัวเอง คือความมั่นใจ ความพอใจ การที่เราเห็นตัวเองแล้วเราชอบและภูมิใจอะไรในตัวเรา และเมื่อเรามั่นใจว่าเรามีดีแบบนี้ นั่นคือความสวยที่ถูกส่งออกมาที่ไม่ใช่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างเดียว แต่คือทัศนคติ
28 ปีที่ผ่านมาในชีวิต ครั้งไหนที่ทุกข์ใจมากที่สุด
ร้องไห้หนักที่สุดคือ O-Negative แต่ก่อนเราจะมีความรู้สึกว่าต้องทำให้ได้ คือตัวละครชมพู่ที่เราเล่นเป็นตัวละครที่ร้องไห้ตลอดเวลา มันชิลมากกับการที่เราอินไปกับตอนนั้น แต่สักพักเราเริ่มคาดหวังกับตัวเอง เราต้องทำมันได้ทุกครั้ง พอเริ่มมีความคิดนี้ เราจะเริ่มไม่อยู่กับตรงนั้นแล้ว พอวันที่เราทำไม่ได้ แล้วมองไปเห็นนักแสดงคนอื่น คนทั้งกอง ทุกคนรอเราเป็นชั่วโมง มันเจ็บปวดมาก จนได้พูดกับตัวเองว่า เราทำมันไม่ได้จริงๆ เมื่อนั้นถึงทำได้ แต่มันทรมานมาก กลับบ้านไปก็ยังเจ็บปวด บอกแม่ว่า เล่นไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นน่าจะเป็นช่วงที่จัดการตัวเองไม่ได้มากที่สุด
หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเวลาร้องไห้ต้องฮึบ แต่เวลาเราอยู่บ้านคือร้องถล่มทลาย ให้มันระบายออกมา หลังจากนั้นเราจะพอเห็นภาพว่าควรคุยกับใครต่อ
อยู่วงการบันเทิงมา 9 ปี สิ่งที่ชอบและไม่ชอบ ของวงการนี้คืออะไร
ชอบมนุษย์ที่เจอ ชอบสังคมรายล้อม อย่างที่บอกว่าโชคดี สิ่งที่ไม่ชอบคือเรารู้สึกว่ามันไปได้ไกลกว่านี้ เช่น เรื่องการเซ็นเซอร์ ความจริงมันมีอะไรหลายอย่างที่เป็นประเด็นที่ถ้าเรากล้าปล่อยให้คนวิพากษ์วิจารณ์ มันก็จะเบ่งบาน
อีกอย่างคือเรื่องคนเขียนบท เราว่าคนเขียนบทสำคัญ ขอสู้ให้คนเขียนบทเรื่องชั่วโมงการทำงาน รวมถึงค่าตอบแทน การสนับสนุนให้อาชีพนี้ยั่งยืนและแข็งแรง ซึ่งเราว่ามันยังไม่เพียงพอ
ถ้ามีอำนาจ สิ่งอยาก ‘เปลี่ยน’ ในวงการบันเทิงคือ
น่าจะเป็นเรื่องการเซ็นเซอร์ แต่เราพูดในมิติที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดกับเซ็นเซอร์ได้ขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าอาชีพต่างๆ ในประเทศไทยไม่ได้ถูกยกมา ยังไม่มีหนังเรื่องไหนทำเกี่ยวกับนักการเมืองเลย ทำไมถึงไม่มี ทั้งที่ต่างประเทศง่ายมาก หรือพูดตรงๆ ว่าเรานำเสนอเรื่องราชวงศ์ในมิติไหนได้บ้าง
เราคิดว่าการเปิดเสรีภาพทางความคิดออก น่าจะทำให้แต่ละคนกล้าที่จะลงมือสร้างสรรค์งานมากขึ้น เพราะบางทีเขาอยากทำ แต่ก็คิดว่าจะผิดตรงไหนไหม
ถ้ามีอำนาจ สิ่งที่อยาก ‘เพิ่ม’ ในวงการบันเทิงคือ
เรื่องคนเขียนบท อย่างที่เราบอกเสมอว่า บทคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของการแสดง ไม่ว่าคุณจะเป็นนักแสดงที่เก่งแค่ไหน ถ้าบทไม่เมกเซนส์ ไม่เสริมส่ง มันก็ไม่เวิร์ก สิ่งที่อยากเพิ่มคือทำอย่างไรก็ได้ให้อาชีพนี้แข็งแรงและยั่งยืน