หาโอกาส ฝ่าวิกฤต วิธีคิดแบบ 3 ซีอีโอหญิง

หาโอกาส ฝ่าวิกฤต วิธีคิดแบบ 3 ซีอีโอหญิง

หาโอกาส ฝ่าวิกฤต วิธีคิดแบบ 3 ซีอีโอหญิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ Hello เซเลบ

ในเส้นทางการทำงานของผู้บริหารแต่ละคน ย่อมต้องพบเจอกับ "วิกฤต" หลากหลายครั้งที่เข้ามาทดสอบความสามารถและทักษะในชีวิตของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็กหรือใหญ่ เช่นเดียวกับซีอีโอหญิงทั้ง 3 คน ที่ต้องผ่านอุปสรรคในการทำงานมานับครั้งไม่ถ้วน

แต่ด้วยทัศนคติที่ว่า "ปัญหาและวิกฤตเป็นครูที่ทำให้แข็งแกร่งขึ้น" การเตรียมพร้อมรับอนาคตคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของสตรีนักธุรกิจทั้ง 3

ฐิตินันท์ วัธนเวคิน กรรมการและประธานสายธนบดีธนกิจ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เผยว่า ธนาคารของเราเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เล็กๆ ที่มีเงินดำเนินการเพียงแค่ 400 ล้านบาท ก่อนจะเติบโตมาจนปัจจุบันมีทรัพย์สินรวม 255,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้เวลาที่จะเติบโตขึ้นมา

สำหรับวิกฤตที่เข้ามาแต่ละครั้งนั้น ฐิตินันท์เผยว่า ธนาคารเกียรตินาคินประสบปัญหาจริงจังมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ปี พ.ศ.2522, 2527 และ 2540 ที่ครั้งหลังถือว่าหนักจนทำให้ถูกระงับกิจการชั่วคราวกว่า 9 เดือน เนื่องจากใช้เงินกองทุนฟื้นฟู ก่อนจะกลับมาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น ทันสมัย และคนมีคุณภาพมากขึ้น ด้วยแนวคิดที่ต้องการยืนด้วยลำแข้งของตัวเองให้ได้

"เราเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงในโลกมีอยู่เสมอ และหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะเป็นการคัดกรองให้เหลือแต่ผู้เข้มแข็ง เพียงแค่หาโอกาสฝ่าวิกฤตและต้องพร้อมอยู่เสมอนั่นเอง"

โอกาสในวันนี้ เธอไม่ได้มองเพียงสถานการณ์ปัจจุบัน หากมองข้ามชอตไปถึงการเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว

"เราคิดเสมอว่าเราต้องเติบโตด้วยตัวเอง และเราก็เชื่อในเรื่องโลกาภิวัตน์ อนาคตก็ต้องเปิดเสรีระหว่างประเทศ เราต้องก้าวสู่สากลให้ได้ เพราะธุรกิจแบบเราแน่นอนว่าธนาคารต่างชาติต้องเข้ามา พนักงานของเราต้องเทรนนิ่งมากขึ้น เราต้องเข้าไปร่วมทุนเพื่อให้ลูกค้าของเรามีโอกาสทำธุรกรรมทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง เพื่อโอกาสในอนาคต" ฐิตินันท์กล่าว

ด้าน สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ประธานกรรมการบริหาร บจก.เรือด่วนเจ้าพระยา ดูแลธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยามากว่า 43 ปี และเรือข้ามฟากในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งมีอายุมานานเกือบ 100 ปี มีประชาชนมาใช้บริการมากกว่าวันละ 40,000 คน หรือ 10 ล้านคนต่อปี

สำหรับหญิงแกร่งคนนี้ เธอมองว่า "วิกฤต คือ ไฟที่จะช่วยหลอมเหล็กแท้อย่างเธอให้แข็งแกร่งขึ้น"

"ธุรกิจเรามีข้อจำกัดเยอะ หลักๆ คือ เรื่องน้ำมันที่ขึ้นอยู่ตลอดเวลา รวมถึงค่าเงินบาทที่มีผลกับเรา ที่ผ่านมาช่วงวิกฤตปี 2540 เราทำสัญญาซื้อเรือและเครื่องยนต์ด้วยเงิน 26 ล้านบาท แต่เราต้องจ่ายเงิน 40 ล้านกว่าบาท ทำเอาแย่เหมือนกัน หรือเรื่องน้ำท่วมในปี 2554 ที่ทำให้ต้องหยุดเดินเรือไป แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ สำคัญที่เราเป็นธุรกิจที่ถูกตรึงราคาโดยรัฐ ไม่สามารถขึ้นค่าเรือได้เอง ดังนั้น 10 ปี เราถึงจะขึ้นได้ครั้งหนึ่ง"

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด

"ที่ผ่านมาเราก็รู้ว่าธุรกิจอะไรจะไปรอดหรือไม่รอด บางอย่างไม่มีอนาคตทางธุรกิจ แต่เราก็เลิกไม่ได้ มันมีความจำเป็นหลายๆ อย่าง ก็ต้องอาศัยการขยายงานด้านอื่นๆ เข้ามาช่วยเสริม เช่น ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ร้านอาหาร และโรงแรม เพื่อมาช่วยเหลือธุรกิจหลักของเราให้ได้" สุภาพรรณกล่าว

ปิดท้ายด้วย กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ที่หลายคนคงรู้ดีว่าเธอประสบกับปัญหาสาหัสเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จากวิกฤตครั้งนั้น

ทำให้เธอมองว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศและการพัฒนาตัวเองเพื่อเตรียมรับกับปัญหามีความสำคัญที่สุด เพราะ "วิกฤตทุกครั้งคือหินลับมีดดีๆ นี่เอง"

"ดิฉันมองว่า ตอนนี้เรากำลังเจอวิกฤตที่เป็นเรื่องคุณภาพคน เพราะคนของเรายังไม่รู้เรื่องและไม่เคยเตรียมพร้อม แม้กระทั่งความรู้พื้นฐานที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คนไทยคิดว่า ถึงอย่างไรประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องใช้เวลา 10-20 ปีในการพัฒนาให้ทันเรา ซึ่งมันไม่ใช่เลย เขามีเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับเราแล้ว คนของเขาก็พูดภาษาอังกฤษได้และมีทักษะเช่นกัน เราอาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ในสถานการณ์นี้"

เหมือนว่าเขามารู้เรา แต่เราไม่เคยรู้เขาเลย

"สิ่งที่เราต้องเริ่มตอนนี้ คือ เรื่องทัศนคติและการเรียนรู้ของคนไทย ที่สำคัญคือ ต้องรู้จักวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะโลกทุกวันนี้แข่งกันด้วยคุณภาพและเทคโนโลยีแล้ว นวัตกรรมใหม่ๆ ต้องมา เราจำเป็นต้องจับมือร่วมกันพัฒนา เพื่อหากวันหนึ่งประตูเออีซีเปิดแล้ว เราจะหาโอกาสจากวิกฤตนั้นได้"

อีก 3 วิธีคิดเพื่อการเตรียมพร้อมเมื่อโอกาสดีๆ เข้ามา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook