คู่มือฝึกนิสัยเจ้าตัวน้อย
โดย ศ.จ.เกียรติคุณพ.ญ.ชนิกา ตู้จินดา
การฝึกอบรมลูกที่หมอกล่าวมาในเด็กต่ำกว่า 1 ปี ส่วนมากเน้นหนักในเรื่องทางกาย การพัฒนาความเจริญเติบโตของเด็ก และการฝึกหัดให้เป็นเด็กดีขึ้น เปรียบง่ายๆเหมือนคุณมีลูกที่น่ารัก แข็งแรงไม่ว่าการพลิกคว่ำ เกาะยืน เดิน พูด...ลูกคุณทำได้รวดเร็วดีกว่าหรือดีเท่าๆเด็กคนอื่น เช่น คว่ำได้ตั้งแต่อายุ 3 เดือน นั่งได้อายุ 7 เดือน เกาะยืนเมื่ออายุ 9 เดือน เดินได้ 1 ขวบ ... แสดงว่าลูกคุณมีอวัยวะสมบูรณ์ทุกระบบ
จะเปรียบเสมือนรถยนต์ก็เป็นรถใหม่เอี่ยมอ่องที่เพิ่งจะออกจากอู่ อะไรๆก็ดีหมด แต่เบรคไม่ดีย่อมเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ ทำอย่างไรจะให้ดีทั้งตัวรถและเบรค นั่นคือ การฝึกหัดนิสัยลูกในทางที่ถูกที่ควรเปรียบเสมือนการใส่เบรคที่ดี ลูกจะได้รู้ว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควรทำ อะไรที่ไหน เมื่อไร จึงจะถูกต้อง...
คุณจะถามว่า " ทำไมจะมาเคี่ยวเข็ญกันตั้งแต่ตัวเท่าหัวกำปั้นล่ะค่ะ " ..คุณอย่าลืมว่า " ไม้อ่อนดัดง่าย " เราไม่ได้ดัดเอาเป็นเอาตาย แต่ค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยๆมากกว่า ด้วยวิธีใจเย็นๆและใช้สามัญสำนึก ดังนั้น ถ้ามีโอกาสก็กรุณาแทรกบทการอบรมไปในการเลี้ยงดูลูกดังต่อไปนี้
การฝึกหัดนิสัยในระยะ 6 เดือนแรก
ลูกงอแงไม่เข้าเรื่อง เมื่อลูกอายุได้ 6 - 8 อาทิตย์ ลูกที่แจ่มใสน่ารักอาจจะเริ่มร้องไห้โยเยทุกครั้งที่คุณอุ้มแกลงนอน แกล้งร้องนั่นแหละ...คุณก็รู้อยู่แล้วว่าแกล้งร้อง เพราะร้องไห้ไม่มีน้ำตา คอยดูสิ...แม่อุ้มขึ้นก็หยุดร้องเหมือนสวิทซ์ไฟ แถมบางทีก็ยิ้มได้เลย... " ลูกขี้โกง " คุณนึกหมั่นไส้แต่ก็สงสาร ก็ทำอยู่อย่างนี้จนคุณไม่เป็นอันทำงานทำการ ผู้เฒ่าเรียกว่า " อุ้มกันจนติดมือ "
ถ้าคุณจะให้มั่นใจก็ตรวจเช็คดูว่าลูกโกงจริงมั๊ย โดยตรวจดูผ้าอ้อมว่าเปียกแฉะไหม เข็มกลัดเปิดอ้าหรือเปล่า มีมดไต่ตอมหรือไม่ ถ้าตรวจเสร็จสรรพ ทุกอย่างปกติแล้วก็วางลูกได้ ถ้ายังร้องอีกก็ตรวจดูอีกที ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็วางลงใหม่อีก นี่เป็นโอกาสแรกที่คุณจะเริ่มฝึกสอนลูก ว่าแม่ไม่ตามใจลูกไม่เข้าเรื่องนะ
คุณยังมีโอกาสได้สอนลูกอีกหลายตอนคุณรู้ไหมว่าลูกอายุเพียง 8 อาทิตย์แกก็เริ่มเรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของคุณ อย่านึกว่า ลูกนอนนิ่งเหมือนตุ๊กตาแกมีชีวิตจิตใจ ไม่ใช่ตุ๊กตา แกมีหัวใจและชีวิตเหมือนผู้ใหญ่ถ้าคุณแสดงจุดอ่อนให้แกเห็นบ่อยๆคุณจะลำบากภายหลัง
ถ้าคุณปฏิบัติตัวสม่ำเสมออย่างนี้ในการดูแลลูก..การอาบน้ำแต่งตัว..การหลับนอน..การขับถ่าย..การให้นม..คุณจะพบว่าลูกคุณเลี้ยงง้าย..ง่าย แต่ถ้าปล่อยตามเรื่องตามราว คุณจะพบกับปัญหาเช่น " หมอคะ ยาที่หมอจ่ายลูกไม่เคยกินเลยค่ะ ก็..แกไม่ยอมกินนี่คะ..ยาหยอดจมูกก็ไม่ได้หยอด ก็..แกไม่ยอมให้หยอดนี่คะ..หมอคะ..ฯลฯ "
ถ้าคุณทำด้วยความรักลูกและมีกฎเกณฑ์ไม่ตามใจลูกเมื่อลูกงอแงไม่เข้าเรื่องลูกก็จะไม่มีปัญหาดังกล่าวแน่
การฝึกอบรมนิสัยในวัย 6 - 9 เดือน
ก็วัยนี้แหละที่ติดคุณแม่จังเลย คุณแทบจะกระดิกตัวไม่ได้เชียวแหละพอเอาลูกวางลงในเพลเพน กะจะหมุนตัวไปตั้งหม้อข้าวสักหน่อย ลูกก็ร้องกรี๊ดกร๊าดขึ้นมาเสียแล้ว งอแงไม่เข้าเรื่อง นมก็ให้แล้วน้ำก็อาบแล้ว เล่นก็เล่น ทั้งอึทั้งฉี่เสร็จสรรพ ยังมาร้องงอแงอ้อนแม่อีกแน่ะ
ถ้าคุณหัดให้ลูกอยู่ในกฎเกณฑ์มีระเบียบมาตลอดตั้งแต่ก่อน 6 เดือน คุณจะฝึกหัดให้แกมีระเบียบ ให้รู้ว่าอะไร ที่ไหน เมื่อใด คือ แม่เล่นกับลูกมานานพอแล้ว ลูกถึงเวลาต้องนั่งพักเล่นเอง แม่ไม่มีเวลาเล่นกับลูกอีก..ถ้าคุณเคยทำให้แกเห็นตัวอย่างมาก่อนเที่ยวนี้ คุณก็จะทำสำเร็จโดยง่าย แต่ถ้าคุณไม่เคยทำสำเร็จจนครั้งเดียวครั้งนี้ก็ล้มเหลวแล้วคุณก็จะอารมณ์เสีย
สรุปว่า การฝึกหัดลูกให้มีระเบียบในวัย 9 เดือนแรกมีดังนี้
ไม่ตามใจลูก ถ้าแน่ใจว่าลูกโยเยไม่เข้าเรื่อง
อุ้มลูกลงนอนเล่นด้วยความรัก ( ใส่ในเพลเพน ) ในขณะที่คุณมีงานอื่นที่จำเป็นต้องทำ
อธิบายด้วยคำพูดง่ายๆน้ำเสียงอ่อนโยนในความจำเป็นที่คุณต้องทำ
จงทำในสิ่งที่กล่าวมาอย่างสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่ " ลมดีลมร้าย " หรือ " ผีเข้าผีออก " คือ บทจะลมดีก็ใจดี โอ๋...เอาใจทุกอย่าง บทจะลมเสียแม่ฟาดเสียก่อนพูดทีหลัง ...
การฝึกอบรมนิสัยในวัย 9 เดือนขึ้นไป
ลูกอยู่ในวัยของคลาน คืบ ถัด เกาะยืน เดิน..วิ่ง แกจะซุกซนทั้งวันคุณจะเหน็ดเหนื่อยเหมือน " จับปูใส่กระด้ง " คุณไม่รู้หรอกว่า แกจะทำอะไรได้รวดเร็วเช่นนั้น อุบัติเหตุเกิดขึ้นง่ายมาก และมีอันตรายด้วย วัยนี้คุณมักจะใช้คำว่า " อย่า " " ไม่ได้ " " อย่าแตะต้องนะ " คุณใช้มันตลอดเวลา อาจตามด้วยคำขู่จะเฆี่ยนตี หรือ " ให้หมอฉีดยานะ " อะไรที่คิดว่าเด็กจะกลัวก็นำมาใช้หมด
คำปฏิเสธ คำห้ามเหล่านี้ต้องใช้ให้รัดกุม ไม่พร่ำเพรื่อ ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ถ้าคุณใช้พร่ำเพรื่ออย่างไม่มีความหมายก็จะไม่ศักดิ์สิทธิ์ เด็กจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าคุณใช้อย่างมีความหมาย พร้อมทั้งอธิบาย...เด็กจะเข้าใจได้
ตัวอย่างเช่น ลูกวัยกำลังคลาน ตรงไปที่ตู้หนังสือ " เอ็นไซโคลพีเดีย " ของคุณพ่อด๊อกเตอร์ พยายามดึงลงมาเล่น คุณพ่อก็ห้ามว่า " อย่าลูก " ลูกไม่ฟัง พ่อตรงเข้ามาบอกว่า " พ่อบอกว่าลูกอย่ามาเล่นหนังสือของพ่อ " ลูกไม่ฟังอีก คุณก็อุ้มลงตรงไปอีกมุมห้องที่แกมีของเล่นมากมาย คุณเองเก็บหนังสืออันมีค่านั้นเสีย ถ้าลูกยังไม่ฟังคลานกลับมาเล่นจะเป็น " ด๊อกเตอร์แว่น " อีก คุณก็อุ้มแกลงในเพลเพน แกจะทราบว่า " อะไร ที่ไหน เมื่อไร " คือ " หนูเล่นหนังสือของพ่อไม่ได้ หนูจะมาฉีกหนังสือไม่ได้ด้วยเพราะไม่งั้นหนูจะถูกจำกัดที่เล่น " แต่คุณไม่ต้องทำอารมณ์เสียถึงกับฟาดลูก เรายังมีเวลาที่จะอบรมเขาได้อีกหลายครั้งหลายหน...อย่าเพิ่งใจร้อนไปล่ะ
การฝึกสอนนี้ พ่อแม่ต้องร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เช่น คุณแม่อยู่บ้านอบรมบ่มนิสัยจนลูกเลิกโยเยงอแงโดยหาสาเหตุไม่ได้ เลิกเป็นเด็กโกง แต่พอคุณพ่อมาถึงบ้าน ลูกรักโยเยนิดเดียวก็ใจอ่อน ตรงเข้าโอ๋เอาอกเอาใจเป็นการใหญ่ คุณแม่นั่นแหละจะลำบากอีก ดังนั้น พ่อ-แม่จึงควรร่วมมือในการฝึกอบรมลูกพูดจากันให้เข้าใจ ( ลับหลังลูกนะ ไม่ใช่มาเถียงกันต่อหน้าลูก ) ตกลงปลงใจกันอย่างใดก็นำมาปฏิบัติให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน
สรุปว่า การฝึกอบรมลูกนั้นยากที่สุด อาจจะยากกว่าการเลี้ยงดูทางกายกินอยู่หลับนอนในวัยแบเบาะด้วยซ้ำ " เด็กที่เชื่อฟังพ่อแม่ จะเป็นเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุน้อยกว่าเด็กที่ดื้อรั้น " ก็เหมือนรถยนต์ที่มี เบรคดีย่อมเกิดอุบัติเหตุน้อย เด็กเหล่านี้เวลาเข้าเพื่อนเข้าฝูงจะมีคนรักคนนิยมกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการอบรมที่ดี แม้แต่ครูที่โรงเรียนและเพื่อนๆก็จะรัก และนิยมเด็กที่เชื่อฟังพ่อแม่มาก่อน เพราะเป็นเด็กยอมรับฟังผู้อื่น มีเหตุมีผล ไม่เอาแต่ใจตนเองเป็นใหญ่
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลสมิติเวช