เครียดแค่ไหน ลูกปลอดภัย
เรารู้ว่าคุณเครียด! แค่ลืมตาตื่นขึ้นมาก็มีภาระหน้าที่มากมายรออยู่ ยิ่งเมื่อรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ เรื่องดีใจก็ดีอยู่หรอก แต่พอคิดสะระตะแล้วมีเรื่องชวนให้กังวลรอเราอยู่ไม่น้อย ใครมีคนใกล้ชิดที่เป็นที่พึ่งได้ก็เบาใจหน่อย แต่ใครที่ต้องอยู่คนเดียว งานนี้อาจหนักเกินรับมือก็เป็นได้
จริงอยู่ว่าความเครียดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนเป็นปัจจัยสี่ที่ขาดไม่ได้ เพราะหากมนุษย์ไม่มีความเครียดเลย ก็จะทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ เช่น เย็นนี้มีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน สามารถทำความสะอาดบ้านที่ไม่ได้ทำมากว่า 2 อาทิตย์ได้สะอาดเนี้ยบภายใน 3 ชั่วโมง เป็นต้น แต่คำถามคือ เราควรเครียดแค่ไหน จึงจะไม่ส่งผลลบต่อสุขภาพของตนเองและลูกในครรภ์ และสามารถจดจำความเครียดนั้นได้เพื่อรับมือต่อไป ดังนั้น อันดับแรกคือเราต้องมาทำความรู้จักความเครียดกันก่อนค่ะ
สวัสดี! คุณความเครียด
ความเครียดเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเมื่อคุณแม่ต้องเผชิญกับสถานการณ์หรือความคิดที่ทำให้รู้สึกไม่ดี ร่างกายก็จะปรับไปอยู่ในโหมดระวังภัย ระบบประสาทและกล้ามเนื้อจะตื่นตัว มีการหลั่งฮอร์โมนบางตัวออกมา ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือที่เรียกว่า ฮอร์โมนความเครียด ฮอร์โมนตัวนี้มีประโยชน์ช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบในร่างกายเมื่อเกิดความเครียดระยะสั้น แต่หากเวลาผ่านไปแล้วเรายังไม่สามารถปิดสวิตช์ความเครียดนั้นลงได้ (ความเครียดสะสม) เมื่อนั้นร่างกายก็จะเริ่มเกิดปัญหา เช่น ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง ความดันและน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ปวดหัวไมเกรน เป็นสิว โรคอ้วน อารมณ์แปรปรวน ปลีกตัวออกจากสังคม ก้าวร้าว ฯลฯ
นอกจากผลกระทบโดยตรงต่อคุณแม่แล้ว ลูกน้อยก็ได้รับผลเช่นกัน มีหลายๆงานวิจัยที่เห็นพ้องต้องกันว่าความเครียดของแม่ท้องเป็นเหมือนภัยเงียบที่เราไม่ควรละเลย เพราะส่งผลให้เพิ่มอัตราการคลอดก่อนกำหนด คือก่อน 37 สัปดาห์มากขึ้น น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ เพิ่มโอกาสให้ทารกติดเชื้อขณะอยู่ในครรภ์ และมีแนวโน้มว่าเด็กจะมีปัญหาด้านอารมณ์ พฤติกรรม และการเรียนรู้ตามมาด้วย อีกทั้งยังอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเครียดสูงกว่าปกติได้ในอนาคต
จากวารสาร Health Psychology ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่องแม่ท้องกับความเครียดไว้ว่า “พัฒนาการของเด็กในครรภ์ในแต่ละช่วง เกิดจากสิ่งแวดล้อมต่างๆภายในครรภ์เป็นตัวตัดสินว่าจะสร้างหรือพัฒนาตัวลูกอย่างไรโดยมีพันธุกรรมของพ่อแม่เป็นตัวกำหนด” ดังนั้นหากแม่เครียด ลูกน้อยก็จะเติบโตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความเครียดไปด้วยนั่นเอง
รู้จักกับความเครียดไปแล้ว ต่อมาคือรู้จักตัวเองว่าเป็นคนเครียดยากง่ายแค่ไหน ซึ่งว่ากันตามจริงแล้ว มาตรวัดแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ พื้นฐานอารมณ์ และลักษณะนิสัย ดังนั้นคุณแม่ต้องสังเกตตัวเองว่าเรามีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง เช่น เป็นผู้นิยมความสมบูรณ์แบบหรือเปล่า ชอบความยืดหยุ่นหรือเปล่า มองโลกในแง่ร้ายหรือเปล่า เพราะนิสัยพื้นฐานเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อระดับความเครียด ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่ที่ชอบความสมบูรณ์แบบ มักจะมีความกังวลและเครียดมากกว่าคนอื่น เพราะกลัวว่าจะทำอะไรผิดพลาด และหากไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ก็จะผิดหวังได้ง่ายกว่า เป็นต้น
มาสำรวจกันหน่อย
