เด็กอ่อนวัย 1 เดือน
จากแรกเกิดถึงวัยทารก
ตอนนี้ ลูกของคุณโตขึ้นและไม่ดูเหมือนทารกแรกเกิดแล้วถึงแม้ว่าขาทั้ง 2 ข้างจะยังโก่งอยู่บ้างเล็กน้อยก็ตาม ช่วงวัยนี้ ลูกอาจจะสามารถยกศีรษะขึ้นจากเบาะได้ช่วงสั้นๆ เวลาที่คุณจับแกนอนคว่ำ มือ 2 ข้างของลูกยังคงกำแน่นและเขาจะกำมืออัตโนมัติเมื่อคุณสอดอะไรไปในมือ การตอบสนองอัตโนมัตินี้เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับโดยธรรมชาติที่ทารกทุกคนมีมาแต่เกิด
การให้นมทารก
เมื่ออายุได้ราว 6 สัปดาห์ ทารกส่วนใหญ่จะเข้าสู่ช่วงโตเร็ว นั่นคือ ลูกน้อยจะหิวบ่อยขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาและเป็นเช่นนี้สัก 2-3 วัน ตารางการให้นมที่คุณแม่เคยวางไว้จึงไม่สามารถใช้ได้ในช่วงนี้ แต่คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจ เพียงแต่ควรเพิ่มความถี่ในการให้นมลูกเท่านั้นพอ และหลังจากนี้เพีงไม่กี่วัน คุณแม่ก็สามารถกลับมาให้นมตามตารางเวลาเดิมได้อีกครั้ง
การสื่อสาร
ลูกน้อยยังคงสื่อสารกับคุณด้วยเสียงร้องไห้ แม้ว่าลูกจะสามารถเล่นเสียงต่างๆ ได้บ้างแล้ว เช่น ทำเสียงในลำคอ คำราม และส่งเสียงฮัมเบาๆ เมื่อรู้สึกสบายและพึงพอใจ
การอยู่ใกล้ๆ ลูกช่วยกระชับความสัมพันธ์กับลูกน้อย
ลูกน้อยชอบอยู่ใกล้ชิดกับคุณ ดังนั้น คุณแม่อาจเล่นกับลูกด้วยการขยับแขนขาของลูกเบาๆ และใช้การนวดสัมผัสที่คุณแม่เคยทำมาแล้วในช่วง 2 3 สัปดาห์แรกหลังจากทารกเกิด การโอบกอดลูกในระหว่างให้นมหรืออุ้มกล่อมลูกจะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นเพราะได้รับความรัก และช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
การมองเห็น
ทารกวัยหนึ่งเดือนสามารถมองเห็นได้ดีขึ้นและไกลขึ้น แม้ว่าจะยังมีขอบเขตจำกัดก็ตาม ในเวลานี้ลูกจะสนใจมองของ2 อย่างเป็นพิเศษคือ ใบหน้าของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าของแม่ และอะไรก็ตามที่เคลื่อนไหวได้
คุณรู้หรือไม่
เมื่อลูกน้อยยิ้ม บางครั้งลูกอาจตั้งใจจะยิ้มให้คุณจริงๆ คุณจะทราบได้ว่าลูกยิ้มอย่างมีความหมายเมื่อเขายิ้มทั้งใบหน้าและนัยน์ตาเพื่อสื่อให้คุณรู้ว่าเขากำลังพอใจและมีความสุข ลูกจะยิ้มอย่างมีความหมายเมื่อพร้อม แต่คุณสามารถกระตุ้นให้ลูกน้อยยิ้มได้ด้วยการกอด จั๊กจี๋ หรือเล่นกับเขา