อายุยืนยาว ด้วยการออกกำลังกายสมอง
นักวิจัยพบว่าสมองส่วน Cerebral Cortex ของมนุษย์ สามารถสร้างเครือข่ายประสาท (Nerve Plexus) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ แม้ว่ามนุษย์ผู้นั้นจะมีอายุมากขึ้น แต่เครือข่ายเหล่านี้ก็ไม่หยุดเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งสรุปได้ว่าจำนวนเครือข่ายประสาทเหล่านี้ เป็นตัวบ่งบอกว่าคนๆ นั้นจะมีอายุยืนยาวหรือไม่ ซึ่งโดยปกติเครือข่ายประสาทจะถูกสร้างเพิ่มขึ้นด้วยการออกกำลังสมอง
ปัจจุบันพบว่าถึงแม้เซลล์สมองจะลดลงในผู้สูงอายุ แต่ถ้ามีการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์มากขึ้น เซลล์เหล่านี้จะไปทดแทนและทำหน้าที่แทนเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งทำให้สมองยังคงมีประสิทธิภาพทั้งๆ ที่อายุมากขึ้น จากงานวิจัยพบว่าคนทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือความจำ จะอายุยืนยาวกว่าคนที่ทำงานโดยไม่ต้องใช้สมอง ซึ่งโดยมากใช้ความเคยชินในการทำงาน ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยให้สมองอยู่เฉยๆ แต่ควรจะต้องใช้สมองทำงาน ซึ่งจะทำให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การมีอายุยืนยาวขึ้น หากเราละเลยไม่ใช้สมอง ก็จะทำให้สมองเสื่อมและเหี่ยวแฟบลงในที่สุด
ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่สามารถจำเหตุการณ์ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นได้ เพราะประสบการณ์ชีวิตของท่านเหล่านั้น สอนให้ท่านจำแต่เรื่องที่จำเป็น โดยสมองจะคัดเรื่องที่ไม่สำคัญทิ้งไป เพื่อให้สมองไม่ทำงานหนักเกินไป ดังนั้นถ้าเราต้องการป้องกันสมองถดถอย เราจะต้องใช้สมองทำงานหลายอย่างเช่น ถ้าเราเก่งคำนวณ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิทยาศาสตร์ เราควรจะรู้ด้านศิลปะด้วย โดยอาจจะฝึกเล่นดนตรีและวาดภาพ ขณะเดียวกันถ้าเราเป็นนักดนตรี เราควรเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้สมองอีกด้านหนึ่งทำงาน เป็นการป้องกันไม่ให้สมองทำงานหนักเกินไปเพียงด้านเดียว ดังนั้นเราควรสนใจหัดเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์บ้างในบางครั้ง ซึ่งการทำสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อนจะช่วยกระตุ้นเซลล์สมองให้สร้างเครือข่ายประสาทเพื่อเชื่อมต่อกับเซลล์สมองอื่นๆ
ในกระบวนการทำงานหรือการเรียน เป็นอีกกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้สมองสร้างเครือข่ายและเชื่อมกับระบบประสาท ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้สมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดอาการสมองถดถอยลง ทำให้อายุของเรายืนยาวขึ้น ซึ่งช่วยให้เราสนุกกับการทำกิจกรรมในชีวิตต่อไป เทคนิคง่ายๆ ที่จะช่วยออกกำลังสมอง มีดังนี้
1. พยายามเดินถอยหลังแทนการเดินไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว
2. พยายามนับเลขถอยหลัง เช่น 100, 99, 98 ....แทนการนับแบบปกติ 1, 2, 3 ....
3. ถ้าเคยชินกับการเขียนด้วยมือขวา ก็ลองใช้มือซ้ายหัดเขียน ในทำนองเดียวกันถ้าถนัดซ้าย ก็หัดเขียนมือขวา แล้วจะพบว่าในที่สุดเราจะสามารถใช้ทั้งมือขวาและมือซ้ายเขียนได้
4. ถ้าเป็นพนักงานบัญชีและทำงานกับตัวเลขทั้งวัน ลองพยายามหัดทำงานในเชิงศิลปะ เช่น ทำสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอจากหินสีต่างๆ ทำงานเพ้นต์สีลายกระจกหรือขวดหรือหัดทำเค้กรูปแบบและลายต่างๆ
5. ถ้าทำงานสำนักงาน และต้องทำงานกับคอมพิวเตอร์ในห้องเย็นๆ ทั้งวันหลังเลิกงานควรหากิจกรรมที่จะกระตุ้นร่างกายให้เคลื่อนไหว เช่น ลีลาศหรือเต้นรำในจังหวะต่างๆ ว่ายน้ำ ดำน้ำ หรือโยคะ
6. ถ้าทำงานด้านศิลปะอยู่แล้ว ให้หัดเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ เรียนการใช้ลูกคิดแบบญี่ปุ่น หรือหัดขับรถโกคาร์ท (Go Kart) เป็นต้น
7. ถ้าเป็นนักกีฬาอาชีพ และใช้กำลังทางร่างกายอยู่เสมอ อาจจะต้องพยายามใช้สมองเพื่อการคิด เช่น เล่นเกมส์ปริศนาอักษรไขว้ (Crossword) หรือเรียนภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพื่อช่วยให้เกิดความคิดในการออกกำลังสมองทั้ง 2 ด้านและทำให้มีการสร้างเครือข่ายประสาท (Nerve Plexus) เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายมากขึ้นเท่านี้ก็สามารถป้องกันสมองฝ่อได้โดยไม่ต้องใช้ยา ถ้าเราทำงานอาชีพด้านใด ให้พยายามทำสิ่งตรงข้ามกับงานอาชีพที่ทำเป็นประจำ เพื่อให้สมองได้รับการกระตุ้นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้สมองไม่ทำงานด้านเดียวหนักเกินไป
**ข้อมูลจากสมาคมนักกิจกรรมบำบัด/อาชีวบำบัดแห่งประเทศไทย**