"ยาหอม" กับ "ยาลม" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ใช้รักษาอาการอะไรบ้าง

"ยาหอม" กับ "ยาลม" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ใช้รักษาอาการอะไรบ้าง

"ยาหอม" กับ "ยาลม" เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ใช้รักษาอาการอะไรบ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะ เหมือนจะอาเจียน จะเป็นลม หน้ามืด บางคนก็บอกให้ไปหยิบยาหอมมาชงน้ำดื่ม แต่บางทีก็บอกว่าให้เอายาลมมาใช้ ทำให้เกิดความสงสัยว่ายาหอม กับยาลม เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ยาแต่ละชนิดใช้รักษา บรรเทาอาการอะไรบ้าง

เพจอาจารย์แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา ได้มีการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างยาหอมกับยาลม โดยมีรายละเอียดดังนี้

"ยาหอมกับยาลม เหมือนหรือต่าง?"
บทความโดย แพทย์แผนไทยคมสัน ทินกร ณ อยุธยา สำนักคลินิกการแพทย์แผนไทยหม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร

ยาหอม ยาลม ยาดม ยาหม่อง ตำรับยาสามัญประจำบ้านและประจำตัวของคนไทยมากมาย โดยเฉพาะผู้ใหญ่มักมีติดตัวติดบ้านไว้เสมอ ยาหอม ยาลมผู้ใหญ่มักมี ยาดม ยาหม่อง เด็กกว่ามักใช้ แลจากที่กล่าวมาขอตั้งคำถามว่า ยาหอม ยาลม ยาดม ยาหม่อง รวมกันแล้วเป็นตำรับยากี่ขนาน

1.สามขนานเพราะยาหอมกับยาลมเป็นยาชนิดเดียวกัน หรือ2.สี่ขนานเพราะเป็นคนละชนิดกัน

ตอบ? ส่วนมากชาวบ้านจะตอบข้อ 1. เพราะยาหอมก็เรียกยาลมก็เรียกคือแล้วแต่จะเรียกกัน มันเหมือนกันนั้นแหละ ชาวบ้านมักว่ากันเช่นนั้น แต่ถ้าถามหมอไทยละ หมอไทยจะตอบว่ากระไร? เหมือนอย่างชาวบ้านว่าไหม หรือถ้าต่างๆ กันเช่นไรวานตอบ? ตอบกันได้ไหมละ!

ยาหอมนั้นต้องหอมสุขุม ยาลมนั้นต้องหอมออกร้อน สำแดงกลิ่นที่ผิดกันด้วยเครื่องยาและวิธีปรุงนั้นต่างกัน ยาหอมส่วนมากเข้าเครื่องยาสรรพฤทธิ์เย็นเข้าทางปิตตะ-วาตะ ส่วนยาลมเข้าเครื่องยาสรรพฤทธิ์ร้อนเข้าทางวาตะ-ปิตตะ เหตุเพราะกลไกการดำเนินของอาการนั้นต่างกันหากเหตุมาแต่ปิตตะกำเริบให้วาตะกำเริบส่งผลให้เกิดอาการลมตีขึ้นบนแล้วไซร้ต้องนำลมที่ตีขึ้นบนนั้นลงมา โดยไปทำให้ปิตตะหย่อนตัวลงในระดับที่เหมาะสมด้วยถ้ามากเกินวาตะจักไม่เคลื่อนตัวใช้ตำรับยาหอมรสประธานออกสุขุมคือต้องมีรสร้อนของเครื่องยาแทรกไว้เพื่อให้วาตะเคลื่อนตัวลงได้ แต่หากมีอาการทางวาตะกำเริบขึ้นด้วยเหตุที่ปิตตะหย่อนตัวลงเกิดอาการทางลมในไส้ขึ้นต้องวางยาลมรสประธานออกร้อนเพื่อให้เกิดการกระจายตัวของลมที่อัดอั้นนั้นด้วยการไปเพิ่มปิตตะให้มากขึ้น รสประธานของตำรับยาทั้งสองจึ่งต่างกันด้วยอาการและกลไกนั้นต่างกัน

ฉะนั้นแม้แต่อาการที่ดูเหมือนแก้ง่ายนั้นจริงแล้วไม่ง่ายต้องผ่านการสมุฏฐานวินิจฉัยของหมอไทยเพราะเหตุแห่งปิตตะนั้นต่างกันยาหอมเข้าปิตตะมาก ยาลมเข้าปิตตะหย่อน ด้วยปิตตะเป็นที่ตั้งในทั้งสองอาการ

ยาหอมแลยาลมเพียงบรรเทาอาการปลายแห่งปิตตะ แพทย์ต้องหาเหตุต่อไปว่าทำไมปิตตะจึ่งเกิดให้โทษขึ้นได้แล้วไปแก้ที่ปิตตะ ยาหอมแลยาลมนั้นแก้เพียงผลปลายของปิตตะเท่านั้นจึ่งใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านของคนทั่วไปได้แต่มิได้ช่วยรักษา อีกประการมวลของวาตะหรือที่เรียกว่า"วาโย"นั้นต่างกัน ยาหอมมีรสเย็นในรสสุขุมด้วยเหตุที่วาตะที่เป็นโทษนั้นมีกำเดาแทรกมากมวลของลมจึ่งละเอียด ส่วนยาลมมีรสร้อนด้วยเหตุที่วาตะมีกำเดาแทรกอยู่น้อยมวลของลมจะหยาบกว่า ยาหอมไปลดปิตตะลดวาตะ ยาลมไปเพิ่มปิตตะและวาตะ
อาการที่มีเหตุมาแต่วาตะนั้นเกิดแต่ปิตตะเสมอโดยมีเสมหะเป็นที่สุด

ดังนั้นหากมีอาการความดันโลหิตสูงจึ่งใช้ยาหอม หากความดันโลหิตต่ำแล้วไซร้ใช้ยาลม แต่อาการความดันโลหิตต้องไปแก้ที่ปิตตะดั่งที่แจ้งปิตตะเป็นต้น เสมหะเป็นที่สุดนั้นแล

หมอไทยพึ่งรู้พึ่งแจ้งแก่ประชาชนให้ใช้ยาหอมแลยาลมอย่างถูกต้อง เพราะยาลมนั้นหาง่ายมีทั่วไปในตลาดร้านค้า แต่ยาหอมนั้นหายากด้วยมีผู้ผลิตน้อยราย เครื่องยาหายากกว่าวิธีการปรุงยิ่งซับซ้อนกว่าจึ่งไม่ค่อยมีผู้ปรุงออกจำหน่ายมากนัก เป็นที่ลำบากหากต้องใช้ยาหอมมิใช่ยาลมที่มีวางขายกันกลาดเกลื่อนในท้องตลาด

มาถึงท้ายบทความขอสรุปให้สั้นขึ้นว่า "ยาหอมนั้นแก้อาการลมตีขึ้นบนให้โทษ จากปิตตะกำเริบ ยาลมนั้นแก้อาการลมในไส้ก่อโทษ จากปิตตะหย่อน" ยาหอม ยาลม ยาดม ยาหม่อง จึ่งมีสี่ขนานนั้นคือคำตอบเพราะยาหอมมิใช่ยาลม และยาลมมิใช่ยาหอม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook