ตำนานสีรุ้ง Queen of Drag สู่เสรีภาพ LGBTQIAN+
ตำนานสีรุ้ง Queen of Drag สู่เสรีภาพ LGBTQIAN+
ธงสีรุ้งโบกสะบัดท่ามกลางสีสันและรอยยิ้มของผู้คนในยุคที่คำว่า “เพศสภาพ” ลดการกำหนดบทบาทของสถานภาพฐานันดรของตัวบุคคลลงไปทุกขณะ แต่กว่าจะถึงวันนี้ที่ LGBTQIAN+ ยืนหยัดในสังคมไม่ต่างจากหญิงหรือชาย พวกเขาต้องผ่านเหตุการณ์ที่โลกต้องจดจำ
Stonewall Riots
เช้าตรู่ของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ตำรวจนิวยอร์กบุกเข้าไปในบาร์แห่งหนึ่งชื่อ “สโตนวอลล์อินน์” (Stonewall Inn) ในย่านกรีนวิชวิลเลจ บนถนนคริสโตเฟอร์ เขตแมนฮัตตัน อ้างว่าบาร์แห่งนี้ขายเหล้าเถื่อน
ขั้นตอนการจับกุมเป็นไปอย่างดิบเถื่อน ตำรวจสั่งให้คนในร้านที่แต่งกายเหมือนหญิงทุกคนเข้าไปในห้องน้ำ จับถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจดูอวัยวะเพศว่าเป็นหญิงแท้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ใส่กุญแจมือ
13 คนถูกกุมตัวขึ้นรถ มีทั้งลูกค้าและพนักงาน ทั้งหมดล้วนเป็นเกย์
ผู้ต้องหาที่เป็นเกย์คนหนึ่งถูกทุบหัวเพราะขัดขืนที่จะขึ้นรถ เขาร้องขอความช่วยเหลือ ผู้คนย่านนั้นพากันฮือเข้าทุบรถตำรวจ ตะโกนและขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจ มีทั้งอวัยวะเพศชายปลอม ขวด หิน นาทีจากนั้นถัดมาก็เกิดการปะทะจนลุกลามกลายเป็นเหตุการณ์จลาจล
Photographer: Joseph Ambrosini of the New York Daily News
สื่อพาดหัวเหตุการณ์นี้ว่า Stonewall Riots นี่คือวันจุดชนวนขบวนการเรียกร้องสิทธิทางเพศสภาพที่สำคัญที่สุดในสหรัฐอเมริกา หลังจากการออกมาชุมนุมต่อต้านเป็นระยะ ๆ ในช่วงทศวรรษ 60 อันเนื่องจากมหานครนิวยอร์กออกกฎหมายห้ามประชาชนแต่งตัวผิดเพศสภาพ ห้ามเปิดบาร์เกย์ และยังกระพือให้เกิดกระแสสังคมการรังเกียจคนหลากหลายทางเพศ (ว่าเป็นพวกคนบาป) การเป็นเกย์ถูกสังคมบูลลีไม่แพ้การเหยียดผิวในช่วงก่อนหน้านี้
"Say it loud, gay is proud"
เพื่อเป็นการรำลึกเหตุจลาจลสโตนวอลล์ ในปีถัดมา มีการจัดตั้งคณะกรรมการวันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์ โดยถือเอาเสาร์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน เป็นวันจัดงาน “วันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์” (Christopher Street Liberation Day) มีการเดินรณรงค์เพื่อรำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิ เป็นการสำแดงพลังในพื้นที่สาธารณะครั้งแรก (ปี 1970) เหล่าคนข้ามเพศพากันตะโกนก้องว่า “Say it loud, gay is proud.”
By Rhododendrites - Own work, CC BY-SA 4.0,
การเดินรณรงค์ตามท้องถนนเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นวันสำคัญสากลที่ขยายผลไปถึงยุโรป ในปี 1978 สวิตเซอร์แลนด์เริ่มเดินรณรงค์เรียกร้องสิทธิ์ ตั้งต้นในเมืองซูริก ปี 1979 เยอรมนีจัดงานเพื่อชาวเกย์ในเมืองเบอร์ลินและเมืองเบรเมน
มิถุนายน-เดือนคนคู่ จึงกลายเป็นช่วงเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและรณรงค์ถึงสิทธิของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศเรื่อยมา และเรียกว่าเป็น Pride Month
ธงสีรุ้ง-สัญลักษณ์เพื่อการรวมใจ
ในการเดินรณรงค์วัน Gay Freedom Day ในปี 1978 ศิลปินชาวอเมริกัน กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ออกแบบธงสัญลักษณ์ เรียกว่า “ธงสีรุ้ง” (Rainbow Flag) เพื่อเป็นการรวมใจชาวเกย์ สีแดง หมายถึง ชีวิต, สีส้ม-การเยียวยาทางจิตใจ, สีเหลือง-แสงอาทิตย์, สีเขียว-ธรรมชาติ, สีน้ำเงิน-ความกลมกลืน และสีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณ
ก่อนธงสีรุ้งมี 6 สี เคยเป็นธง 8 สีมาก่อน กิลเบิร์ต เบเกอร์ ให้เหตุผลว่าการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความหมายของธง แต่เกิดขึ้นจากความจำเป็นด้านวัสดุผ้าและการจัดการ ตลาดขาดแคลนผ้าสีชมพูอย่างมาก
แท้จริงแล้วนั่นเกิดจากเหตุการณ์ที่ตอกย้ำให้ธงสีรุ้งทรงอิทธิพลมากขึ้น
ในปีเดียวกับธงสีรุ้งกำเนิด ฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) นักต่อสู้เพื่อสิทธิชาวรักร่วมเพศ เขาคือชายรักร่วมเพศคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองซานฟรานซิสโก เขาบุกเบิกก่อตั้ง "ย่านคาสโทร" (Castro District) ย่านชุมชนเกย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เป็นของ LGBTQ+ ก่อตั้งองค์กรต่างๆ ที่ช่วยเหลือ LGBTQ+ และต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเขา
แต่รับตำแหน่งได้เพียง 8 เดือน ฮาร์วีย์ มิลค์ ถูกนายตำร;จลอบสังหาร สร้างความโศกเศร้าและความโกรธแค้นให้กับชุมชน LGBTQ+ ทั่วโลก ธง 7 แถบสี เป็นที่ต้องการเท่าทวี เป็นที่มาของปัญหาด้านวัตถุดิบ
ปี 1979 สถานการณ์บังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนธงอีกครั้ง เมื่อแขวนธงตั้งตรงกับเสาไฟบนถนนมาร์เก็ตสตรีทของซานฟรานซิสโก แถบสีตรงกลางจะถูกเสาบดบัง แถบสีเทอควอยส์จึงถูกตัดออก ส่งผลให้กลายเป็นธงสีรุ้ง 6 สี ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน gilbertbaker
LGBT เปิดกรอบ LGBTQIAN+
ในช่วงทศวรรษ 1990 มีการกำหนดอักษรย่อเพื่อเรียกคนข้ามเพศ ที่เดิมเรียกแต่เกย์กับเลสเบียนว่า LGBT เพื่อให้กว้างขวางขึ้น โดยดึงจากคำว่า เลสเบียน (Lesbian), เกย์ (Gay), ไบเซ็กชวล (Bisexual) และ ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) ต่อมาเพิ่ม Q ต่อท้าย มาจาก Queer หรือ Questioning หมายถึง ยังไม่ชัดเจนว่าจะข้ามเพศไหน และเพิ่มเครื่องหมาย+ เป็น “LGBTQ+” หมายถึงอื่น ๆ ที่มากกว่านี้
กระทั่งปัจจุบันใช้คำว่า LGBTQIAN+ เพิ่ม อินเตอร์เซ็กซ์ (Intersex) หมายถึง ผู้ที่มีภาวะเพศกำกวม ระบุเพศไม่ได้ มีลักษณะทางกายภาพแตกต่าง อะเซ็กซวล (Asexual) หมายถึง Asexual ผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ แต่มีรักโรแมนติกและเพศสัมพันธ์ได้ และ นอน-ไบนารี่ (Non-Binary) หมายถึง ผู้ที่ไม่ต้องการระบุเพศของตัวเอง ไม่จำกัดอยู่ที่เพศชายหรือหญิง
ชัยชนะแห่งความเท่าเทียม
26 มิถุนายน 2015 (พ.ศ. 2558) ประธานาธิบดีบารัค โอบามา (Barack Hussein Obama) แถลงว่า ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำตัดสินเห็นชอบให้คู่รักที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานกันได้ทั่วทั้ง 50 รัฐในสหรัฐฯ
ปีถัดมา ประธานาธิบดีโอบามา อีกเช่นกัน อนุมัติการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่เหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศดังกล่าวตรงบริเวณถนนคริสโตเฟอร์
แต่เหตุการณ์ที่นับเป็นชัยชนะที่สุดที่สุดของชาว LGBT+ หลังจากต่อสู้เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันมานานกว่าครึ่งศตวรรษ คือ การที่อธิบดีกรมตำรวจของมหานครนิวยอร์ก ออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ ในนามของกรมตำรวจนิวยอร์ก สำหรับการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นตัวจุดชนวนเหตุจลาจลสโตนวอลล์เมื่อปี 1969
ไม่มีสิ่งใดงดงามสำหรับมนุษย์ ยิ่งไปกว่าการขอโทษและให้อภัย
ดอร์ซีย์ สวอนน์ : Queen of Drag
Stonewall Riots ไม่ใช่ตำนานการต่อสู้ครั้งแรกชองชาว LGBT+
วิลเลียม ดอร์ซีย์ สวอนน์ (William Dorsey Swann) คือผู้ปักธงนี้คนแรก ตั้งแต่ยุคที่เกย์ยังไม่เป็นคำที่อุบัติขึ้น
สวอนน์เกิดในครอบครัวทาสในรัฐแมรีแลนด์ หลังสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาจบลงพร้อมการเลิกทาส สวอนน์เริ่มสัมพันธ์สวาทกับอดีตทาสชายหลายคน หลังจากค้นพบว่าตัวเองเป็นชายรักชาย และชอบแต่งหญิง
การเปิดเผยตัวแบบลับๆ ในกลุ่มอดีตทาสเริ่มตอนที่นางจัดปาร์ตี้ที่รู้กันในหมู่ เพื่อรับอดีตทาสที่มีรสนิยมทางเพศคล้ายกันให้มาร่วมสนุกสนาน นางเรียกตนเองว่า “Queen of Drag”
คำว่า Drag มาจาก “Dressed Resembling A Girl” เป็นคำเรียกชายที่แต่งกายเลียนแบบหญิง
สวอนน์ถูกตำรวจจับกุมและคุมขังหลายครั้งตั้งแต่ปี 1888-1896 นานสุด 10 เดือน ทางการยัดข้อหาก่อความไม่สงบ และซ่องสุมหรือตั้งซ่อง คงไม่ต้องนึกภาพว่าระหว่างอยู่ในที่คุมขัง สวอนน์จะลำเค็ญทั้งกายและจิตใจเพียงใด สำหรับยุคแห่งการเหยียดผิว และเหยียดคนข้ามเพศ
สวอนน์เคยทำเรื่องเรียกร้องสิทธิเกย์ถึง ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Stephen Grover Cleveland) และก็ถูกปฏิเสธตามคาด ถึงอย่างนั้น สวอนน์ก็ได้ชื่อว่าเป็น “อเมริกัน” รายแรกที่ต่อสู้เรื่องสิทธิการเป็น LGBTQ
หลังยุคของสวอนน์ กลุ่มอดีตทาสที่มีรสนิยมรักร่วมเพศก็ยังสืบสานปาร์ตี้ Drag ต่อไป ไม่ใช่แค่เพื่อความบันเทิง แต่เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตน
เรื่องราวของสวอนน์ได้รับการถ่ายทอดในสื่อหลายแขนงโดยใช้ภาพชายผิวสีในชุดเดรสหญิงสื่อถึงตัวตน จนคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าภาพดังกล่าวคือ สวอนน์ Queen of Drag แต่แท้จริงแล้ว คือนักแสดงในการเต้นรำ Cake-Walk ในปารีสเมื่อปี 1902
เมื่อสืบค้นถึงที่มาของภาพถ่ายดังกล่าว แม้ไม่พบภาพของสวอนน์ แต่เห็นชัดว่ามีการบันทึกภาพชายแต่งหญิงอยู่ไม่น้อยทั้งในบทบาทนักแสดงละครและชีวิตจริง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ยุคที่เทคโนโลยีการภาพถ่ายพัฒนาอย่างมาก
ราวกับแสงสว่างเริ่มสาดส่อง จากเงาที่ผู้คนเหยียบย่ำ ปรากฏให้เห็นตัวตนไร้ข้อจำกัดให้โลกได้เห็นวิญญาณเสรีที่แท้จริง
ข้อมูลประกอบการเขียน
- https://www.awarenessdays.com/awareness.../pride-month-2021/
- https://www.history.com/.../gay-rights/the-stonewall-riots
- https://en.wikipedia.org/wiki/William_Dorsey_Swann
- https://qspirit.net/william-dorsey-swann-queer/
- https://wellcomecollection.org/
- https://gilbertbaker.com/