เด็กอ่อนวัย 4-6 เดือน
การให้นมทารก
ในขั้นนี้ คุณอาจเริ่มคิดถึงการป้อนอาหารเสริมอื่นๆ ให้ลูกนอกเหนือจากการให้นม (ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ควรเริ่มให้อาหารเสริมเมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน) ดังนั้น จึงถึงเวลาที่คุณควร เริ่มให้อาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กได้แล้ว การฝึกให้ลูกรับประทานอาหารเสริมในเวลานี้จะช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อในปากของทารก ซึ่งจำเป็นต่อการพูดในภายหลัง รวมทั้งทำให้ลูกได้รู้จักกับรสชาติอาหารแบบใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ คุณแม่อาจคิดถึงการป้อนผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับทารกเมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อเสริมมื้อนมที่จะเริ่มลดการให้ลงด้วย
พัฒนาการของลูกน้อย
ลูกน้อยของคุณเกือบจะนั่งได้แล้ว
คุณแม่อาจรู้สึกเหมือนว่าเพิ่งออกจากโรงพยาบาลมาพร้อมกับลูกน้อยคนใหม่ในอ้อมแขนเมื่อวานนี้เอง แต่เพียงชั่วพริบตา คุณแม่ก็ได้เห็นพัฒนาการใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นของลูกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะช่วงแขน ลำตัวช่วงบนและคอของลูกจะแข็งแรงขึ้นมาก จนลูกเกือบจะสามารถลุกขึ้นนั่งได้เองแล้ว
ลูกน้อยจวนจะเริ่มไปโน่นมานี่ได้เองแล้ว
คุณแม่คงสังเกตเห็นว่าลูกสามารถควบคุมร่างกายช่วงบนได้ดีขึ้น และอาจจะสามารถนั่งได้เองโดยหน้าไม่คะมำ นอกจากนี้ คุณแม่ยังเห็นว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กๆ บริเวณคอ ไหล่และหน้าอกก็พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
เมื่อลูกเริ่มซุกซนขึ้น การเปลี่ยนผ้าอ้อมจึงเป็นเรื่องยากขึ้นสักหน่อยเพราะทารกจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยเลย คุณแม่อาจย้ายแผ่นรองพลาสติกสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมลงมาที่พื้นแทน และไม่ควรปล่อยลูกน้อยทิ้งไว้ตามลำพังแม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม ควรจัดเวลาให้ลูกได้คลานเล่นที่พื้น ให้ลูกน้อยนอนคว่ำลงบนพื้นและกระตุ้นให้ลูกคลานไปคว้าของเล่นที่อยู่ห่างออกไปเกินเอื้อมถึงเพียงเล็กน้อย เพื่อเร้าความสนใจให้ลูกเริ่มคลานครั้งแรก ทั้งยังเป็นการฝึกกล้ามเนื้อของลูกด้วย
คว้าจับได้ดีขึ้นและมองเห็นสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น
ทารกเริ่มเรียนรู้วิธีการใช้มือและนิ้วมือของตนเอง เริ่มจากการคว้าจับสิ่งที่ห้อยแขวนอยู่ ไปจนถึงการจับสิ่งของต่างๆ ด้วยมือทั้ง 2 ข้าง นับจากนี้ไปปฏิกิริยาสะท้อนกลับตามธรรมชาติของลูกจะเริ่มเปลี่ยนเป็นการเคลื่อนไหวมือและนิ้วมืออย่างสามารถควบคุมได้มากขึ้น ลูกจะเริ่มสำรวจสิ่งของด้วยการคว้าจับและเขย่า แทนที่จะทดลองนำเข้าปาก “ดูดชิม” เหมือนแต่ก่อน พัฒนาการที่น่าตื่นเต้นอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลูกสามารถมองเห็นได้ไกลขึ้นและชัดเจนขึ้น ดังนั้นโลกนี้จึงเป็นสถานที่ที่น่าสนุกและมีสีสันมากขึ้นสำหรับเขา และหากคุณแม่ไว้ผมยาวหรือสวมแว่นตา ก็จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเริ่มดึงผมหรือคว้าแว่นตาที่สวมอยู่ และเมื่อทารกอายุ 4 เดือนขึ้นไป เขาจะเริ่มมองเห็นได้ไกลถึงระดับนิ้วเท้าของตัวเอง ดังนั้น ลูกน้อยอาจจะพบเกมสนุกเกมใหม่ นั่นคือการดูดนิ้วเท้าตัวเอง ถ้าเขาทำได้
ช่วงเวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่คุณจะฝึกพัฒนาการของลูกด้วยการส่งเสริมให้ลูกหัดถือขวดนมด้วยตนเองโดยใช้มือทั้ง 2 ข้าง นี่จะเป็นบทเรียนบทหนึ่งที่สำคัญสำหรับลูก และช่วยให้คุณมีเวลาว่างเพิ่มขึ้นในการตระเตรียมอาหารสำหรับลูกและคนในครอบครัว
เริ่มหัดเปล่งเสียง
ช่วง 4 – 6 เดือนเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษเพราะลูกน้อยจะเริ่มออกเสียงแบบต่างๆ จะมีเสียงโน้นเสียงนี้เกิดขึ้นตลอดเวลาที่หนูน้อยออกเสียงอืออาและเล่นเสียง ในบางครั้งคุณอาจเริ่มได้ยินเสียงเบาๆ คล้ายๆ คำว่า “แม่” หรือ “พ่อ” แต่คุณแม่คงต้องรอระยะหนึ่งกว่าลูกน้อยจะรู้จักเรียก “แม่” อย่างแท้จริง เพราะในเวลานี้ ลูกเพียงฝึกออกเสียงแบบต่างๆ เท่านั้น เสียงสวรรค์ที่คุณแม่ได้ยินเป็นครั้งแรกก็คือ เสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอย่างสนุกสนาน ลองเล่นจั๊กจี๋เบาๆ กับลูกดูสิ แม่กับลูกจะได้หัวเราะสนุกสนานร่วมกัน คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เพราะจะเป็นการฝึกพัฒนาการด้านการพูดของลูกได้เป็นอย่างดี
การเรียนรู้
มีหลายสิ่งที่คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แม้ว่าลูกจะยังพูดโต้ตอบไม่ได้ แต่คุณแม่ควรพูดคุยกับลูกบ่อยๆ และส่งยิ้มให้ลูก จะช่วยให้ลูกพูดได้เร็วขึ้น เมื่อถึงมื้ออาหาร คุณแม่อาจจัดเตรียมข้าว ไข่หรือปลาและผักใส่จานพลาสติกสำหรับเด็ก และเปิดโอกาสให้ลูกได้รับประทานเองเพื่อฝึกการใช้มือและนิ้ว รับรองว่าลูกน้อยจะสนุกกับการรับประทานอาหารอย่างแน่นอน เวลาอาบน้ำจะยิ่งเป็นเวลาสนุกสนานมากขึ้นสำหรับลูกน้อย เพราะลูกจะได้เรียนรู้ว่าร่างกายที่เคลื่อนไหวอาจทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้น เช่น การตีน้ำในอ่างดังจ๋อมแจ๋ม และคุณแม่อย่าลืมแขวนผ้าเช็ดตัวหรือผ้าอ้อมไว้ใกล้มือด้วย
คุณรู้หรือไม่
แครอทมีรสหวานตามธรรมชาติและเป็นที่โปรดปรานของเด็กแรกเกิด อีกทั้งยังเป็นการฝึกให้ลูกชอบกินผักตั้งแต่เล็กๆ ด้วย