จากที่กล่าวมาแล้วว่าความเครียดเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ดังนั้น คุณแม่ต้องจดจำลักษณะความเครียดของตัวเองให้ได้ ด้วยวิธีสังเกตอาการง่ายๆ ดังนี้
1. ปัญหาการรับรู้ เช่น ขี้ลืม สมาธิสั้น ตัดสินใจไม่ได้ คิดลบ วิตกกังวลตลอดเวลา
2. ปัญหาด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ อยากอยู่คนเดียว ซึมเศร้า ไม่มีความสุขตลอดเวลา
3. ปัญหาทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณสะบัก ท้องผูก ท้องเสีย หน้ามืด เวียนหัว กรดไหลย้อน เป็นหวัดบ่อย อารมณ์ทางเพศลดลง
4. ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น กินมากขึ้นหรือน้อยลง นอนไม่หลับ หลับมากเกินไป ปลีกวิเวก ขาดความรับผิดชอบ กัดเล็บ เขย่าขา
หากคุณแม่มีอาการดังกล่าว (ต้องไม่ใช่อาการที่เกิดจากโรคประจำตัว) อาจต้องเริ่มหันกลับมามองตัวเองแล้วว่า เราเครียดเรื่องอะไร และจะบรรเทาอย่างไรได้บ้าง มีหลายคนที่มักจะเครียดโดยไม่รู้ตัว เจอปัญหาซ้ำๆทุกวันจนเริ่มเคยชิน และบอกกับตัวเองว่า ไม่เป็นไร ซึ่งเราอาจกำลังหลอกตัวเองหรือหนีปัญหาอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดความเครียดเรื้อรังจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า การจดจำอาการเครียดของเราได้จะช่วยให้เรากำจัดความเครียดได้ไวขึ้น
หมั่นคอยดูแลและรักษาตัวเอง
นักจิตวิทยาแบ่งการตอบสนองความเครียดของคนเราไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ บู๊ ถอย ชะงัก แล้วคุณแม่เป็นนักตอบสนองแบบไหนลองมาสำรวจดูกันค่ะ
เมื่อฉันเครียด ฉันจะ
1. บู๊ - รู้สึกโกรธ หงุดหงิด ก้าวร้าว อยากก่อกวน หรือเรียกร้องความสนใจ
2. ถอย - ปลีกวิเวก ตัดขาดจากทุกสิ่ง เศร้าซึม หมกมุ่น
3. ชะงัก - ทำอะไรไม่ถูก คิดอะไรไม่ออก สมองว่างเปล่า
เมื่อเรารู้แล้วว่าตัวเองมีการตอบสนองต่อความเครียดแบบไหน การบรรเทาหรือขจัดความเครียดนั้นก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ต่อไปนี้คือ 3 วิธี 3 สไตล์ ที่จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายจากความตึงเครียด สามารถเลือกปรับใช้ได้ตามใจชอบเลย
สไตล์ธรรมชาติ
ใช้ประสาทสัมผัสของเรานี่แหละช่วยบำบัดอาการเครียด ดังนี้ ตาดู (ดูธรรมชาติรอบตัว สีสันต่างๆที่ธรรมชาติแต่งแต้ม) หูฟัง (เปิดดนตรีที่เป็นเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่น เสียงนก) จมูกดม (จุดเทียนอะโรม่าหอมๆ หรือหาดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมที่ชอบ) มือสัมผัส (เล่นกับสัตว์เลี้ยง กอดตุ๊กตาที่ชอบ นวดมือหรือคอด้วยโลชั่น) ลิ้นชิมรส (ดื่มน้ำผลไม้สดชื่นๆ กินของว่างที่มีประโยชน์ หรือจะกินไอศกรีมถ้วยเล็กสักถ้วยก็ได้) วิธีนี้เหมาะกับการตอบสนองความเครียดแบบ “บู๊”
สไตล์ร่าเริง
เปลี่ยนวันหดหู่เศร้าซึม ไม่ว่าจะด้วยเรื่องในบ้านหรือเพราะฮอร์โมนแม่ท้องเป็นเหตุด้วยการหากิจกรรมผ่อนคลายทำ เช่น เดินเล่น ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ฟังเพลง นัดสังสรรค์กับเพื่อน เสริมสวย เป็นต้น เหล่านี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกสนุกและมีความสุขมากขึ้น วิธีนี้เหมาะกับการตอบสนองความเครียดแบบ “ถอย”
สไตล์มาดขรึม
หากการตั้งครรภ์ทำให้คุณแม่รู้สึกกังวล ลองศึกษาหาข้อมูลแหล่งน่าเชื่อถือต่างๆ หรือบุคคลผู้มีประสบการณ์ เพื่อช่วยหาคำตอบให้กับเรื่องที่กำลังกังวลอยู่ เพราะความรู้จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นได้ดี วิธีนี้เหมาะกับการตอบสนองความเครียดแบบ “ชะงัก”
ความเครียดไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสียทีเดียว การที่เรามีความเครียดในระดับเล็กๆน้อยๆ จะช่วยให้คุณแม่มีความรอบคอบในการดูแลตัวเองและลูก มีความระมัดระวัง และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีมากขึ้น ดังนั้นอย่าลืมสำรวจตัวเองและรู้เท่าทันความเครียดของเรา เพื่อสร้างสมดุลที่ดีทั้งกายและใจของทั้งแม่และลูกค่ะ
ภาพประกอบจาก http://www.thinkstockphotos.com/