ทำไม "ห้องน้ำ" จึงมักเป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุหลอดเลือดสมองแตก
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดจากการหลอดเลือดสมองมีการอุดตัน ตีบ หรือแตก ส่งผลให้สมองบริเวณดังกล่าวเกิดการบาดเจ็บ หรือขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เซลล์สมองเสียหาย ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น ปากเบี้ยวหน้าเบี้ยว พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก หรือเดินเซ มักเกิดในผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง
4 สาเหตุผู้สูงอายุมักเกิดหลอดเลือดสมองแตกในห้องน้ำ
- ขณะอาบน้ำเย็นทำให้ความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น จนหลอดเลือดในสมองแตก หรือเมื่อความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดตอบสนองด้วยการหดตัว จากหลอดเลือดที่เคยตีบอยู่ก็กลายเป็นหลอดเลือดตัน ส่งผลให้สมองขาดเลือด เป็นเหตุให้ล้มในห้องน้ำและอาจกลายเป็นอัมพาต
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว เช่น รีบลุกออกจากที่นอน เปลี่ยนท่านั่งเป็นท่ายืนเร็วเกินไป ส่งผลให้ความดันโลหิตในสมองสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจทำให้หลอดเลือดในสมองแตก
- การเบ่งถ่ายในห้องน้ำ หรืออาการอื่น ๆ เช่น การไอ การจาม จะทำให้แรงดันในสมองสูงขึ้นไปถึง 10 เท่า
- คนที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิต อาจจะต้องคอยสังเกตอาการตัวเอง เพราะว่าต้องกินยารักษาโรคความดันทุกเช้า แต่ยาความดันโลหิตมักออกฤทธิ์ระยะสั้นส่งผลให้ยาอาจหมดฤทธิ์ในช่วงเย็น จึงเป็นจุดอ่อนทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและอาจก่อให้เกิดอาการหลอดเลือดสมองโดยไม่รู้ตัว
วิธีป้องกันหลอดเลือดสมองแตกในห้องน้ำ
- คนที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ควรระมัดระวังในการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ โดยควรลุกขึ้นยืนช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป และควรหลีกเลี่ยงการยืนนาน ๆ
- หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัด และควรดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล
ทั้งนี้ หากพบตัวเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีอาการเข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมองควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
นายแพทย์พงศกร พงศาพาส ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเวชธานี